ปวดศีรษะ
ปวดศีรษะ
23 Aug, 2021 / By salacrm01
Images/Blog/sSQ599kG-ปวดศรีษะ.jpg

ปวดศีรษะ

     อาการปวดศีรษะ เป็นอาการผิดปกติที่พบได้บ่อย โดยอาจมีสาเหตุจากการเป็นโรคปวดศีรษะปฐมภูมิโดยตรง หรืออาจเป็นโรคปวดศีรษะทุติยภูมิ ซึ่งเป็นการปวดศีรษะจากอาการแสดงโรคอื่นๆ ได้แก่ ปวดศีรษะจากมีไข้ ความผิดปกติทางสายตา ความดันในสมองสูงเนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในสมอง หรือมะเร็งสมอง และปวดศีรษะจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับสมอง เป็นต้น

     การปวดศีรษะปฐมภูมิ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine headache), ปวดศีรษะจากความเครียด (Tension headache) และ ปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster headache) ซึ่งการปวดศีรษะแต่ละประเภทมีสาเหตุ ลักษณะอาการปวด รวมไปถึงแนวทางการรักษาที่แตกต่างกันไป

1. ปวดศีรษะไมเกรน (migraine headache)

- พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายและเกิดในช่วงวัยรุ่นเป็นส่วนมาก

- ลักษณะอาการปวด จะปวดศีรษะแบบตุ้บๆ ตามชีพจร ส่วนมากจะเกิดอาการปวดศีรษะข้างเดียว แต่ในบางรายก็พบว่าเกิดทั้ง 2 ข้าง บริเวณที่ปวดจะเป็นด้านหน้าและด้านข้างของศีรษะความรุนแรงอยู่ในระดับปานกลางถึงมาก

- ระยะเวลาในการปวดประมาณ 4-72 ชั่วโมง

- อาการร่วมอื่น ๆ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร กลัวแสง กลัวเสียง บางคนอาจมีอาการนำ คือ มีการเห็นแสงวูบวาบ เห็นภาพมืดไปเป็นบางส่วน หรือมองเห็นภาพไม่ชัด

- ปัจจัยกระตุ้น ได้แก่ การอดอาหาร อาหารที่มีผงชูรส เนย ช็อกโกแลต เบียร์  แอลกอฮอล์ คาเฟอีน อาหารหรือผลไม้รสเปรี้ยว การมีประจำเดือน ความเครียด การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ อากาศร้อน กลิ่นที่รุนแรง แสงสว่างที่มากเกินไป เป็นต้น

      การรักษา

    การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุนที่ทำให้ปวดศีระไมเกรน การประคบเย็นที่ศีรษะ การพักผ่อนที่เพียงพอ อยู่ในที่เงียบ ๆ มืด ๆ จะช่วยให้อาการปวดศีรษะดีขึ้น

การใช้ยาบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน 

ยาบรรเทาปวด สำหรับการปวดแบบไม่รุนแรง

ยาสามัญประจำบ้าน ได้แก่ Paracetamol

ยาลดการอักเสบที่ไม่ไช่สเตียรอด์ (NSAIDs) ได้แก่ Ibuprofen, Naproxen, Celecoxib, Etoricoxib

ยาบรรเทาปวด สำหรับการปวดที่รุนแรงมากขึ้น (จำเพาะเจาะจงกับการปวดศีรษะไมเกรน)

ยากลุ่ม Triptans ได้แก่ Sumatriptan, Eletriptan

ยาที่มีส่วนผสมของ Ergotamine ได้แก่ Ergotamine + Caffeine

ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน

ได้แก่ Metoclopramide, Domperidone

      การรักษาแบบป้องกัน ควรให้การรักษาแบบป้องกันเมื่ออาการปวดศีรษะรุนแรง ปวดมากกว่า 2 ครั้งต่อเดือน หรือปวดบ่อยจนต้องใช้ยามากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เนื่องจากรบกวนคุณภาพชีวิตผู้ป่วย โดยยาต้องคำนึงถึงโรคร่วมของผู้ป่วยด้วย เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าแนะนำให้ใช้ยา Amitriptyline เป็นต้น โดยให้ยาป้องกันเป็นระยะเวลา 3-6 เดือน โดยเริ่มจากขนาดต่ำแล้วเพิ่มขนาดยาจนถึงประสิทธิภาพที่ต้องการ จากนั้นเมื่อมีอาการปวดกำเริบลดลงแล้วจึงค่อยๆลดขนาดยาลงแล้วหยุดยา

กลุ่มยาลดความดัน

Propranolol, Metoprolol tartrate, Verapamil

กลุ่มยาต้านอาการซึมเศร้า

Amitriptyline

กลุ่มยากันชัก

Valproate, Topiramate

กลุ่มยา Calcitonin gene-related peptide (CGRP) monoclonal antibodies 

Erenumab

 ยาที่สามารถใช้ป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน            2. ปวดศีรษะจากความเครียด(tension headache)

- พบได้บ่อยที่สุด และมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

- ลักษณะอาการปวด ปวดเหมือนมีแถบมารัดรอบศีรษะ โดยทั่วไปจะปวดแบบบีบ ๆ แน่น ๆ หนักตื้อๆ แต่ไม่ตามจังหวะของชีพจร ปวดบริเวณศีรษะลงมาถึงท้ายทอย มักปวดทั้ง 2 ข้าง ไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนแต่อาจมีอาการเบื่ออาหาร  ความรุนแรงอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง ผู้ป่วยยังคงดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

- ระยะเวลาในการปวดประมาณ 30 นาที ถึง 7 วัน

- ปัจจัยกระตุ้น ความเครียด การใช้สายตามากเกินไป การพักผ่อนไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆเช่น โรควิตกกังกล (anxiety) หรือโรคซึมเศร้า (depression) เป็นต้น

      การรักษา

   ให้ผู้ป่วยจัดการกับความเครียด และอาจใช้ยาที่ใช้รักษาอาการปวด เช่น paracetamol หรือ NSAIDs ร่วมกับการพักผ่อนก็เพียงพอ

3. ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (cluster headache)

- พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

- ลักษณะอาการปวด ปวดศีรษะข้างเดียวอย่างรุนแรงแบบเป็นระลอกหรือเป็นชุด มีลักษณะการปวดตุบ ๆ บริเวณขมับ รอบตา หรือกระบอกตาข้างใดข้างหนึ่ง อาการปวดจะเกิดเป็นช่วง ๆ แต่ละช่วงนาน 15 – 180 นาที  โดยอาการอาจเกิดทุกวันหรือเว้นวัน ส่วนใหญ่เกิดวันละ 1 – 2 ครั้ง แต่บางรายอาจเกิดบ่อยถึงวันละ 8 ครั้ง การปวดแต่ละชุด อาจใช้เวลาหลายวันถึงหลายสัปดาห์ และมีช่วงเวลาที่หายจากอาการปวดเป็นเดือนหรือเป็นปี

- อาการร่วม ได้แก่ น้ำตาไหล คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดบริเวณเปลือกตา หรือมีเหงื่อออกบริเวณด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า อาจพบอาการบวมที่เปลือกตา หนังตาตก (ptosis) รูม่านตาหด (miosis)

- ปัจจัยกระตุ้น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ กลิ่นฉุน ความร้อน

     การรักษา

ประกอบด้วย ยาที่ใช้ลดอาการปวดและยาป้องกันเพื่อลดความรุนแรงและความถี่ของการปวด

       ยาบรรเทาอาการปวด ได้แก่ ยา sumatriptan การฉีดยาจะสามารถลดอาการปวดภายใน 15 นาที, dihydroergotamine ชนิดฉีดสามารถลดอาการปวดได้อย่างรวดเร็วภายใน 5 นาทีเนื่องจากยามีผลทําให้หลอดเลือดหดตัวและจากผลดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น peripheral vascular spasm

       ยาป้องกัน ได้แก่ ยากลุ่ม calcium channel blocker ได้แก่ verapamil, ยา steroid เช่น prednisolone, dexamethasone ในระยะสั้น, ยา litium , ยากันชัก เช่น valproate, topiramate

จัดทำโดย

ภญ.พัชรดา สุขปัต

เอกสารอ้างอิง

1.ธีระพงษ์ ศรีศิลป์. โรคระบบประสาท.โรคในร้านยา. ขอนแก่น:โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา;2561  

2.Blau JN, Engle HO, Individualizing Treatment With Verapamil for Cluster Headache Patients.Headache 2004:44: 1013-8.

3.สมศักดิ์ เทียมเก่า. การใช้ยาอาการปวดศีรษะ [อินเทอร์เน็ต]. 2563 [เข้าถึงเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2564]. เข้าถึงได้จาก https://neurosci.kku.ac.th/wp-content/uploads/2019/05/Topic-Review.pdf

4.อรวรรณ ศิลปกิจ. อาการปวดศีรษะ. คูมือการดูแลผูมีปญหาสุขภาพจิตและจิตเวชสําหรับแพทย. กรมสุขภาพจิต 2544

5.ก้องเกียรติ กูณฑ์กันทรากร. CHROHNEIACD DAACIHLYE. Thai Journal of Neurology. 2016;32:27-37

6.ชนิดา กฤตสัมพันธ์. โรคปวดศีรษะ. จดหมายข่าวสุขภาพ หน่วยบริการเภสัชสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา. [อินเทอร์เน็ต]. 2559 [เข้าถึงเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2564]. เข้าถึงได้จาก www.pharmacy.up.ac.th/Guest/may-june.59/1.pdf

7.TJ Steiner,EAMacGregor,PTGDavies. Guidelines for all healthcare professionals in the diagnosis and management of migraine, tension-type, cluster and medication-overuse headache. British Association for the Study of Headache. 3rd edition, 2007.

8.ปวดศีรษะไมเกรน รู้ทัน จัดการได้. [อินเทอร์เน็ต]. 2563 [เข้าถึงเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2564]. เข้าถึงได้จาก https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/february-2020/migraine-headache

 

เพิ่มเพื่อน

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.