ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิด 1 เม็ด และ 2 เม็ด ต่างกันอย่างไร ?
08 Oct, 2021 / By
salacrm01
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิด 1 เม็ด และ 2 เม็ด ต่างกันอย่างไร ?
ผู้หญิงหลาย ๆ คนที่เคยใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมาก่อน อาจจะเคยสงสัยว่ายาคุมฉุกเฉินชนิด 1 เม็ด และ 2 เม็ด ต่างกันอย่างไร วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจของหลาย ๆ คนกันค่ะ
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency contraceptive pills, morning-after pills, post-coital contraceptives) นั้น มีข้อบ่งใช้สำหรับเป็นยาที่รับประทานหลังจากมีเพศสัมพันธ์แล้ว เพื่อลดโอกาสการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ อันเนื่องมาจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การคุมกำเนิดด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง การคุมกำเนิดล้มเหลว เช่น ถุงยางอนามัยชำรุด, คำนวณวันปลอดภัยผิดพลาด เป็นต้น
โดยยาคุมกำเนิดฉุกเฉินที่มีจำหน่ายในประเทศไทย จะมีตัวยาสำคัญเพียงชนิดเดียว คือ Levonorgestrel ซึ่งมีทั้งหมด 2 แบบ คือ
- ชนิด 2 เม็ด ประกอบไปด้วยตัวยา Levonorgestrel 0.75 mg จำนวน 2 เม็ด
- ชนิด 1 เม็ด ประกอบไปด้วยตัวยา Levonorgestrel 1.5 mg จำนวน 1 เม็ด
ซึ่งการรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินทั้งชนิด 1 เม็ด และ 2 เม็ด ควรรับประทานยาเม็ดแรกหลังมีเพศสัมพันธ์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
สำหรับยาคุมกำเนิดชนิด 1 เม็ด องค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) และ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention; CDC) ได้แนะนำให้รับประทานยา 1 เม็ดหลังมีเพศสัมพันธ์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภายใน 72 ชั่วโมง หลังการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน แม้ว่าจะรับประทานไม่ทัน 72 ชั่วโมงแรกหลังมีเพศสัมพันธ์ ก็ยังสามารถรับประทานยาได้ หากยังไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ แต่ประสิทธิภาพจะลดลงตามเวลาที่ผ่านไป หากมีอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานยาไป ให้รับประทานซ้ำอีก 1 เม็ด
ส่วนยาคุมกำเนิดชนิด 2 เม็ด องค์การอนามัยโลก (WHO) และ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้แนะนำวิธีรับประทานไว้ 2 แบบ ดังนี้
- การรับประทานแบบครั้งเดียว (Single dose) โดยรับประทานยา 2 เม็ดพร้อมกันครั้งเดียว ซึ่งวิธีนี้จะเสมือนการรับประทานยาคุมกำเนิดชนิด 1 เม็ดเลย เนื่องจากได้ตัวยาสำคัญ Levonorgestrel 1.5 mg เท่ากัน
- การรับประทานแบบแยก 2 ครั้ง โดยรับประทานยา 1 เม็ดก่อน แล้วรับประทานอีก 1 เม็ด ใน 12 ชั่วโมงต่อมา
ซึ่งถ้าเทียบประสิทธิภาพของการรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิด 2 เม็ด ทั้ง 2 วิธีนี้นั้น ผลจากการศึกษาของ Shohel และคณะในปี ค.ศ.2014 สรุปได้ว่า มีประสิทธิภาพสูงในการคุมกำเนิดทั้ง 2 วิธี โดยการรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิด 2 เม็ดครั้งเดียวสามารถคุมกำเนิดได้ 92.99 – 94.7% ส่วนการรับประทานแบบแยก 2 ครั้ง สามารถคุมกำเนิดได้ 75.0 – 95.2% โดยยิ่งรับประทานหลังมีเพศสัมพันธ์เร็วเท่าไหร่ จะยิ่งมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงขึ้น
และการศึกษาของ Leelakanok และ Methaneethorn ในปี ค.ศ. 2020 พบว่าการรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิด 2 เม็ด รับประทานครั้งเดียว หรือ ชนิด 1 เม็ดครั้งเดียว เมื่อเทียบกับการรับประทานชนิด 2 เม็ด แบ่งรับประทานแยก 2 ครั้ง มีผลข้างเคียงไม่แตกต่างกัน ซึ่งผลข้างเคียงทั่วไปของยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ได้แก่ คลื่นไส้, อาเจียน, ประจำเดือนมาไม่ปกติ, เจ็บคัดเต้านม, ปวดศีรษะ, มึนเวียนศีรษะ ฯลฯ ส่วนผลข้างเคียงที่รุนแรงของยาคุมฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ การตั้งครรภ์นอกมดลูก, ทารกพิการแต่กำเนิด, คลอดก่อนกำหนด ฯลฯ
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า เราสามารถรับประทานยาคุมกำเนิดชนิด 1 เม็ด หรือ ชนิด 2 เม็ด โดยจะรับประทานชนิด 2 เม็ด ครั้งเดียว หรือ แบ่งรับประทาน 2 ครั้งก็ได้ เพราะทุกวิธีมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดค่อนข้างสูง แม้ว่าประสิทธิภาพจะน้อยกว่าการรับประทานยาคุมกำเนิดแบบปกติที่เป็นชนิด 21 เม็ด และ 28 เม็ด ก็ตาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องระวังโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยนะคะ เพราะยาคุมกำเนิดทั้งหลายไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ แนะนำให้ใส่ถุงยางอนามัยไว้ จึงจะปลอดภัยและอุ่นใจที่สุดค่ะ
เรียบเรียงโดย
ภญ.ปุณยิกา ตุรงควัธน์
อ้างอิง
1. Centers for Disease Control and Prevention (US). Emergency Contraception [internet]. 2018 [cited 2021 July 2]. Available from: https://www.cdc.gov/reproductivehealth/contraception/mmwr/spr/emergency.html.
2. Leelakanok, Methaneethorn. A Systematic Review and Meta‑analysis of the Adverse Efects of Levonorgestrel Emergency Oral Contraceptive. Clinical Drug Investigation [internet]. 2020 [cited 2021 July 2]; 40(5):395-420. Available from: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/32162237/.
3. Shohel M, Rahman MM, Zaman A, Uddin MM, Al-Amin MM, Reza HM. A systematic review of effectiveness and safety of different regimens of levonorgestrel oral tablets for emergency contraception. BMC Womens Health [internet]. 2014 [cited 2021 July 2]; 14:54. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3977662/.
4. World Health Organization. Emergency contraception [internet]. 2018 [cited 2021 July 2]. Available from: https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/emergency-contraception.
5. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. ความรู้ทั่วไปเรื่องยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน [internet]. 2561 [เข้าถึงเมื่อ 2 กรกฏาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก : https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/419/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%89%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%B4%E0%B8%99/.