ภาวะกระดูกสันหลังคด
28 Jul, 2021 / By
salacrm01
ภาวะกระดูกสันหลังคด
ในภาวะปกติกระดูกสันหลังของมนุษย์จะตรงหรือมีการโค้งงอไปด้านหน้าและหลังเล็กน้อย แต่ในผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกสันหลังคด (scoliosis) จะมีลักษณะกระดูกสันหลังที่โค้งไปด้านข้าง ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นระหว่างการเจริญเติบโตเป็นวัยรุ่น และมักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
ภาพที่ 1 แสดงลักษณะของกระดูกสันหลังคด
(ที่มา : https://www.healthdirect.gov.au/scoliosis)
โรคกระดูกสันหลังคดสามารถส่งผลต่อลักษณะของกระดูกสันหลังใน 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่
- กระดูกสันหลังส่วนคอ (cervical spine)
- กระดูกสันหลังช่วงทรวงอกและหลังส่วนบน (thoracic spine)
- กระดูกสันหลังช่วงหลังส่วนล่าง (lumbar spine)
ภาพที่ 2 แสดงการเปรียบเทียบลักษณะของกระดูกสันหลังปกติ (ขวา) และกระดูกสันหลังคด (ซ้าย)
(ที่มา : https://www.hss.edu/condition-list_scoliosis.asp)
อาการและอาการแสดงของกระดูกสันหลังคด
- ไหล่ทั้งสองข้างไม่เท่ากัน
- เอวทั้งสองข้างไม่เท่ากัน
- ระดับหัวไหล่หรือบ่าไม่เท่ากัน
- สะโพกด้านใดด้านนึงสูงกว่าอีกด้าน
ภาพที่ 3 แสดงการอาการแสดงของโรคกระดูกสันหลังคด
(ที่มา : https://www.hss.edu/condition-list_scoliosis.asp)
ปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกสันหลังคด
- อายุ : อาการและอาการแสดงมักเกิดขึ้นในวัยเจริญเติบโต
- เพศ : เพศหญิงมีความเสี่ยงในการดำเนินไปของโรคที่แย่กว่า และมักจะต้องได้รับการรักษา
- ประวัติครอบครัว : โรคกระดูกสันหลังคดสามารถถ่ายทอดได้ ในขณะเดียวกันเด็กส่วนใหญ่ที่เป็นโรคกระดูกสันหลังคดนั้นไม่มีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคนี้มาก่อน
อาการแทรกซ้อน
- หายใจลำบาก
- หัวใจทำงานหนักขึ้น
- ปวดหลังเรื้อรัง
- ส่งผลต่อบุคลิกภาพ
แนวทางการรักษา
การรักษาจะขึ้นกับความรุนแรงของอาการ
- กรณีกระดูกสันหลังมีความคดน้อยกว่า 20-30 องศา : ตรวจติดตามอาการทุก 4-6 เดือน
- กรณีกระดูกสันหลังมีความคดมากกว่า 30 องศา : พิจารณาใส่เสื้อเกราะเพื่อควบคุมกระดูกสันหลัง
- กรณีกระดูกสันหลังมีความคดมากกว่า 45 องศา และยังไม่หยุดการเจริญเติบโต : พิจารณาผ่าตัด
- กรณีกระดูกสันหลังมีความคดมากกว่า 50-55 องศา และหยุดการเจริญเติบโตแล้ว : พิจารณาผ่าตัด
ผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังคดส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง แต่ภาวะกระดูกสันหลังที่ผิดปกติอาจเป็นรุนแรงมากขึ้นในระหว่างเจริญเติบโต และในรายที่เป็นรุนแรงภาวะกระดูกสันหลังที่โค้งผิดปกติจะทำให้ปริมาณอากาศที่เข้าสู่ทรวงอกลดลงได้ ซึ่งส่งผลให้ปอดทำงานได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นเด็กที่มีอาการกระดูกสันหลังคดเล็กน้อยหรืออาการยังไม่รุนแรง ควรติดตามอาการอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะการตรวจ X-rays เพื่อติดตามการโค้งของกระดูกสันหลัง ซึ่งภาวะกระดูกสันหลังคดในผู้ป่วยหลายราย ไม่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษา ในบางรายจำเป็นต้องสวมเสื้อเกราะดัดหลัง (brace) ช่วยป้องกันไม่ให้กระดูกเกินความโค้งงอ และในรายที่มีภาวะกระดูกสันหลังรุนแรงอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด
จัดทำโดย
ภญ.ชาลิสา ธรรมดำรงค์
อ้างอิง
1. Scoliosis - Symptoms and causes [Internet]. Mayo Clinic. 2021 [cited 9 February 2021]. Available from: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/scoliosis/symptoms-causes/syc-20350716
2. Siriraj E-Public Library [Internet]. Si.mahidol.ac.th. 2021 [cited 9 February 2021]. Available from: https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=981
3. Scoliosis: S-Curved Spine Condition, Causes and Treatments [Internet]. Hospital for Special Surgery. 2021 [cited 9 February 2021]. Available from: https://www.hss.edu/condition-list_scoliosis.asp