มะเร็งปากมดลูกที่คุณผู้หญิงป้องกันได้
29 Jan, 2021 / By
salacrm01
มะเร็งปากมดลูกที่คุณผู้หญิงป้องกันได้
มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในหญิงไทยรองจากมะเร็งเต้านม พบมากในช่วงอายุ 35-60 ปี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมาหรือเชื้อเอชพีวี (HPV: Human Papillomavirus ) มีหลายสายพันธ์ โดยส่วนใหญ่ HPV 16, 18 สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปากมดลูก และ HPV 6, 11 สัมพันธ์กับการเกิดหูดหงอนไก่ แต่การติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 90 จะหายได้เอง ภายใน 1-2 ปีโดยไม่เกิดอาการหรือโรค
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิด
- การมีเพศสัมพันธ์เร็วตั้งแต่อายุยังน้อย
- การมีคู่นอนหลายคน
- มีบุตรหลายคน
- มีประวัติเป็นโรคติอต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เอดส์ เริม ซิฟิลิส
- ภูมิคุ้มกันต่ำ
- สูบบุหรี่
อาการ
- มะเร็งปากมดลูกมีทั้งหมด 4 ระยะ โดยระยะแรกจะไม่แสดงอาการ
- มีเลือดออกกระปิดกระปอย ประจำเดือนมานานผิดปกติ
- มีเลือดออกผิดปกติ หลังจากหมดประจำเดือนแล้ว
- เจ็บมากขณะมีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกผิดปกติ หลังจากมีเพศสัมพันธ์
- มีอาการตกขาวมีเลือดปน
การตรวจคัดกรอง
สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็งด้วยการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป โดยการทำแปปสเมียร์ (Pap smear) และตรวจภายในหากพบความผิดปกติ
การป้องกัน
- หลีกเลี่ยงหรือลดปัจจัยเสี่ยง เช่น ลดการมีเพศสัมพันธ์คู่นอนหลายคน, คุมกำเนิด, หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- การฉีดวัคซีนเอชพีวี (HPV vaccine) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกหลังได้วัคซีนครบ 1 เดือน ได้ร้อยละ 70-90% นานประมาณ 10 ปี โดยยังไม่มีข้อมูลจะต้องมีการฉีดกระตุ้นอีกหรือไม่
- เพศหญิง ควรฉีดอายุ 9-26 ปี (ช่วงอายุ 9-15 ปี เป็นอายุที่เหมาะสมและได้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากเป็นอายุก่อนเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ที่ยังไม่ติดเชื้อ HPV และพบว่ามีระดับภูมิคุ้มกันสูงกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับการฉีดในช่วงอายุ 16-26 ปี)
- เพศชาย ควรฉีดอายุ 19–26 ปี โดยเฉพาะกลุ่มชายรักร่วมเพศเพื่อป้องกันการติดเชื้อและเป็นมะเร็งทวารหนัก มะเร็งบริเวณอวัยวะเพศ
- เพศหญิงและชาย ควรฉีดอายุ 26 ปีขึ้นไป ยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ HPV หากเคยได้รับเชื้อแล้ว
ในประเทศไทยมีวัคซีน 2 ยี่ห้อ แสดงดังตาราง
ตารางแสดงราคาวัคซีนและเบอร์โทรติดต่อของแต่ละโรงพยาบาล
*ข้อมูลเฉพาะราคาวัคซีนมะเร็งปากมดลูก(ยังไม่รวมค่าแพทย์และการบริการอื่น) จากการติดต่อสอบถามแต่ละโรงพยาบาลวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563
“ การฉีดวัคซีนเป็นเพียงหนทางหนึ่งในการป้องกัน แต่วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การระมัดระวังไม่ให้สัมผัสถูกเชื้อและควรได้รับการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี ”
การรักษา
การเลือกวิธีรักษาขึ้นอยู่กับโรคประจำตัว ตามระยะของโรค ความรุนแรง ความพร้อมของผู้ป่วยและสถานพยาบาลที่ทำการรักษา โดยการรักษามะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกมีโอกาสหาย
เรียบเรียงโดย
ภญ.เบญจวรรณ แป้นแก้ว
เอกสารอ้างอิง
- หน่วยงานทะเบียนมะเร็ง กลุ่มงานดิจิทัลการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ. ทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาล พ.ศ. 2562. กรุงเทพฯ: สถาบันมะเร็งแห่งชาติ; 2562:3
- ชัยยศ ธีรผกาวงศ์. ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. มะเร็งปากมดลูก. [ออนไลน์] 2555; สืบค้นจาก: https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=943 สืบค้นเมื่อวันที่ 06 พฤศจิกายน 2563.
- HPV vaccine information for clinicians. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Atlanta, GA. 2015. Available from URL: https://www.cdc.gov/hpv/hcp/schedules-recommendations.html. As accessed 2020-11-06.
- ปิยวัฒน์ เลาวหุตานนท์. แนวทางการตรวจคัดกรอง วินิจฉัยและรักษา โรคมะเร็งปากมดลูก. แพทย์กระทรวงสาธารณสุข.กรุงเทพฯ: สถาบันมะเร็งแห่งชาติ; 2561:6-10.
- Human Papillomavirus (HPV) Vaccines. National Cancer Institute; [cited on 2020 Nov 06]; Available from: http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/Prevention/HPV-vaccine
- วัคซีน : การวิจัยพัฒนา การผลิต การควบคุมคุณภาพ และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค. จรุง เมืองชนะ, สมฤดี จันทร์ฉวี, บรรณาธิการ. นนทบุรี: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2555.
- MIMS online [Internet]. Cervarix: MIMS Thailand; 2020.; cited 2020 Nov 06]. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/info/cervarix?type=full
- MIMS online [Internet]. Cervarix: MIMS Thailand; 2020.; cited 2020 Nov 06]. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/info/gardasil?type=full