หน้าหลัก > สาระเรื่องยา > ยาเม็ดคุมกำเนิด (Contraceptive Pill หรือ Birth Control Pill)
ยาเม็ดคุมกำเนิด (Contraceptive Pill หรือ Birth Control Pill)
ยาเม็ดคุมกำเนิด (Contraceptive Pill หรือ Birth Control Pill)
24 Jul, 2021 / By salacrm01
Images/Blog/ltNI7kyL-ยาคุม.png

ยาเม็ดคุมกำเนิด (Contraceptive Pill หรือ Birth Control Pill)

     การคุมกำเนิดสามารถทำได้หลายวิธี เช่นการใช้ถุงยางอนามัย การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด การใช้หมวกครอบปากมดลูก การใช้ห่วงอนามัย การใช้ยาคุมกำเนิดแบบแผ่นแปะผิวหนัง การทำหมัน เป็นต้น แต่วิธีที่ได้รับความนิยมมากสุดคือการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ซึ่งยาเม็ดคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพสูงสุดที่ 99.7%

       ยาคุมกำเนิดมีกี่ประเภท 

    ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด สามารถจำแนกแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมน โปรเจสเตอโรน (progesterone) เพียวตัวเดียว ชนิดฮอร์โมนรวม (combined pills) ซึ่งจะมีฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจน (estrogens) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone) และยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบฉุกเฉิน โดยยาคุมกำเนิดจะมีกลไกในการป้องกันการตั้งครรภ์โดยการออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่  ทำให้มูกที่ปากมดลูกข้น เหนียว จนทำให้อสุจิไม่สามารถผ่านเข้ามาได้ และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะต่อการฝังตัวของตัวอ่อน โดยยาคุมกำเนิดทั้ง 3 ชนิดมีรายละเอียดดังนี้

       ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined Oral Contraceptive - COC) ยาคุมชนิดนี้ จะประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจนรวมกันในเม็ดเดียว โดยยาคุมชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูง    ถ้ารับประทานอย่างสม่ำเสมอ และยังมีผลดีทำให้ประจำเดือนมาตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ยังจำแนกย่อยได้อีก 2 แบบคือ

1.1 มีฮอร์โมนเอสโตรเจนกับโปรเจสโตเจนเท่ากันทุกเม็ด ปัจจุบันในท้องตลาดจะมีจำหน่ายอยู่ 2 แบบคือ แบบ 21 เม็ด (มีฮอร์โมนเท่ากันทุกเม็ด ไม่มีเม็ดแป้ง) กับ 28 เม็ด (มีฮอร์โมนเท่ากัน 21 เม็ด และ 7 เม็ดหลังหรือเม็ดแป้งไม่มีฮอร์โมน)    โดยยาคุมชนิดนี้ยังแบ่งย่อยตามขนาดความแรงของฮอร์โมนเอสโตเจน (estrogen estradiol; EE) ได้อีก 3 แบบด้วยกันคือ แบบแรก High dose (EE มากกว่า 50 mcg.) ปัจจุบันไม่นิยมใช้เนื่องจากผลข้างเคียงสูง เช่น คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น แบบที่สอง Low dose (EE 20-50 mcg.) นิยมใช้มาก เช่นยาคุมยี่ห้อไดแอน-35 (Diane-35) ซูซี่ (Sucee) พรีม (Preme) เมโลเดีย (Melodia) เมอร์ซิลอน (Mercilon) มาวีลอน (Marvelon) แอนนี่ลินน์ (Annylyn) เป็นต้น และแบบที่สาม Very low dose (EE น้อยกว่า 20 mcg.) เหมาะสำหรับคนที่ใช้ยาคุมขนาด Low dose แล้วยังมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือทนอาการข้างเคียงอื่นๆไม่ได้ แต่ข้อเสียอาจทำให้ประจำเดือนมาน้อย หรือกระปริดกระปรอยได้ เช่นยาคุมยี่ห้อ มินิดอซ (Minidoz) ไมนอซ (Minoz) เป็นต้น

1.2 ฮอร์โมนทั้งสองชนิดไม่เท่ากัน โดยข้อดีของยาคุมชนิดนี้คือเพื่อเลียนแบบการหลั่งฮอร์โมนของร่างกาย แบ่งได้ 2 แบบคือแบบที่มีขนาดฮอร์โมน 2 ระยะ จะประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจนในปริมาณที่ไม่เท่ากัน โดยในช่วงต้นรอบเดือนจะมีเอสโตรเจนสูงกว่าโปรเจสโตเจน ส่วนช่วงปลายรอบเดือนจะมีโปรเจสโตเจนมากกว่าเอสโตร เช่น ยาคุมยี่ห้อออยเลซ (Oilezz) และแบบที่มีขนาดฮอร์โมน 3 ระยะ จะประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจนในปริมาณที่ต่างกัน 3 แบบ เพื่อเลียนแบบการหลั่งฮอร์โมนของร่างกายให้มากที่สุด โดยจะมีเอสโตรเจนต่ำอยู่ 2 ช่วง คือ ช่วงต้นและช่วงปลายรอบเดือน ส่วนกลางเดือนจะมีปริมาณเอสโตรเจนมากที่สุด ส่วนโปรเจสโตเจนจะมีปริมาณต่ำในช่วงต้นรอบเดือนและสูงสุดในช่วงปลายรอบเดือน เช่น ยาคุมกำเนิดยี่ห้อไตรควีล่าร์ (Triquilar) และไตรนอร์ดิออล (Trinordiol)  เป็นต้น

       ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestrogen-only pills - POP) จะมีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนเพียงอย่างเดียว ใช้สำหรับคนที่มีอาการข้างเคียงของยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม เพื่อลดอาการข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน สตรีที่ให้นมบุตร หรือสตรีที่มีโรคหลอดเลือดอุดตัน เป็นต้น โดยยาคุมชนิดนี้ในหนึ่งแผงจะมีทั้งหมด 28 เม็ด เช่นยาคุมยี่ห้อ ซีราเซท (Cerazette) เอ็กลูต้อน (Exluton) เดลิต้อน (Dailyton) เป็นต้น

       ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบฉุกเฉิน (Emergency contraception pill หรือ Morning after pill)  มักใช้เฉพาะในยามฉุกเฉิน เช่น ถุงยางแตกหรือรั่ว การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่อาจป้องกัน หรือการถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยยาคุมชนิดนี้จะมีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนเพียงอย่างเดียว ยาคุมกำเนิดชนิดฉุกเฉินจะใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น เนื่องจากยาคุมฉุกเฉินมีปริมาณฮอร์โมนที่สูงจึงเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้มาก ปัจจุบันในท้องตลาดจะมีจำหน่ายอยู่ 2 แบบคือแบบสองเม็ด เช่นยาคุมฉุกเฉินยี่ห้อ โพสตินอร์ (Postinor) มาดอนน่า (Madonn) นอร์แพก (Norpak) เป็นต้น และแบบ 1 เม็ด เช่นยาคุมฉุกเฉินยี่ห้อ แทนซี่ วัน (Tansy one) เมเปิล ฟอร์ท (Meple forte) เป็นต้น

       จะเลือกยาคุมกำเนิดให้เหมาะสมอย่างไร                                                                     ปัจจุบันมีการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดออร์โมนรวมมากกว่ายาคุมกำเนิดชนิดอื่น ในการเลือกยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม จึงที่มีความจำเป็นที่ต้องเลือกตำรับของตัวฮอร์โมนที่มีประสิทธิภาพที่ดีในการคุมกำเนิด สามารถลดผลข้างเคียงต่างๆ ตลอดจนราคาไม่สูงมากเกินไป ในช่วงแรกของการใช้ยาคุม อาจจะยังหายาคุมกำเนิดที่ยังไม่เหมาะสมต่อความต้องการ หรืออาจจะยังเกิดอาการข้างเคียงต่อผู้ใช้  จึงต้องค่อยๆปรับสูตรของยาคุมในภายหลัง ในการเลือกยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการ หรือลดอาการข้างเคียงของยาคุมกำเนิด โดยมีแนวทางดังนี้

1.คนที่ประจำเดือนมามากมาหลายวัน หรือมีรูปร่างอวบท้วม ควรเลือกยาคุมกำเนิดฮอร์โมนรวม ชนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ Ethinyl estradiol ไม่เกิน 20 ไมโครกรัม และโปรเจสโตรเจนที่มีฤทธิ์ต่อต้านเอสโตรเจน

2.คนที่มีรูปร่างไปทางผู้ชาย ประจำเดือนมาน้อย มีสิว หน้ามัน ควรใช้ยาคุมที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตรเจนที่มีฤทธิ์ต่อต้านเอสโตรเจน ตัวอย่างเช่น Cyproterone acetate จะช่วยลดฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายที่กระตุ้นให้ต่อมไขมันทำงานมากขึ้น เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิว ลดปัญหาหน้ามันได้

3.หลังจากรับประทานยาคุมแล้วมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ควรเลือกยาคุมที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนขนาดความแรงต่ำมาก (very low dose) หรือมีขนาดความแรงลดลงจากเดิม หรือยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีเฉพาะฮอร์โมน โปรเจสโตเจน

4.หากรับประทานยาคุมแล้วมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากกว่าปกติ หรือมีภาวะบวมน้ำ ควรเลือกยาคุมที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง หรือเปลี่ยนชนิดโพรเจสโตเจนเป็นชนิดที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เช่น drospirenone

5.เกิดอาการเจ็บคัดเต้านม ควรเลือกยาคุมที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนและโพรเจสโตรเจนลดลง หรือเปลี่ยนชนิดโพรเจสโตเจน

6.หากเกิดอาการปวดศีรษะอยู่บ่อยครั้ง หรือมีอาการไมเกรนกำเริบบ่อย ควรเลือกยาคุมที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง หรือใช้แบบต่ำมาก (very low dose)  หรือเปลี่ยนชนิดฮอร์โมนโปรเจสโตเจน

7.มีเลือดที่คล้ายประจำเดือนออกกระปริดกระปรอย (spotting) ในระหว่างรอบประจำเดือน ถ้าหากได้รับประทานยาคุมที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ เช่น ethinyl estradiol 20 ไมโครกรัม ให้เปลี่ยนเป็นชนิดที่มีปริมาณฮอร์โมนนี้สูงขึ้นแต่ไม่ควรเกิน 35 ไมโครกรัม แต่ถ้าหากรับประทานยาคุมที่มีเอสโตเจน 30-35 ไมโครกรัมอยู่แล้ว ให้พิจารณาเปลี่ยนชนิดโพรเจสโตเจน

       วิธีการรับประทานยาคุมกำเนิด

ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม และชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

     1.หากเริ่มรับประทานครั้งแรก ให้เริ่มทานวันที่ 1- 5 ของการมีรอบเดือน

     2.ยาคุมแบบ 21 เม็ด โดยเริ่มจากเม็ดแรกตามวันในสัปดาห์ที่มีสัญลักษณ์อยู่บนแผง ให้รับประทานทุกวัน วันละ 1 เม็ด จนหมดแผง แล้วหยุดรับประทานยาคุม 7 วัน โดยปกติประจำเดือนจะมาในช่วงที่หยุด 7 วัน พอหยุดครบแล้วให้เริ่มรับประทานยาคุมแผงใหม่ได้ทันที ไม่ว่าประจำเดือนจะหมดแล้วหรือไม่

     3.ยาคุมแบบ 28 เม็ด ให้รับประทานทุกวัน วันละ 1 เม็ด จนหมดแผง โดยไม่ต้องหยุดรับประทานยาคุม ประจำเดือนจะมาในช่วงยาคุมแถวสุดท้าย หรือแถวเม็ดที่ไม่มียาคุม จากนั้นให้รับประทานยาคุมแผงใหม่ต่อได้ทันที

     4.ยาคุมทั้งแบบ 21 และ 28 เม็ด ควรรับประทานตรงเวลาอยู่เสมอ

     5.สำหรับสตรีที่ผ่านการแท้งหรือคลอดบุตร อาจรอให้มีประจำเดือนมาก่อนถึงจะเริ่มรับประทานยาคุม หากแท้งบุตรที่อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ สามารถเริ่มรับประทานยาคุมทันที หากคลอดปกติหรือแท้งที่อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ สามารถเริ่มกิน 2-3 สัปดาห์หลังแท้งหรือคลอดบุตร ส่วนในกรณีหลังคลอดบุตรที่ให้นมแม่อย่างเดียว ให้รับประทานยาคุมหลังจากคลอดบุตรได้ 3 เดือน

       ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน

    ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินประเภท 2 เม็ด มีวิธีการรับประทาน 2 แบบ คือ แบบแรกให้รับประทานทันที 1 เม็ด แล้วรับประทานเม็ดที่ 2 ห่างจากเม็ดแรก 12 ชั่วโมง แบบที่สอง ให้รับประทานยาคุมทั้ง 2 เม็ด ทีเดียวครั้งเดียว ส่วนยาคุมฉุกเฉินประเภทเม็ดเดียว ให้รับประทาน 1 เม็ดครังเดียว โดยยาคุมฉุกเฉินทั้งสองแบบ ให้เริ่มรับประทานหลังจากมีเพศสัมพันธ์ไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยยาคุมฉุกเฉินมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด 75-85%

       ถ้าหากลืมกินยาคุมต้องทำอย่างไร

1.ลืมทานยา 1 เม็ด ให้รีบทานยา 1 เม็ดทันทีที่นึกได้ และทานเม็ดต่อไปตามปกติจนหมดแผง

2.ลืมทานยา 2 เม็ด ติดต่อกันในช่วง 2 สัปดาห์แรก ให้รีบทานยา 2 เม็ดทันทีที่นึกได้ และให้ทานอีก 2 เม็ดในวันถัดไปติดต่อกัน 2 วัน แล้วทานต่อไปตามปกติจนหมดแผง

3.ลืมทานยา 2 เม็ด ติดต่อกันในช่วงสัปดาห์ที่ 3 หรือลืมทานยามากกว่า 2 เม็ด ให้หยุดทานยาคุมแผงนั้น จนกว่าจะมีประจำเดือนจึงเริ่มทานแผงใหม่ ให้ช่วงที่หยุดทานยาคุมให้ใช้ถุงยางอนามัยหรืองดการมีเพศสัมพันธ์

       ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาคุม

            อาการข้างเคียงส่วนใหญ่ที่พบได้บ่อยคือคลื่นไส้ อาเจียน เจ็บคัดเต้านม มีเลือดประจำเดือนออกกระปริดกระปรอย น้ำหนักตัวเพิ่ม มีฝ้าขึ้น ปวดศรีษะ เป็นต้น ส่วนอาการข้างที่รุนแรงที่อาจพบได้ เช่นเพิ่มโอกาสการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน เนื่องจากยาคุมมีฮอร์โมนเอสโตเจน ซึ่งฮอร์โมนนี้มีผลต่อการเพิ่มการเกิดการแข็งตัวของเลือด อาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดขาอย่างรุนแรง เป็นต้น

       ข้อห้ามในการใช้ยาคุมกำเนิด

            ห้ามใช้เด็ดขาดในสตรีที่มีโรคเกี่ยวกับภาวะหลอดเลือดดำอักเสบ โรคลิ่มเลือดอุดตัน โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ การทำงานของตับผิดปกติ เป็นมะเร็งเต้านม ตั้งครรภ์ สูบบุหรี่จัด มีไขมันในเลือดและความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมไม่ได้ ส่วนข้อห้ามใช้โดยอนุโลม เช่น ปวดศีรษะไมเกรน ซึ่งอาจจะให้ใช้ยาคุมในขนาดต่ำๆ โรคตับที่รักษาหายแล้ว หรือมีการทำงานของตับที่กลับมาเป็นปกติ โรคถุงน้ำดี มีภาวะไขมันในเลือดและความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ เป็นต้น

จัดทำโดย

ภก.จิตเพชร เขื่อนแก้ว

อ้างอิง

1.Hatcher RA, Trussell J, Nelson AL, Cates W, Kowal D, Policar M, et al. Contraceptive technology: 20th ed. New York(NY): Ardent Media, 2011.

2.Curtis KM, Jatlaoui TC, Tepper NK, et al. U.S. selected practice recommendations for contraceptive use, 2016. MMWR Recomm Rep 2016;65( No. RR-4 )

3.Yuzpe AA, Smith RP, Rademaker AW. A multicenter clinical investigation employing ethinyl estradiol combined with dl-norgestrel as postcoital contraceptive agent. Fertil Steril 1982; 37: 508-13.

4.Curtis KM, Jatlaoui TC, Tepper NK, Zapata LB, Horton LG, Jamieson DJ, et al. U.S. Selected practice recommendations for contraceptive use, 2016. MMWR Recomm Rep 2016; 65:1-66.

5.นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. ความเข้าใจเรื่องยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม. สารคลังข้อมูลยา 2559; 18(2):10-16.

6.นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. ความเข้าใจเรื่องยาคุมกําเนิดฉุกเฉิน. สารคลังข้อมูลยา 2560; 19(1):33-41.

7.WHO. Emergency contraception. Fact sheet, updated June 2017. http://www.who.int/mediacentre/ factsheets/fs244/en/.

 

เพิ่มเพื่อน

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.