หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > น้ำกัดเท้า...โรคยอดฮิตช่วงฤดูฝน
น้ำกัดเท้า...โรคยอดฮิตช่วงฤดูฝน
น้ำกัดเท้า...โรคยอดฮิตช่วงฤดูฝน
07 Sep, 2022 / By salacrm01
Images/Blog/8RSxp8rs-น้ำกัด.jpg

น้ำกัดเท้า...โรคยอดฮิตช่วงฤดูฝน

          อย่างที่ทราบกันดีช่วงกลางปีเป็นช่วงที่เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้บางพื้นที่มีฝนตกเป็นประจำ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังได้โดยเฉพาะบริเวณทางเท้าซึ่งเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ทำให้หลายท่านต้องเดินลุยน้ำหรือย่ำน้ำบ่อยขึ้น จนนำไปสู่โรคทางผิวหนังที่เรียกกันว่า “น้ำกัดเท้า”

          โรคน้ำกัดเท้าคืออะไร ?

          น้ำกัดเท้า (Athlete's Foot) หรือหลายท่านรู้จักในชื่อ ฮ่องกงฟุต เป็นอาการระคายเคืองของผิวหนัง บริเวณที่เท้า โดยมีหลายสาเหตุเกิดจากการแช่เท้าอยู่ในน้ำที่สกปรกซึ่งเป็นแหล่งสะสมเชื้อก่อโรค เป็นระยะเวลานาน หรือกิจกรรมที่ทำให้ผิวหนังที่เท้ามีความชื้นอยู่เป็นเวลานาน จนเกิดเป็นการระคายเคืองและการอักเสบบริเวณผิวหนัง หากปล่อยไว้นานอาจเกิดอาการเปื่อย ฉีกขาดของผิวหนัง เกิดเป็นภาวะแทรกซ้อน อย่างเช่นการติดเชื้อราหรือการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังตามมาได้

          สาเหตุและเชื้อก่อโรค

          น้ำกัดเท้า ส่วนใหญ่จะเกิดจากการเจริญเติบโตของเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophytes) ประกอบด้วย 3 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่ Trichophyton, Epidermophyton และ Microsporum เนื่องจากเป็นกลุ่มเชื้อราที่ชอบสะสมและเจริญเติบโตได้ดีที่เคราติน (Keratin) ซึ่งเป็นสารที่พบได้มากในส่วนผิวหนังและเล็บ และเชื้อรากลุ่มนี้เจริญได้ดีในสภาวะอากาศร้อนและมีความชื้นสูง โดยเฉพาะผิวหนังส่วนที่แช่ในน้ำหรือมีความชื้นต่อเนื่องนาน ๆ ผิวหนังบริเวณดังกล่าวจะอ่อนนุ่มและเปื่อยได้ง่าย ทำให้เชื้อรารุกรานเข้าสู่ผิวหนังชั้นตื้นได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณง่ามนิ้วเท้า ผิวหนังหน้าเท้า หรือบริเวณเล็บเท้า เป็นต้น

          สาเหตุและปัจจัยของการเกิดโรคหลัก ๆ เกิดจากพฤติกรรมการละเลยสุขอนามัยและความสะอาดที่เท้า เช่น

  • การลุยน้ำท่วมขัง หรือเดินเท้าเปล่าบริเวณที่มีน้ำขังในฤดูฝน หรือช่วงน้ำท่วม
  • การใช้ห้องอาบน้ำที่ไม่สะอาด และแช่น้ำเป็นเวลานาน
  • การสวมรองเท้าหรือถุงเท้าที่เปียกชื้น เป็นเวลานาน
  • การทำกิจกรรมที่มีการสะสมของเหงื่อที่เท้าบ่อย ๆ เป็นเวลานาน เช่น การสวมรองเท้าที่ไม่ระบายอากาศออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา

โดยอาการเริ่มต้นมักเริ่มจากอาการคัน มีผื่นหรือตุ่มเล็ก ๆ ส่วนมากจะมีการเกา และเกิดการลุกลามขยายออกจนเกิดเป็นบริเวณกว้าง หากปล่อยทิ้งไว้นานอาจเป็นรอยแผลแตกหรือแผลเปิด จนเกิดเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น ผิวหนังติดเชื้อราร่วมกับเชื้อแบคทีเรีย 

          อาการของโรคน้ำกัดเท้า และวิธีการรักษา

          อาการของโรคน้ำกัดเท้ามีหลากหลายอาการขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็นและความรุนแรงของโรค ส่วนมาก ผิวหนังที่เท้ามีจะอาการระคายเคือง คัน แดง เปื่อย และหลุดลอก หรือมีกลิ่น มักเป็นบริเวณง่ามเท้าหรือซอกนิ้วเท้า จมูกเล็บ หรืออาจพบทั้งฝ่าเท้าได้ หากมีการติดเชื้อราแทรกซ้อนจะมีผื่นผิวหนังลอกคันเป็นวง ๆ หรือมีตุ่มน้ำใส หรือกรณีมีการติดเชื้อแบคทีเรีย มักจะมีอาการปวด บวม แดงร้อน กดเจ็บ เป็นแผลหนอง หรือมีไข้ได้ โดยอาการดังกล่าวสามารถแบ่งเป็นระยะของอาการและวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน

                   ระยะผิวหนังเกิดการระคายเคือง

          เป็นระยะเริ่มต้นที่เกิดอาการหลังจากเท้าแช่อยู่ในน้ำหรือมีความชื้นมาสักระยะแต่ไม่ทิ้งไว้นานมาก ทำให้เกิดอาการระคายเคือง คัน แสบ ผิวหนังแดงหรือลอก แต่ยังไม่มีการติดเชื้อใด ๆ การรักษาในระยะนี้สามารถใช้ยาทาภายนอก ที่ช่วยลดอาการคันและอาการอักเสบผิวหนัง อย่างเช่น ยาทาสเตียรอยด์ ชนิดอ่อน-ปานกลาง เช่น ไตรแอมซิโนโลนชนิดครีม (Triamcinolone cream), เบตาเมทาโซนชนิดครีม (Betamethasone cream) เป็นต้น

                   ระยะผิวหนังติดเชื้อรา

          เป็นระยะที่มักพบในผู้ที่เท้าแช่น้ำอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน หรือมีความอับชื้นที่เท้าเป็นประจำ  อาการที่พบได้บ่อยคือ อาการอักเสบระคายเคือง คัน และแสบ ร่วมอาการผิวหนังมีลักษณะเป็นขุย ขาวเปียก มีลักษณะเป็นวงหรือมีแนวเส้นขอบ เท้ามีกลิ่นเหม็น มักมีอาการเรื้อรังและต่อเนื่อง หรือมีประวัติเป็นมานานเกิน 2 สัปดาห์ ในระยะนี้จะแนะนำการใช้ยาทาเฉพาะที่ ที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อราที่เป็นสาเหตุ เช่น ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield’s ointment), คีโทโคนาโซลชนิดครีม (Ketoconazole cream) และ โคลไทรมาโซลชนิดครีม (Clotrimazole cream) เป็นต้น โดยในกรณีที่ต้องสัมผัสกับน้ำหรือความชื้นภายนอกบ่อย ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจแนะนำรูปแบบยาทาชนิดขี้ผึ้ง (Ointment) เนื่องจากเกาะติดผิวหนังได้ดี ไม่ถูกชะออกง่ายด้วยน้ำ และความมันของขี้ผึ้งจะช่วยลดความเปียกชื้นของผิวหนังและช่วยเคลือบผิวหนังไว้ไม่ให้สัมผัสกับสิ่งสกปรกที่มากับน้ำได้ แต่อย่างไรก็ตามหากมีอาการติดเชื้อราที่มีอาการรุนแรงไม่ตอบสนองต่อยาชนิดทาภายนอก หรือมีการติดเชื้อราที่เล็บร่วมด้วย แนะนำให้ไปพบแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อเริ่มรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทาน

ระยะผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรีย

ระยะนี้มักเกิดแทรกซ้อนจากระยะอื่น ๆ เช่น มีการแคะ แกะ เกา จนเกิดเป็นรอยแผลซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อแบคทีเรียผิวภายนอกเข้าสู่แผลได้ โดยมีลักษณะอาการอักเสบบริเวณที่เป็น เช่น ผื่น บวมแดง แผลร้อนนูน มีหนอง บางรายอาจพบอาการปวดแผลร่วมด้วย หรือมีไข้ การรักษาในกรณีที่มีอาการไม่มาก แนะนำให้ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือ หรือโพวิโดน ไอโอดีน (Povidone Iodine) หรือสบู่ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หลังจากนั้นเช็ดให้แห้ง ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในการใช้ยาทาภายนอกฆ่าเชื้อแบคทีเรียในบางราย ส่วนในกรณีที่มีอาการที่รุนแรง เช่น บวมหรือปวดมาก มีอาการไข้ร่วมด้วย หรือแผลในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดรับประทานหรือชนิดฉีด

การป้องกัน/ข้อควรปฏิบัติขณะเป็นน้ำกัดเท้า

หลักการสำคัญ คือ การรักษาสุขลักษณะและความสะอาด ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการลุยน้ำหรือยืนแช่น้ำ บริเวณน้ำขังที่สกปกรกเป็นเวลานาน
  2. หากมีความจำเป็นต้องลุยน้ำ ควรหาอุปกรณ์ป้องกัน เช่น สวมถุงเท้าพลาสติกป้องกันน้ำเข้า สวมรองเท้ากันน้ำป้องกันเชื้อโรคและของมีคมทิ่มแทงเท้า
  3. ล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดหลังย่ำน้ำหรือลุยน้ำ เน้นบริเวณซอกนิ้วเท้าเนื่องจากสะสมเชื้อโรคได้ง่าย กรณีที่มีถุงเท้าเปียก ไม่ควรหมักหมมให้เกิดความอับชื้น ควรถอดและซักให้สะอาดและรอให้แห้งก่อนนำมาใส่ใหม่อีกครั้ง
  4. กรณีที่มีแผลหรือบาดแผลเปิดที่เท้า ให้ทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำยาที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อหรือมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ เน้นทำความสะอาดบริเวณมุมอับ เช่น ซอกนิ้วเท้า จมูกเล็บ
  5. กรณีมีอาการของน้ำกัดเท้า หลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวปะปนกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ถุงเท้า รองเท้า เนื่องจากสามารถติดต่อกันได้
  6. กรณีมีอาการคันหรืออักเสบจากน้ำกัดเท้า แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อรักษาอย่างเหมาะสม ไม่ควรแคะ แกะ เกาตามผิวหนังเท้า เพราะอาจทำให้เกิดการลุกลามในบริเวณกว้างขึ้นของเชื้อรา และเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ และทำให้แผลหายช้าขึ้น 

เรียบเรียงโดย

ภก.กิตติศักดิ์ งิ้วลาย

อ้างอิง

1.โรคระบาดที่มากับน้ำท่วม (ตอนที่ 4) การดูแลและรักษาน้ำกัดเท้า โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล [Internet]. Pharmacy.mahidol.ac.th. 2022 [cited 13 July 2022]. Available from: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/76/

2.กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการดูแลรักษาโรคติดเชื้อต่างๆ ในภาวะอุทกภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ (ฉบับ 1 วันที่ 11 พฤศจิกายน 2554).

3.Introduction and Athletics-specific risk factors in: Field, L.A. & Adams B.B., Tinea pedis in athletes, in: International Journal of Dermatology 2008, 47, p.485

4.มันมากับน้ำ... น้ำกัดเท้า - โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย [Internet]. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย. 2022 [cited 13 July 2022]. Available from: https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line

5.โรคระบาดที่มากับน้ำท่วม (ตอนที่ 2) น้ำกัดเท้าและข้อควรปฏิบัติ | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล [Internet]. Pharmacy.mahidol.ac.th. 2022 [cited 13 July 2022]. Available from: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/74

 

 

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.