ขนคุด ปัญหาสุดกวนใจ
28 Jan, 2023 / By
salacrm01
ขนคุด ปัญหาสุดกวนใจ
ขนคุด (Keratosis pilaris) เป็นอาการที่เกิดจากความผิดปกติบริเวณผิวหนังที่พบได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่น มีสาเหตุมาจากกระบวนการสร้างเซลล์ผิวหนังชั้นเคราตินรอบ ๆ รูขุมขนผิดปกติ (Follicular keratinization characterized) ทำให้ผิวหนังมีลักษณะเป็นตุ่มแข็ง แดง และอาจมีอาการคันร่วมด้วยในบางราย พบได้บ่อยบริเวณต้นแขน ต้นขา และแก้ม
ขนคุด เกิดจากอะไร
สาเหตุของอาการขนคุดในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลชัดเจน แต่คาดว่าจะมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรมของกระบวนการสร้างเซลล์ผิวหนังชั้นเคราติน (Keratinization) ทำให้มีการสร้างเซลล์ผิวหนังบริเวณรอบ ๆ รูขุมขนมากกว่าปกติจึงทำให้ขนไม่สามารถงอกมาจากรูขุมขนได้เกิดเป็นขนคุดใต้ผิวหนัง และทำให้เกิดเป็นลักษณะของตุ่มนูนแข็งเล็ก ๆ ตามผิวหนัง
อาการของขนคุด
มีลักษณะเป็นตุ่มนูนแข็งเล็ก ๆ กระจายตามรูขุมขนตามผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณต้นแขน ต้นขา และแก้ม เมื่อสัมผัสจะให้ความรู้สึกขรุขระตามผิวหนัง ในบางรายอาจมีการอักเสบเป็นตุ่มแดง คัน ร่วมด้วย
การรักษาโดยการใช้ยา
1.ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้น (Emollients) เป็นตัวเลือกแรกในการรักษาปัญหาขนคุด เนื่องจากสารเพิ่มความชุ่มชื้นจะช่วยให้ผิวเรียบเนียนขึ้นลดการทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์
- 10% Urea cream
- We soothing care Gentle formula
- Medmaker Vitamin E cream
2.ยาลอกขุย (Keratolytic agents) เป็นตัวเลือกแรกในการรักษาปัญหาขนคุด เนื่องจากยาจะออกฤทธิ์ทำให้เคราติน (Keratin) ในหนังกำพร้าหลุดลอกออกมา จึงช่วยลดการอุดตันของเซลล์ผิวหนังรอบๆรูขุมขน และลดการเกิดปัญหาขนคุดได้
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์
- 20% Urea cream : DiabeDerm 20%
- Salicylic acid
- Lactic acid
3.ยาทากลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอ (Topical retinoids) สามารถใช้ลดปัญหาของขนคุดได้ เนื่องจากวิตามินเอ (Retinoids) จะช่วยปรับโครงสร้างของเซลล์ผิวหนังชั้นเคราติน (Keratinization) ที่อยู่รอบ ๆ รูขุมขน จึงช่วยลดการอุดตันของเคราตินในรูขุมขนได้ แนะนำให้ใช้เป็นทางเลือกถัดมาจากการใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวและยาลอกขุย โดยเฉพาะในรายที่ไม่สามารถรักษาด้วยสารดังกล่าวทั้งสองข้างต้นได้ โดยจะแนะนำให้ใช้ทาบริเวณผิวหนังวันละ 1 ครั้ง เป็นระยะเวลา 8-12 สัปดาห์ แต่ผลิตภัณฑ์กลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเออาจมีผลข้างเคียงเรื่องอาการแสบระคายเคืองผิว หรือทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดดได้ อีกทั้งยังมีข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจทำให้ทารกในครรภ์มีความผิดปกติ ดังนั้นการใช้ยากลุ่มดังกล่าวจึงควรอยู่ภายใต้คำแนะนำและการดูแลของแพทย์และเภสัชกร
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์
- Adapalene (Differin)
- Tretinoin 0.025 % (A-tinic)
- Tretinoin 0.05 % (TinTin)
4.ยาทาสเตียรอยด์ ( Topical corticosteroid ) แนะนำให้ใช้ยาทาสเตียรอยด์ในกลุ่มที่มีความแรงต่ำถึงปานกลาง ( Low to medium potency topical steroids ) เพื่อใช้รักษาในรายที่มีการอักเสบของผิวหนังร่วมด้วย เช่น มีอาการแดง คันบริเวณผิวหนัง โดยแนะนำให้ใช้ทาบาง ๆ บริเวณที่เป็น วันละ 1-2 ครั้ง เป็นระยะเวลาสั้น ๆ 1-2 สัปดาห์
5.การรักษาอื่น ๆ ได้แก่ ยารับประทานกลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอ (Systemic retinoids) ซึ่งยากลุ่มนี้จำเป็นต้องมีการสั่งใช้ยาและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทาง, การทำเลเซอร์ (Laser therapy)
การรักษาโดยไม่ใช้ยา
1.หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น เพื่อลดการอักเสบของผิวหนัง เนื่องจากน้ำอุ่นจะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น
2.ใช้โลชั่นทาผิวหลังจากอาบน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น โดยแนะนำให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำหอม
3.แนะนำให้ใช้ครีมอาบน้ำหรือสบู่ที่มีความอ่อนโยนต่อผิวหนัง และปราศจากน้ำหอม
4.หลีกเลี่ยงการขัดผิว เนื่องจากจะทำให้ผิวแห้งและอักเสบมากขึ้น
5.ไม่ควรเกาบริเวณที่เป็นขนคุด เนื่องจากจะทำให้ผิวหนังอักเสบและอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนได้
เรียบเรียงโดย
ภญ.อาทิตยา หิมพล
อ้างอิง
1.Megan N Landis. UpToDate. [online] Keratosis pilaris. 2022 [Cited 13 November 2022]. Available from: https://www.uptodate.com/contents/keratosis-pilaris?search=Keratosis%20Pilaris&source=search_result&selectedTitle=1~105&usage_type=default&display_rank=1
2.นภดล นพคุณ. การรักษาโรคขนคุด. 2564 [Cited 13 November 2022]. Available from : https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%94/
3.Pennycook KB, McCready TA. Keratosis Pilaris. [Updated 2022 Jun 27]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2022 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK546708/''