มารู้จัก…ประโยชน์ของอัลบูมิน (Albumin) จากไข่ขาว…กันเถอะ
07 Dec, 2022 / By
salacrm01
มารู้จัก…ประโยชน์ของอัลบูมิน (Albumin) จากไข่ขาว…กันเถอะ
“ไข่” คืออาหารที่เป็นแหล่งโปรตีนที่สมบูรณ์ (Complete Protein) โดยไข่ 1 ฟองจะมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 50 กรัม ให้พลังงานประมาณ 80 กิโลแคลอรี ประกอบด้วยโปรตีน 7 กรัม ไขมัน 6 กรัม และมีวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม, ฟอสฟอรัส, วิตามินเอ, วิตามินบี 1, บี 2, บี 3, บี 6 และบี 12 ธาตุเหล็ก, เลซิติน เป็นต้น
องค์ประกอบของไข่ ประกอบด้วย 3 ส่วน
1. เปลือกไข่ (Eggshell) เป็นสารประกอบของแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) อยู่ภายนอกสุดและด้านในประกอบด้วยเนื้อเยื่อสีขาว 2 ชั้น มีหน้าที่ปกป้องและห่อหุ้มองค์ประกอบด้านใน
2. ไข่ขาว (Albumen) เป็นส่วนอยู่ถัดเข้ามาด้านใน มีองค์ประกอบหลักคือ น้ำ (88%) และโปรตีน (10.5%) ส่วนที่เหลือเป็นแร่ธาตุ วิตามิน และน้ำตาลกลูโคส ในส่วนของไข่ขาวจะไม่มีองค์ประกอบของไขมันและคลอเลสเตอรอล มีโปรตีนประเภทอัลบูมิน (albumin protein) เป็นองค์ประกอบหลักที่ให้คุณค่าทางโภชนาการ
3. ไข่แดง (Egg yolk) เป็นส่วนด้านในสุด มีเยื่อหุ้มล้อมรอบส่วนไข่แดงทำให้คงรูปไว้ได้ ประกอบด้วย น้ำ (49.5%), โปรตีน (15.5%), ไขมัน (32.6%), คาร์โบไฮเดรต (1%) แร่ธาตุและวิตามิน (1%)
จะเห็นได้ว่า ไข่ เป็นอาหารที่หาทานได้ง่าย และให้คุณค่าทางโภชนาการที่ดี โดยเฉพาะส่วนไข่ขาวผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจการรับประทานไข่ขาวมากขึ้น เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญและปราศจากคลอเลสเตอรอล โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีความต้องการโปรตีนในแต่ละวันที่ปริมาณมากพอ เพื่อนำไปใช้ในการซ่อมแซมหรือทดแทนส่วนที่สึกหรอของร่างกาย โดยโปรตีนที่สำคัญในไข่ขาวคือ โปรตีนอัลบูมิน เนื่องจากเป็นโปรตีนที่พบมากในเลือด มีหน้าที่หลักในการเสริมสร้างและซ่อมแซมส่วนต่างๆในร่างกาย และมีบทบาทสำคัญในระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย
โปรตีนอัลบูมิน (Albumin) จากไข่ขาวคืออะไร
โปรตีนอัลบูมิน จัดเป็นโปรตีนที่สามารถละลายน้ำได้ (Water-soluble proteins) พบได้มากในร่างกายโดยเฉพาะในส่วนเลือด และระบบภูมิคุ้มกัน โดยในไข่ขาวจะมีโปรตีนอัลบูมินหลากหลายชนิด มีหน้าที่ต่อร่างกายที่จำเพาะแตกต่างกัน โดยพบมากสุด 2 ชนิด ดังนี้
Ovalbumin เป็นโปรตีนที่พบมากสุดในไข่ขาว ประมาณ 54% จัดเป็นโปรตีนที่เป็นแหล่งอาหารและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง รวมไปถึงมีคุณสมบัติ จำเพาะในการต่อต้านอนุมูลอิสระ
Ovotransferrin เป็นสารประกอบเชิงซ้อนโปรตีน ที่มีคุณสมบัติไม่ทนความร้อน (Heat labile protein) เมื่อถูกความร้อนโครงสร้างทางเคมีจะเปลี่ยนไป ทำให้ก่อเป็นเจล คุณค่าทางโภชนาการอาหารน้อย
นอกจากนี้ยังพบโปรตีนอัลบูมินชนิดอื่น ๆ ที่ อยู่ในไข่ขาว
ตารางที่ 1 ปริมาณโปรตีนอัลบูมินในไข่ขาว
Albumin protein
|
Content (%)
|
Ovalbumin
|
54.0
|
Ovotransferrin (conalbumin)
|
12.0
|
Ocomucoid
|
11.0
|
Ovomucin
|
3.5
|
Lyzozyme
|
3.4
|
Ovoglobulin g2
|
4.0
|
Ovoglobulin g3
|
4.0
|
Ovomacroglobulin
|
0.5
|
Ovoglycoprotein
|
1.0
|
Flavoprotein
|
0.8
|
Ovoinhibitor
|
1.5
|
Avidin
|
0.5
|
Cystatin
|
0.05
|
ปัจจุบันไข่ได้รับความนิยมในการรับประทานและนำมาใช้เป็นอาหารทดแทนโปรตีน เพื่อให้ได้ปริมาณตามที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ในปริมาณ 0.8-1 กรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม)/วัน แต่การรับประทานไข่ทั้งหมดทุกส่วน อาจเพิ่มปริมาณไขมันคลอเลสเตอรอลส่วนเกินได้ ไข่ขาวจึงเหมาะเป็นทางเลือก หรือเรียกได้ว่าเป็น อาหารโปรตีนไขมันต่ำ ที่ได้รับคำแนะนำให้รับประทานเสริมหรือทดแทนโปรตีน
ประโยชน์ของการรับประทานอัลบูมินในไข่ขาว
1. เป็นแหล่งโปรตีนที่จำเป็นในการสร้างอัลบูมินในกระแสเลือด (Serum albumin) โดยปกติจะถูกสร้างที่ตับ โดยมีหน้าที่ในการควบคุมสมดุลในกระแสเลือด หากขาดอัลบูมินในเลือดจะเกิดภาวะบวมน้ำได้ ซึ่งพบมากในกลุ่มผู้ป่วยโรคตับ
2. ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและฟื้นฟูกล้ามเนื้อ ในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อในร่างกาย ป้องกันการเสียหาย อาการบาดเจ็บ และการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ มีความสำคัญและจำเป็นต่อนักกีฬาและผู้ออกกำลังกายที่ต้องการสร้างมวลกล้ามเนื้อ
3. ป้องกันภาวะติดเชื้อ อัลบูมินมีความสำคัญในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เนื่องจากเป็นโปรตีนที่อยู่ในกระแสเลือด สามารถป้องกันและลดความรุนแรงในการติดเชื้อในผู้ป่วยพักฟื้นได้
4. เป็นแหล่งพลังงาน เนื่องจากโปรตีนอัลบูมินเป็นโปรตีนที่ให้พลังงานแก่ร่างกายได้ยาวนานกว่าอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต
ผู้ที่ควรรับประทานโปรตีนอัลบูมินจากไข่ขาว
โปรตีนอัลบูมินจากไข่ขาวแนะนำให้รับประทานได้ในผู้บริโภคที่ไม่มีประวัติของการแพ้อัลบูมิน หรือแพ้อาหารที่มีองค์ประกอบของไข่ โดยส่วนมากจะแนะนำในกลุ่มผู้บริโภคที่ควบคุมอาหารหรือออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อ รวมไปถึงในผู้สูงอายุกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องการโปรตีนอัลบูมินในการฟื้นฟูร่างกายและฟื้นฟูโรค เช่น ผู้ป่วยโรคไต, ผู้ป่วยโรคตับ, ผู้ป่วยแผลกดทับ, ผู้ป่วยเบาหวาน เป็นต้น
ผู้ป่วยโรคไต : เนื่องจากความผิดปกติของผนังหลอดเลือดที่ไต ที่ทำให้ไม่สามารถกรองโปรตีนไว้ได้ ทำให้มีโปรตีนอัลบูมินรั่วออกทางปัสสาวะจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดภาวะบวมน้ำ และปริมาณอัลบูมินในเลือดต่ำ ความอยากอาหารลดลง ขาดพลังงานจากแหล่งโปรตีน เสี่ยงต่อการทรุดตัวของโรคที่มากขึ้น
ผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด : เนื่องจากอัลบูมินสามารถจับกับยาเคมีบำบัด เกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อน (Albumin-drug complex) ซึ่งมีส่วนในกระบวนการเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งได้ และอัลบูมินสามารถซ่อมแซมเซลล์และเนื้อเยื่อที่ถูกทำลาย หรือสามารถลดผลข้างเคียงของ ยาเคมีบำบัดได้ รวมทั้งการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้ป่วยได้
ผู้ป่วยโรคตับ : เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่สร้างโปรตีนอัลบูมินในร่างกาย ในกลุ่มผู้ป่วยโรคตับอักเสบ, ตับแข็ง หรือมะเร็งตับ ส่งผลให้การสร้างอัลบูมินต่ำลง ทำให้เกิดความผิดปกติต่าง ๆ เช่น อาการบวมน้ำ อ่อนแรง และความอยากอาหารลดลง
ผู้ป่วยเบาหวาน/ผู้ป่วยที่เกิดแผลจากเบาหวาน/ผู้ป่วยแผลกดทับ : เนื่องจากโปรตีนอัลบูมิน มีกรดอะมิโนที่จำเป็น (Essential amino acids) ที่ครบถ้วน ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณแผลได้ สามารถแนะนำให้รับประทานในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานได้ เนื่องจากไม่มีส่วนประกอบของน้ำตาล และคอเลสเตอรอล
ผู้สูงอายุ/กลุ่มคนออกกำลังกายที่ต้องการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ : เนื่องจากกรดอะมิโนจำเป็นที่ครบถ้วน สามารถช่วยซ่อมแซมกล้ามเนื้อได้ มีส่วนประกอบของโคลีน (choline) โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุสามารถป้องกันภาวะความจำเสื่อมได้ และกลุ่มคนออกกำลังกาย อัลบูมินจะช่วยซ่อมแซมกล้ามเนื้อที่เสียหาย เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ และให้พลังงานเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกายที่ดีขึ้น
ข้อควรระวังในการรับประทานโปรตีนอัลบูมิน
การรับประทานโปรตีนอัลบูมินจากไข่ขาว ไม่แนะนำในกลุ่มคนที่มีประวัติแพ้อาหารจำพวกไข่ หรือมีประวัติการแพ้อัลบูมิน และอย่างไรก็ตามการรับประทานอาหารให้มีคุณประโยชน์สูงสุด ควรรับประทานให้ครบทั้ง 5 หมู่ในปริมาณสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่จำเพาะเจาะจงการรับประทานเพียงโปรตีนอัลบูมินอย่างเดียว และกรณีรับประทานไข่ขาว ควรเลือกวัตถุดิบไข่ที่สดใหม่ และผ่านการปรุงสุกอยู่เสมอ เนื่องจากการรับประทานไข่ขาวดิบเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย Salmonella spp. ที่พบการปนเปื้อนกับไข่ดิบได้มาก และแนะนำให้ปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญในการรับประทานเพื่อให้ได้ปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกายในแต่ละวัย
เรียบเรียงโดย
ภก.กิตติศักดิ์ งิ้วลาย
เอกสารอ้างอิง
1.BTH. 2022. รู้จริงเรื่อง ไข่ และวิธีกินไข่ ให้ได้ประโยชน์. [online] [Accessed 12 September 2022]. Available at: https://www.bth.co.th/th/news-health-th/item/339-know-the-truth-about-eggs.html
2.Fna.csc.ku.ac.th. 2022. [online] [Accessed 12 September 2022]. Available at:
3.Albumin (Albutein) - Side Effects, Interactions, Uses, Dosage, Warnings [Internet]. EverydayHealth.com. 2022 [cited 12 September 2022]. Available from: https://www.everydayhealth.com/drugs/albumin-human
4.EGG ALBUMIN PROTEIN. [Internet]. 2022 [cited 13 September 2022]. Available from: https://www.isonovatech.com/egg-albumin-protein/
5.วนิดา เทวารุทธิ์. ไข่ขาว ดีต่อสุขภาพอย่างไร Egg white, Its health benefits [Internet]. 158.108.94.117. 2022 [cited 13 September 2022]. Available from: http://158.108.94.117/Public/PUB0817.pdf
6.Yamamoto T, Juneja LR, Hatta H and Kim M. 1996 Hen Eggs: Basic and Applied Science. CRC Press LIC. USA. P.13-24.
7.ใครบ้างต้องการอัลบูมิน - hemomin [Internet]. hemomin.com. 2022 [cited 13 September 2022]. Available from: https://www.hemomin.com/who-want-albumin
8.5 Benefits of Using Egg White Protein Powder for Recovery [Internet]. Naked Nutrition. 2022 [cited 14 September 2022]. Available from: https://nakednutrition.com/blogs/protein/post-workout-egg-white-protein