หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > ประสิทธิภาพของการใช้อาหารทางการแพทย์สูตรสำหรับโรคเบาหวาน
ประสิทธิภาพของการใช้อาหารทางการแพทย์สูตรสำหรับโรคเบาหวาน
ประสิทธิภาพของการใช้อาหารทางการแพทย์สูตรสำหรับโรคเบาหวาน
08 Jan, 2023 / By salacrm01
Images/Blog/PT3IAzkB-ป.jpg

ประสิทธิภาพของการใช้อาหารทางการแพทย์สูตรสำหรับโรคเบาหวาน

       การควบคุมอาหารเป็นหนึ่งในการรักษาโรคเบาหวาน ไม่ว่าน้ำตาลในเลือดจะอยู่ในระดับใด หรือได้รับการวินิจฉัยเบาหวานมานานเท่าไร ตามแนวทางเวชปฏิบัตินานาชาติ ( American Diabetes Association) ในการดูแลรักษาโรคเบาหวาน ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก คือ การดูแลเรื่องโภชนาการ การออกกำลังกาย และการใช้ยารักษา การดูแลเรื่องโภชนาการถือเป็นส่วนสำคัญสำหรับผู้ป่วยเบาหวานทุกราย โดย

       แนะนำให้มีการใช้อาหารทางการแพทย์สูตรสำหรับโรคเบาหวาน Diabetes-Specific Formula (DSF) รับประทานทดแทนอาหารมื้อหลัก เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและน้ำหนักตัว

      การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีนั้นจะสามารถลดภาวะแทรกซ้อนจาก โรคเบาหวานได้[1] โดยทุก ๆ 1% ของน้ำตาลสะสมที่ลดลง สามารถลดภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดขนาดเล็ก (Microvascular complication) ได้ถึง 37% ได้แก่

  • โรคจอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวาน (Diabetic Retinopathy)
  • โรคไตจากเบาหวาน (Diabetic Nephropathy)
  • โรคปลายประสาทอักเสบจาก เบาหวาน (Diabetic Neuropathy)

      นอกจากนี้ทุก ๆ 1% ของ น้ำตาลสะสมที่ลดลง สามารถลดการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเบาหวานได้ 21% ลดการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ 14%  และลดการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ 12%

      การดูแลเรื่องโภชนาการในผู้ป่วยเบาหวานต้องทำให้ได้สมดุลระหว่างการรักษาระดับน้ำตาลในเลือด การควบคุมน้ำหนัก และการให้สารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอ เพื่อไม่ทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งภาวะขาดสารอาหารมีผลต่อการเสียชีวิตในผู้ป่วยเบาหวานถึง 1.66 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่มีภาวะขาดสารอาหาร การใช้อาหารทางการแพทย์สูตรสำหรับโรคเบาหวาน หรือ DSF จึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานมีภาวะโภชนาการที่เหมาะสม คุมน้ำตาล และคุมน้ำหนักได้ดีขึ้น

บทบาทของ DSF ในการควบคุมน้ำตาล

      DSF เป็นอาหารเสริมทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่น้อยกว่าสูตรธรรมดา และปริมาณสัดส่วนของคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเพิ่มขึ้นเพื่อให้ย่อย และดูดซึมที่ช้าลงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นช้าและน้อย รวมถึงมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำจึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จึงสามารถทำให้ผู้ป่วยคุมน้ำตาลได้ดีขึ้น[3]

      DSF เองยังมีคุณสมบัติในการกระตุ้นให้ลำไส้หลั่งฮอร์โมน Glucagon-like peptide 1 (GLP-1) ซึ่งมีบทบาทในการควบคุมระบบน้ำตาลในเลือด ดังนี้

  • กระตุ้นการสร้างและหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) และลดการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) ที่ตับอ่อนส่งผลให้ผลิตน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดลดลง และทำให้กล้ามเนื้อนำน้ำตาลไปใช้ได้มากขึ้น
  • เพิ่มการสร้างและลดการตายของเซลล์ตับอ่อนที่สร้างฮอร์โมนอินซูลิน
  • ลดการดื้อต่ออินซูลินซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2
  • ออกฤทธิ์ที่สมองทำให้รู้สึกอิ่มง่ายและนานขึ้น

      จากงานวิจัยในปัจจุบัน พบว่าการรับประทาน DSF มีประสิทธิภาพในการลดน้ำตาล น้ำตาลสะสม และการแกว่งของน้ำตาล (Glycemic variability; GV) ลดน้ำหนัก ความดันโลหิต และสัดส่วนของไขมันในร่างกาย ผ่านกลไกของการเพิ่มการหลั่งฮอร์โมน GLP-1  เพิ่มความไวของอินซูลิน และลดการดื้อต่ออินซูลินในผู้ป่วยเบาหวาน

การศึกษาประสิทธิภาพของ DSF  ในการควบคุมโรคเบาหวาน

  1. การศึกษาของ Chee WSS และคณะ เป็นการศึกษาแบบสุ่มในผู้ป่วยเบาหวานที่มีน้ำตาลสะสมเฉลี่ย 7-11% จำนวน 230 ราย โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 (tDNA-MI) ได้รับ DSF แทนมื้อหลัก 1-2 มื้อ และรับประทานอาหารพลังงานต่ำในมื้อที่เหลือร่วมกับการด้วยวิธีการสนทนากระตุ้นการปฏิบัติตน (Motivational interviewing: MI)

กลุ่มที่2 (tDNA-CC) ได้รับ DSF เช่นเดียวกับกลุ่ม 1 ร่วมกับ การได้รับคำปรึกษาตามมาตรฐาน (Conventional counselling: CC)

กลุ่มที่ 3 (UC) ได้รับคำแนะนำตามแนวทางเวชปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เช่น การรับประทานอาหารแคลอรี่ต่ำ ออกกำลังกาย การควบคุมน้ำหนัก

ผลการศึกษา : เมื่อเปรียบเทียบกลุ่ม tDNA-MI หรือกลุ่ม tDNA-CC กับกลุ่ม UC ที่รับประทานอาหารพลังงานต่ำพบว่า กลุ่มที่ใช้ DSF แทนมื้ออาหารสามารถลดน้ำตาลสะสม ลดน้ำหนักได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้ DSF รวมถึงมีสัดส่วนของไขมันในร่างกาย และความดันโลหิต systolic ต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้ DSF

  1. การศึกษาของ Bynoe K และคณะ[6] พบว่าเมื่อใช้ DSF แทนอาหารทุกมื้อหลักเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 25 รายที่มีโรคอ้วนร่วมด้วย (ดัชนีมวลกาย ≥ 27กก./ม.2) พบว่า ผู้ป่วยสามารถลดน้ำหนักได้ 10.1 กก. หรือดัชนีมวลกายลดลงถึง 3.4 กก./ม.2 รอบเอวลดลง 10.9 ซม. น้ำตาลสะสมลดลง 0.9% น้ำตาลลดลง 39.6 มก./ดล. ที่ 8 สัปดาห์หลังการใช้ DSF

การใช้ DSF ในผู้ป่วยเบาหวาน สามารถใช้เป็นอาหารทดแทน 1-3 มื้อหลักเดิม ของผู้ป่วย หรือใช้เป็นอาหารเสริมในผู้ป่วยที่รับประทานมื้อหลักได้ไม่เพียงพอ ใช้เป็นอาหารว่างระหว่างมื้อหลัก หรือก่อนนอน โดย DFSจะมีสารอาหารครบถ้วนทั้งคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยและดูดซึมช้า โปรตีนที่มีคุณภาพ ไขมันเชิงเดี่ยวไม่อิ่มตัว วิตามิน และเกลือแร่ครบถ้วน

 

 

ตัวอย่างอาการทางการแพทย์ DSF

Glucerna : 5 ช้อนละลายน้ำ 200 มล. ให้พลังงานเท่ากับ 226 กิโลแคลอรี่

Gen-DM : 5 ช้อนละลายน้ำ 200 มล. ให้พลังงานเท่ากับ 180 กิโลแคลอรี่

ONCE Pro : 5 ช้อนละลายน้ำ 200 มล. ให้พลังงานเท่ากับ 204 กิโลแคลอรี่

เรียบเรียงโดย

ภญ.จุฬาลักษณ์ วุฒิวรจินดา

อ้างอิง

1. Stratton IM, Adler AI, Neil HAW, et al. Association of glycaemia with macrovascular and

microvascular complications of type 2 diabetes (UKPSD 35) [internet].2022[cited 2022 Nov 12].Available from: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/10938048/

 2. Ahmed N, Choe Y, Mustad VA, et al. Impact of malnutrition on survival and healthcare utilization in Medicare beneficiaries with diabetes[internet].2022[cited 2022 Nov 12].Available from: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/29449950/

3. Devitt A, Williams J, Choe Y, et al. (2013) Glycemic responses to glycemia-targeted specialized-nutrition beverages with varying carbohydrates compared to a standard nutritional beverage in adults with type 2 diabetes[internet].2022[cited 2022 Nov 12].Available from: https://www.scirp.org/journal/paperinformation.aspx?paperid=36818

4. João AL, Reis F, Fernandes R. The incretin system ABCs in obesity and diabetes - novel

therapeutic strategies for weight loss and beyond[internet].2022[cited 2022 Nov 12].Available from: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/27125902/

5. Chee WSS, Gilcharan Singh HK, Hamdy O, et al. Structured lifestyle intervention based on

a trans-cultural diabetes-specific nutrition algorithm (tDNA) in individuals with type 2

diabetes[internet].2022[cited 2022 Nov 12].Available from: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/29435347/

6. Bynoe K, Unwin N, Taylor C, et al. Inducing remission of Type 2 diabetes in the Caribbean:

findings from a mixed methods feasibility study of a low-calorie liquid diet-based

intervention in Barbados[internet].2022[cited 2022 Nov 12].Available from: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/31365159/

7.มนาภรณ์ ปายะนันทน. ประสิทธิภาพของการใช้อาหารทางการแพทย์สูตรสำหรับโรคเบาหวาน ที่ได้รับการพิสูจน์ทางคลินิกสำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานในปัจจุบัน[internet].2022[cited 2022 Nov 12].Available from:https://ccpe.pharmacycouncil.org/index.php?option=article_detail&subpage=article_detail&id=1280

 
Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.