หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > การดูแลแผลในผู้ป่วยเบาหวาน
การดูแลแผลในผู้ป่วยเบาหวาน
การดูแลแผลในผู้ป่วยเบาหวาน
17 Feb, 2021 / By salacrm01
Images/Blog/zSNhkbU0-kidney.png

การดูแลแผลในผู้ป่วยเบาหวาน

       โรคเบาหวานเป็นโรคที่พบได้มากในผู้สูงอายุ โดยมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มมากขึ้นทุกปีและเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าโรคเบาหวานสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อวัยวะต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะการเกิดแผลบริเวณเท้า โดยแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวานมักจะหายช้ากว่าแผลของคนทั่ว ๆ ไป  ซึ่งสาเหตุของการที่แผลหายช้าเกิดจาก 3 สาเหตุหลัก ได้แก่

     1. เส้นประสาทรับความรู้สึกเสื่อม ทำให้ผู้ป่วยรับความรู้สึกเจ็บบริเวณเท้าได้ลดลง  ผู้ป่วยจึงไม่ได้ดูแลแผลที่เท้าอย่างเหมาะสม กว่าจะรู้อีกทีอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนแล้ว

     2. การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ อาจเกิดภาวะอุดตันของหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนนำสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงบริเวณแผลได้ไม่ดี ส่งผลให้แผลหายช้าเนื่องจากกระบวนสมานแผลเกิดขึ้นได้ไม่ดี

     3. การติดเชื้อแทรกซ้อน โดยส่วนใหญ่แผลในผู้ป่วยเบาหวานมักเกิดการติดเชื้อร่วมด้วย  โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดการอักเสบมากกว่าปกติ  ส่งผลให้แผลหายช้า

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดแผลผู้ป่วยเบาหวาน

     1. เพศชายเสี่ยงต่อการเกิดแผลที่เท้ามากกว่าเพศหญิง

     2. สูบบุหรี่

     3. มีประวัติการตัดนิ้วหรือขา

     4. มีภาวะเท้าผิดรูป  หรือ  หนังบริเวณเท้ามีลักษณะด้านแข็ง

     5. มีประวัติเป็นแผลที่เท้ามาก่อนหรือมีประวัติมีแผลที่เท้าในช่วง 2-5 ปีที่ผ่านมา

     6. มีภาวะจอประสาทตาผิดปกติ  หรือมีภาวะไตวายเรื้อรัง

การดูแลแผลในผู้ป่วยเบาหวานด้วยตัวเอง

     1. ลดแรงกดที่แผล โดยทั่วไปในผู้ป่วยเบาหวานมักมีกระดูกข้อเท้าที่ผิดรูป เนื่องจากมีภาวะปลายประสาทเสื่อม ทำให้กระดูกข้อเท้าที่ผิดรูป ไปกดทับเนื้อเยื่อบริเวณแผลทำให้แผลอักเสบและหายช้า  ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานจึงควรเลี่ยงการลงน้ำหนักที่เท้าหรืออาจเดินให้น้อยลงหรืออาจใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง  เช่น  ไม้เท้าช่วยประครองและช่วยลดการลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้า ในช่วงระยะเวลาที่เป็นแผล

     2. การลดความเสี่ยงการเกิดหลอดเลือดอุดตัน   โดยทั่วไปผู้ป่วยเบาหวานมีภาวะการไหลเวียนของเลือดไปบริเวณที่เป็นแผลค่อนข้างน้อย ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการอุดตันของหลอดเลือด คือ เช่น การสูบบุหรี่ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในค่าปกติ เป็นต้น

     3.การล้างแผล  น้ำยาล้างแผลที่เหมาะสมในผู้ป่วยเบาหวานคือน้ำเกลือ เนื่องจากมีค่าความเข้มข้นของสารน้ำเท่ากับร่างกาย ดังนั้นการทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือจึงลดการระคายเคืองบริเวณแผลได้เป็นอย่างดี

การป้องกันแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน

     1. ควบคุมระดับน้ำตาในเลือดให้อยู่ในช่วงปกติ  เนื่องจากหากควบคุมน้ำตาลไม่ได้ จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน โดยค่าปกติของน้ำตาลในเลือดควรอยู่ในช่วง 80-130 mg/dL

     2. ใช้น้ำสะอาดล้างเท้าทำความสะอาดทุกวันและเช็ดเท้าให้แห้งสนิท  หากเช็ดไม่แห้งจะทำให้บริเวณซอกเท้าอับชื้น เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดแผลในคนไข้เบาหวาน โดยในการเช็ดทำความสะอาดห้ามใช้แอลกอฮอล์เช็ด  เพราะจะทำให้ผิวแห้งและเกิดการระคายเคืองได้ง่าย

     3. สำรวจเท้าทุกวันว่ามีแผลหรือรอยถลอกหรือไม่  โดยเฉพาะหากมีการเปลี่ยนรองเท้าคู่ใหม่ควรตรวจเท้าทุก 2-3 ชั่วโมง หากไม่สามารถมองเห็นได้ชัดสามารถให้ญาติหรือคนใกล้ชิดช่วยสำรวจการเกิดแผลบริเวณเท้าได้

     4. ควรทาสารให้ความชุ่มชื้นที่ผิวหนังบริเวณเท้า เป็นประจำแต่ควรหลีกเลี่ยงการทาบริเวณซอกเท้า เนื่องจากจะทำให้เกิดความอับชื้น เพิ่มความเสี่ยงในการติดชื้อรา

     5. ควรตัดเล็บทุกสัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเล็บขบ เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดแผลติดเชื้อในผู้ป่วยเบาหวาน

     6.หากมีผิวหนังที่บริเวณเท้าด้าน ควรปรึกษาแพทย์หรือใช้หินขัดเท้าไปในทิศเดียวกันอย่างนุ่มนวล เพื่อไม่ให้ผิวแตกเป็นแผลและไม่ควรซื้อยากดลอกตาปลามาใช้

 

เรียบเรียงโดย

ภญ.ศิริกาญจน์  สระแก้ว

 

เอกสารอ้างอิง

1. ผศ.พญ.สุภาพร โอภาสานนท์. แผลเบาหวาน (Diabetic Foot) และการดูแลเท้า[อินเทอร์เน็ต]. 2554 [เข้าถึงเมื่อ1 พ.ย. 2563]. เข้าถึงได้จาก : https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=915

2. ยุคลธร สุภิมารส. การดูแลแผลเบาหวานที่เท้า. วารสารสภาการพยาบาล 2549 : 11-3.

3. แผลเบาหวานที่เท้า ดูแลอย่างไรให้หายเร็ว และไม่ติดเชื้อ? (Diabetic Foot)[อินเทอร์เน็ต]. 25563 [เข้าถึงเมื่อ 1 พ.ย. 2563]. เข้าถึงได้จาก : http://www1.siphhospital.com/th/news/article/share/408

4. วอัจฉรา สุวรรณนาคินทร. คู่มือการดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 2557 : 2-11.

5. Diabetic Wound Care[internet]. 2020[cited 2020 NOV 01]. available from: https://www.apma.org/diabeticwoundcare#:~:text=What%20is%20a%20Diabetic%20Foot,or%20other%20ulcer%2Drelated%20complication.

6. International Diabetes Federation, IDF Diabetes Atlas, 8th edn. Brussels, Belgium: International Diabetes Federation, 2017, www.diabetesatlas.org.

7. Tan T,  Shaw EJ,  Siddiqui F,  Kandaswamy P,  Barry PW,  Baker M. Inpatient management of diabetic foot problems: summary of NICE guidance, BMJ, 2011, vol. 342 pg. d128

 

เพิ่มเพื่อน

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.