หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > น้ำตาล (ฟรุกโตส) และโรคเกาต์
น้ำตาล (ฟรุกโตส) และโรคเกาต์
น้ำตาล (ฟรุกโตส) และโรคเกาต์
30 Jul, 2021 / By salacrm01
Images/Blog/wpJXj48e-น้ำตาลกลู.jpg

น้ำตาล (ฟรุกโตส) และโรคเกาต์

     หลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้าง กับประโยคนี้ “อย่ากินไก่มากนักนะ ระวังจะเป็นเกาต์” นอกจากประโยคนี้แล้ว ประโยคที่เราอาจได้ยินรองลงมาคือ “กินอาหารทะเลมาก ดื่มเหล้ามาก กินยอดผักมาก จะทำให้เกาต์กำเริบ” น้อยคนนักที่จะเคยได้ยินว่า การบริโภคน้ำตาล (ในที่นี้หมายถึง น้ำตาลฟรุกโตส) มากแล้วทำให้กรดยูริกในเลือดสูง เสี่ยงต่อการเป็นโรคเกาต์ หรือทำให้อาการของโรคเกาต์กำเริบ

     ก่อนที่เราจะอธิบายถึงเหตุผลว่า ทำไมน้ำตาลถึงส่งผลต่อโรคเกาต์ เราควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเกาต์เบื้องต้นกันเสียก่อน โรคเกาต์ (Gout) เกิดจากการสะสมของกรดยูริก (Uric acid) ในเลือดและตกตะกอนเป็นผลึกรูปเข็มอยู่ตามข้อ ทำให้เกิดการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อนอย่างเฉียบพลัน ผู้เป็นโรคเกาต์ในระยะเฉียบพลันก็จะเจ็บปวดทรมานมาก โรคเกาต์เมื่อเป็นแล้วจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อันตราย เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคความดันโลหิตสูงได้ ดังนั้นการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ตลอดจนการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม จะช่วยให้หายจากโรคเกาต์ และยังช่วยป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังอื่น ๆ ที่อาจตามมาได้อีกด้วย

      เหตุผลที่การรับประทานน้ำตาลผลไม้ หรือฟรุกโตส ทำให้กรดยูริกในเลือดสูง เกิดจากการที่เวลาน้ำตาลฟรุกโตสจำนวนมาก ๆ ถูกเผาผลาญในร่างกาย จะก่อให้เกิดสารที่มีชื่อว่า เอ.เอ็ม.พี. (AMP) จำนวนมหาศาลซึ่งสาร AMP นี้เองที่จะถูกร่างกายเปลี่ยนต่อให้เป็นกรดยูริกในเลือด จะเห็นได้ว่า ความเชื่อที่ว่า กรดยูริกในเลือดที่สูงนั้นเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูง ไม่เป็นความจริงเสมอไป เพราะการรับประทานอาหารที่ปราศจากกรดยูริก เช่น การดื่มน้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้กล่องที่มีน้ำตาลฟรุกโตสจำนวนมาก ก็สามารถทำให้กรดยูริกสูงในเลือดได้เช่นกัน

       เมื่อน้ำตาลจากผลไม้ ไม่ปลอดภัยอย่างที่คิด

          การรับประทานน้ำตาลผลไม้ หรือที่เรียกว่า น้ำตาลฟรุกโตส เกินกว่า 50 กรัมต่อวัน นั้นทำให้เราเกิดภาวะกรดยูริกในเลือดสูง และตามมาด้วยการเป็นโรคเกาต์ได้ น้ำตาลฟรุกโตสในอาหารธรรมชาติ จะมีอยู่ในผลไม้ เป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะ กล้วยน้ำว้า, ลิ้นจี่, มะขามหวาน, ลองกอง มังคุด และน้ำผึ้ง ซึ่งการรับประทานผลไม้ในขนาดที่เหมาะสมไม่ได้ทำให้เราได้ฟรุกโตสในปริมาณที่มากขนาดนั้น แต่ปัจจุบันแหล่งของน้ำตาลฟรุกโตสที่สำคัญ คือ น้ำผลไม้กล่อง น้ำตาลทราย น้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่ใส่น้ำเชื่อมที่มีฟรุกโตสสูง (High Fructose Corn Syrup – HFCS) พบว่า การดื่มน้ำอัดลมหรือน้ำผลไม้กล่อง เกินวันละหนึ่งแก้วอยู่เป็นประจำ สามารถส่งผลให้ระดับของกรดยูริกสูงถึงขั้นเป็นโรคเกาต์ได้

จัดทำโดย

ภญ.จุฑานุช สุรพงษ์ประชา

อ้างอิง

[1] Choi H, Curhan G. Soft drinks, fructose consumption, and the risk of gout in men: prospective cohort study. BMJ Open. 2008;336(7639):309-312.

[2] Ishikawa T, Aw W, Kaneko K. Metabolic Interactions of Purine Derivatives with Human ABC Transporter ABCG2: Genetic Testing to Assess Gout Risk. Pharmaceuticals. 2013;6(11):1347-1360.

[3] Jamnik J, Rehman S, Blanco Mejia S, de Souza R, Khan T, Leiter L, et al. Fructose intake and risk of gout and hyperuricemia: a systematic review and meta-analysis of prospective cohort studies. BMJ Open. 2016;6(10):1-9.

[4] Rho Y, Zhu Y, Choi H. The Epidemiology of Uric Acid and Fructose. Seminars in Nephrology. 2011;31(5):410-419.

[5] โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์. น้ำตาล ความอ้วน ยูริกกับโรคเกาต์. พิมพ์ครั้งที่ 1. นนทบุรี: บริษัท เฮลธ์ เวิร์ค พลัส จำกัด; 2561.

 

เพิ่มเพื่อน

 
Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.