ภาวะนอนเกิน (Hypersomnia)
30 Oct, 2021 / By
salacrm01
ภาวะนอนเกิน (Hypersomnia)
โรคนอนเกิน (Hypersomnia) เป็นโรคที่หลับเกินพอดีผู้ที่มีภาวะนี้จะมีลักษณะที่ต้องการการนอนเพิ่มขึ้นทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน มีภาวะตื่นยากมากจากการนอน เมื่อตื่นแล้วรู้สึกว่าอยากนอนต่อไปอีก ง่วงนอนตลอดเวลา งีบหลับระหว่างวันหลายครั้ง แม้แต่ในเวลากินข้าว หรือพูดคุยกับคนอื่นก็ยังหลับได้ มีการนอนที่นานเกิน 8 ชั่วโมง ซึ่งโรคนี้ไม่ได้เกิดจากพฤติกรรม นิสัยเกียจคร้าน หรือบุคลิกภาพส่วนตัว แต่เกิดจากโรคทางกายหรือทางใจ อาจก่อให้เกิดผลเสียระยะยาวที่อาจทำให้มีภาวะคิดสั้น ฆ่าตัวตาย และมีอาการของโรคอื่น ๆ ตามมา
โดยระยะเวลาการนอนที่เหมาะสม ได้แบ่งตามช่วงอายุต่าง ๆ ดังนี้
ที่มา: https://www.sleepfoundation.org/how-sleep-works/how-much-sleep-do-we-really-need
อันตรายจากภาวะนอนเกิน
- ทำร้ายสมอง เพราะจะทำให้สมองเฉื่อยชา ส่งผลให้สมองประมวลผลได้ช้า คิดหรือตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ช้าลง รวมถึงอาจกลายเป็นคนไร้ชีวิตชีวา
- เกิดภาวะอ้วนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากระบบการเผาผลาญไขมันลดลง มีการสะสมไขมันเพิ่มขึ้น ต่อให้รับประทานน้อยก็สามารถอ้วนได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
- อาจก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวนง่าย เนื่องจากการนอนมากเกินไปส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน โดยเฉพาะฮอร์โมน Serotonin และ Endorphin ลดลง
- เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนอนเกิน
- อดนอนมาเป็นเวลานาน และเป็นบ่อย ๆ จนทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้รู้สึกนอนเท่าไรก็ไม่พอ
- เกิดจากภาวะที่ร่างกายแปรปรวน เช่น การเดินทางข้ามประเทศที่ต่างช่วงเวลากันมาก ๆ จะทำให้นาฬิกาชีวภาพของร่างกายแปรปรวน
- ฮอร์โมนในร่างกายหรือสารเคมีในสมองไม่ปกติ ส่งผลให้ร่างกายนอนมากผิดปกติ
- สมองได้รับการกระทบกระเทือนหรือเป็นโรคบางอย่างเกี่ยวกับสมอง
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยาคลายกังวล ยาช่วยนอนหลับ เป็นต้น
วิธีแก้ไขอาการนอนมากเกินไป
- เข้านอนตรงเวลาทุกวัน พยายามเข้านอนไม่เกิน 22.00 น. เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่สมองจะหลั่งสารต่าง ๆ เช่น Melatonin ซึ่งเป็นสารสำคัญที่มีบาทบาทในการควบคุมการนอนหลับ และ Growth Hormone ซึ่งจะช่วยสร้างสมดุลระบบการเผาผลาญของร่างกายและช่วยซ่อมแซมเซลล์ต่าง ๆ รวมไปถึงพัฒนาการของร่างกายและสมอง โดยสารดังกล่าวจะหลั่งมาจากต่อมใต้สมองในช่วงที่ร่างกายเข้าสู่ภาวะหลับลึก โดยจะหลั่งออกมามากที่สุดในช่วง 24.00 - 1.30 น. และนอกจากการปรับเวลาการเข้านอนแล้ว เมื่อตื่นนอนก็ควรลุกเลย อย่าต่อเวลาการนอนออกไปอีก
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สารอาหารครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม เนื่องจากคาเฟอีนจะกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว ทำให้นอนหลับได้ยาก เกิดปัญหาด้านการนอน จึงแนะนำให้ดื่มนมอุ่น ๆ จะช่วยให้หลับได้ดีขึ้น
- หากิจกรรมก่อนนอนง่าย ๆ ที่ให้รู้สึกผ่อนคลาย เช่น การอาบน้ำอุ่น การฟังเพลงจังหวะสบาย ๆ การสวดมนต์ นั่งสมาธิ การอ่านหนังสือที่เบาสมอง การจดบันทึกประจำวัน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายหลั่งสาร Endorphin ทำให้รู้สึกผ่อนคลายและช่วยให้นอนหลับได้สบายยิ่งขึ้น
- อย่ากลัวจนกลายเป็นไม่กล้านอน หรือบังคับตัวเองไม่ให้นอน เพราะกลัวว่าตัวเองจะนอนนานเกินไป เนื่องจากอาจทำให้พฤติกรรมการนอนผิดรูปแบบจนอาจกลายเป็นนอนไม่หลับ หรือหลับยาวกว่าเดิม ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งคู่
เรียบเรียง
ภญ.กมลรัตน์ จันตรา
อ้างอิง
1.พัชรนันท์ ศรีพัฒนวัชร์. นอนมากเกินไป (Hypersomnia). 2560 [เข้าถึงเมื่อ 13 สิงหาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/นอนมากเกินไป-hypersomnia
2.Sleep Foundation. How Much Sleep Do We Really Need?. 2021 [cited 13 August 2021]. Available from: https://www.sleepfoundation.org/how-sleep-works/how-much-sleep-do-we-really-need