หน้าหลัก > รายการ > ยาแก้อักเสบ ที่ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ
ยาแก้อักเสบ ที่ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ
ยาแก้อักเสบ ที่ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ
26 Aug, 2021 / By salacrm01
Images/Blog/NCdYyWrj-ยาแก้อักเสบ.jpg

ยาแก้อักเสบ ที่ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ

1.ที่มาและความสำคัญ

    จากการทำงานในร้านยาประมาณ 1 เดือน พบว่าผู้มารับบริการส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่ายาแก้อักเสบและยาปฏิชีวนะไม่เหมือนกัน โดยยาปฏิชีวนะ หมายถึงจะเป็นยาฆ่าเชื้อที่มีข้อบ่งใช้สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และเมื่อเริ่มใช้แล้วต้องใช้ติดต่อกันจนครบระยะเวลาการรักษา เพื่อประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ และป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์เชื้อดื้อยาได้ ซึ่งผู้มารับบริการส่วนมากจะเข้ามาขอซื้อ ยาแก้อักเสบเม็ดแคปซูล เม็ดดำแดง เอาไปรักษาปวดข้อ ท้องเสีย เจ็บคอ หรืออาการอื่น   แต่เมื่อซักประวัติและอาการสำคัญของผู้มารับบริการแล้วมักพบว่าไม่มีข้อบ่งใช้หรือความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะ แต่สามารถใช้ต้านการอักเสบหรือยาแก้ปวด ลดอาการอักเสบเพื่อรักษาหรือบรรเทาอาการนั้น ๆ ได้

2. วัตถุประสงค์

     เพื่อให้ความรู้กับบุคคลทั่วไปและผู้มารับบริการเรื่องความแตกต่างของยาแก้อักเสบเม็ดแคปซูล กับยาปฏิชีวนะ และสามารถนำไปใช้ในการเรียกหายาเพื่อรักษา หรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยของตนเองหรือการส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่บุคคลรอบข้างได้

3. เนื้อหา 

      3.1 ยาปฏิชีวนะ ไม่ใช่ยาแก้อักเสบ นะ !

    คนส่วนใหญ่มักเรียกยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ว่าเป็นยาแก้อักเสบ จึงมักทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าการใช้ยาปฏิชีวนะจะทำให้อาการอักเสบต่าง ๆ หายเร็วขึ้น แต่ในความจริงแล้วยาปฏิชีวนะเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ตัวอย่างเช่น ยาเพนนิซิลลิน (Penicillin), อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin), เตตร้าซัยคลิน (Tetracycline) เป็นต้น ซึ่งยาเหล่านี้ไม่ได้มีฤทธิ์ลดการอักเสบ แต่จะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย จะใช้รักษาโรคหรืออาการที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ส่วนยาแก้อักเสบหรือยาต้านการอักเสบ (Anti-Inflammatory Drug) เป็นยาที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบที่เกิดการตอบสนองต่อร่างกาย เช่น อาการปวด บวมแดง หรือมีไข้ ซึ่งยาต้านการอักเสบเหล่านี้ไม่ได้มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น ยาไอบูโพรเฟ่น (Ibuprofen), ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac), ยาแอสไพริน (Aspirin) และยานาพรอกเซน (Naproxen) เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้าเรารับประทานยาปฏิชีวนะไปเพราะเข้าใจว่าเป็นยาแก้อักเสบ ทั้งที่ความจริงเป็นยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย นอกจากไม่เกิดประโยชน์ในการรักษาอาการอักเสบที่เกิดขึ้นแล้ว ยังจะทำให้เชื้อโรคดื้อยาได้มากขึ้น เนื่องจากเรามักจะเข้าใจว่าการใช้ยาแก้อักเสบเม็ดแคปซูล เม็ดดำแดง เม็ดขาวฟ้า จะให้ก็ต่อเมื่อมีอาการ และสามารถหยุดใช้ได้เมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าถ้าหากครั้งต่อไปเรามีอาการของการติดเชื้อแบคทีเรียและมีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เชื้อเหล่านั้นจะทนทานละแข็งแกร่งต่อยาปฏิชีวนะได้ดียิ่งขึ้น จึงอาจต้องยืดระยะเวลาการรักษายาวกว่าที่ควรจะเป็น หรือต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์กว้างขึ้นเพื่อให้สามารถครอบคลุมเชื้อดื้อยานั้น ๆ ได้ 

       แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าวควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีที่สุด และทุกครั้งที่ได้รับยาปฏิชีวนะต้องรับประทานให้ครบ เพราะบ่อยครั้งพบว่าผู้ป่วยมักหยุด ใช้ยาเมื่ออาการดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียโดยสามารถทำให้โรคกลับเป็นซ้ำ อัตราการเกิดเชื้อดื้อยามากขึ้น หรือเกิดผลแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ยังรักษาไม่หายดีได้

     3.2 ทำไมเราต้องใช้ยาปฏิชีวนะ และยาแก้อักเสบให้เหมาะสมด้วย ?

          หากเรายังเข้าใจว่ายาเม็ดแคปซูล สีดำแดง สีฟ้าขาว เป็นยาแก้อักเสบที่สามารถใช้ได้ตามอาการ เมื่ออาการหายก็หยุดใช้ยาต่อไปเรื่อย ๆ นั้น เมื่อถึงเวลาจำเป็นที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะอาจทำให้การรักษาเป็นไปได้ยากขึ้น ใช้เวลานานขึ้น (เรามาดูผลที่จะตามมาหากเรายังใช้ยาปฏิชีวนะ และยาต้านการอักเสบบนความเข้าใจที่ผิด ๆ กันดีกว่า..)

     3.3 อันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมเป็นยาแก้อักเสบ !

       อาจเกิดการแพ้ยาได้ ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการแพ้ไม่มาก มีแค่ผื่นคัน หรือในบางรายที่มีอาการ รุนแรง เช่น ผิวหนังเกิดรอยไหม้ หลุดลอก ปากบวม หลอดลมบวม หายใจติดขัดหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็เป็นได้

       การเกิดเชื้อดื้อยา เนื่องจากการกินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ กินไม่ครบตามระยะเวลาที่ควรรักษาเพื่อฆ่าเชื้อนั้น ๆ  จะสามารถกระตุ้นให้เชื้อแบคทีเรียกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยาได้ ทำให้การรักษาครั้งต่อไปต้องเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะตัวใหม่ ที่ครอบคลุมเชื้อกว้างขึ้น ราคาแพงขึ้น ซึ่งเหลือให้ใช้อยู่ไม่กี่ชนิด หรืออาจจะต้องใช้ระยะเวลาการรักษาที่ยาวนานขึ้น เมื่อมีการติดเชื้อดื้อยา สิ้นสุดสุดท้ายแล้วก็อาจจะไม่มียารักษา และผู้ป่วยจะเสียชีวิตในที่สุด

       การเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยที่การใช้ยาปฏิชีวนะจะมีฤทธิ์ฆ่าทั้งแบคทีเรียก่อโรคและแบคทีเรียชนิดดีมีประโยชน์ในลำไส้ของเรา เมื่อแบคทีเรียชนิดดีตายไป เชื้อก่อโรคอื่น ๆ ในตัวเราจึงฉวยโอกาสเติบโตมากขึ้น ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ เช่น ลำไส้อักเสบอย่างรุนแรง อาจเกิดการทำลายที่ผนังลำไส้และหลุดลอกมากับอุจจาระ ซึ่งจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

      3.4 แล้วอาการแบบไหนบ้างที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ?

       โดยปกติแล้วในร้านยาจะพบโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยอยู่ 3 โรคที่ผู้ป่วยหรือผู้มารับบริการจะมาขอซื้อยาแก้อักเสบเม็ดแคปซูล ได้แก่ ไข้หวัด ท้องเสีย แผลสด แล้วแต่ละโรคมีลักษณะสำคัญอย่างไรบ้างที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

      1.โรคคอหอยอักเสบเฉียบพลัน (Acute pharyngitis) ทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) และอาการเจ็บคอ โดยอาการส่วนมากผู้ป่วย มักมีอาการเจ็บคอร่วมกับอาการอื่น ๆ ซึ่งอาการเจ็บคอสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อและไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ โดยส่วนที่เกิดจากการติดเชื้อจะมีทั้งจากเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุสำคัญที่พบบ่อยที่สุด ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมาด้วยอาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล ระคายคอตามด้วยเจ็บคอ ไอ ปวดศีรษะและจะหายได้เองภายในเวลา 1-2 สัปดาห์ หลักการรักษาก็คือการให้ผู้ป่วยพักผ่อนและดื่มน้ำมาก ๆ ร่วมกับรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวด ลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้คัดจมูก หรือ ยาแก้ไอ ยาอมแก้เจ็บคอ ไม่จำเป็นต้องให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรือหากมาด้วยไข้ มักพบบ่อยในผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ โดยจะมีไข้สูงกว่าหวัดทั่วไปนาน 3-4 วัน อาจมีอาการหนาวสั่น ร่วมกับอาการไอแห้ง ๆ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหลได้บ้าง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก หลักในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่คือการพักผ่อนมาก ๆ และการรักษาตามอาการเช่นกัน ส่วนกรณีของการติดเชื้อแบคทีเรียนั้นพบว่าเชื้อสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดได้แก่ Streptococcus pyogenes หรือ group A beta-hemolytic streptococcus (GAHBS) หรืออาจเรียกสั้นๆว่า Group A Streptococci (GAS) โดยพบว่าอาการเจ็บคอเกิดจาก GAS คิดเป็นร้อยละ 15-30 ของอาการเจ็บคอที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อในเด็กและร้อยละ 5-10 ของอาการเจ็บคอที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อในผู้ใหญ่ โดยอาการที่พบได้บ่อยคือเจ็บคอมาก กลืนลําบาก เห็นจุดหนองที่ต่อมทอลซิน ต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอโต มีไข้ แต่อย่างไรก็ตามอาการบางชนิดของภาวะคออักเสบจากเชื้อ GAS และอาการคออักเสบจากเชื้อไวรัสจะเหมือนกัน ดังนั้นในการพิจารณาอาการคอหอยอักเสบจากการติดเชื้อ GAS จึงไม่สามารถพิจารณาจากอาการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ควรพิจารณาอาการทั้งหมดร่วมกัน ซึ่งโดยปกติแล้วอาการไข้จะสามารถหายไปได้เองภายในเวลา 3-5 วัน โดยไม่ได้รับการักษา เช่นเดียวกับอาการเจ็บคอที่สามารถหายได้เองภายในเวลา 7 วัน ซึ่งวิธีการประเมินเบื้องต้นที่สามารถใช้ได้ในร้านยาเพื่อแยกระหว่างอาการเจ็บคอจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย คือการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Centor Criteria หรือ Modified Centor Criteria (McIsacc Criteria) ซึ่งถ้าหากประเมินแล้วได้มากกว่าหรือเท่ากับ 4 คะแนนหมายความว่าผู้ป่วยรายนั้นควรได้รับยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม

       2.โรคท้องร่วงเฉียบพลัน (Acute Diarrhea, Gastroenteritis, Food Poisoning) หรือหมายถึงผู้ที่มีภาวะที่มีอุจจาระเหลวอย่างน้อย 3 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายอุจจาระเป็นน้ำอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยมีอาการไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์ โดยสาเหตุของโรคท้องร่วงเฉียบพลันอาจเกิดจากการได้รับสารพิษ (toxin) ของเชื้อโรค หรือเกิดจากตัวเชื้อโรคเองเป็นตัวก่อโรค หรืออาจจะเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ซึ่งผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 90 จะหายได้เองภายใน 3-4 วันโดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยมาด้วยอาการถ่ายท้องในลักษณะปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีฟองและกลิ่นเหม็นเปรี้ยวในเด็กวัยน้อยกว่า 3 ปีอาจมีสาเหตุจากเชื้อ Rotavirus หรือในวัยผู้ใหญ่ โดยทั้งสองสาเหตุจะเป็นการรักษาตามอาการ ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ แต่หากมีอาการถ่ายท้องในลักษณะ ถ่ายท้องรุนแรง เหลวเหมือนน้ำซาวข้าว อาเจียนแต่ไม่มีอาการปวดท้องหรือคลื่นไส้นำมาก่อน ร่วมกับประวัติการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด เสีย หรือค้างคืนอาจมีสาเหตุมาจากอหิวาห์เชื้อ Vibrio cholerae หรือมีการถ่ายเหลวเป็นน้ำช่วงแรก แล้วมีปวดบิดร่วมกับถ่ายเป็นมูกเลือด อาจมีหรือไม่มีไข้ร่วมด้วยก็ได้ อาจมาจากเชื้อ Shigellosis ที่สามารถพบมากในช่วงปลายฤดูร้อนต้นฤดูหนาว หรืออาจมาด้วยถ่ายเหลวมีเนื้อปน ร่วมกับปวดท้องและปวดเบ่ง อุจจาระเป็นมูกเหม็นเหมือนหัวกุ้งเน่า ถ่ายแบบกะปริดกะปรอย วันละหลาย ๆ ครั้ง มักมีอาการในคนที่มีประวัติอาศัยในถิ่นที่สุขาภิบาลไม่ดี หรือคนที่มีสุขนิสัยที่ไม่ดี อาจมีสาเหตุมาจากเชื้อ Entamoeba histotytica ซึ่งทั้งสามลักษณะกลุ่มอาการดังกล่าวควรที่จะใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาร่วมด้วย

       3.บาดแผลสด (Fresh Traumatic Wound) หมายถึงการเกิดบาดแผลจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นภายใน 6 ชั่วโมงก่อนที่จะได้รับการรักษา ซึ่งถ้าหากเป็นแผลเล็ก ไม่ลึก และสะอาด จะให้การดูแลรักษาด้วยการล้างน้ำเกลือ หรือน้ำสะอาด ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะทั้งยากินและยาทา ถ้าหากเป็นแผลจากอุบัติเหตุที่ไม่ได้เกิดจากสัตว์กัด จะต้องมีลักษณะของแผลเป็นแผลสดสะอาด ขอบเรียบ ไม่ลึกถึงกล้ามเนื้อ เอ็น หรือกระดูก ไม่มีเนื้อตาย ไม่สกปรก ไม่มีสิ่งปนเปื้อนต่างๆ เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ เศษอาหาร ร่วมกับเป็นคนที่มีภูมิคุ้มกันปกติ ไม่จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ แต่ต้องทำความสะอาดแผลให้เหมาะสม ส่วนในคนที่แผลมีลักษณะตามข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ จะเป็นแผลที่ควรได้รับยาปฏิชีวนะในการรักษา คือเป็นแผลขอบไม่เรียบ แผลยาวมากกว่า 5 เซนติเมตร หรือเป็นการเกิดแผลจากการบดอัด เช่น แผลประตูหนีบอย่างแรง หรือแผลลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อ เอ็น หรือกระดูก หรือในผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เบาหวาน ตับแข็ง โรคพิษสุราเรื้อรัง มะเร็ง หรือในผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือถ้าหากแผลเข้าข่าย ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งต่อไปนี้ก็ควรจะได้รับยาปฏิชีวนะในการป้องกันการติดเชื้อด้วยเช่นกัน คือแผลจากการโดนสัตว์กัด มีเนื้อตายบริเวณกว้าง แผลสกปรก หรือมีสิ่งปนเปื้อนอยู่

จัดทำโดย

ภญ.จุฬาทิพ อมรเพชรสถาพร

เอกสารอ้างอิง

1. สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. โครงการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในร้านยา ปี พ.ศ. ๒๕๕๕. ใน: สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย). 2555. สนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.). P13-38.

2. วิวัฒน์ ถาวรวัฒนยงค์. แนวปฏิบัติในการจ่ายยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในอาการหวัดเจ็บคอ ท้องเสีย และแผลสด. ใน: วิวัฒน์ ถาวรวัฒนยงค์, วิวัฒน์ ถาวรวัฒนยงค์. การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลในร้านยา (Rational Drug Use in Community Pharmacy). พิมพ์ครั้งที่ 1. กทม; 2560. P25-48.

3. เรณุกา จรัสพงศ์สุทธิ์ และเกษวดี ลาภพระ. การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมสำหรับประชาชน [อินเตอร์เน็ต]. 2562. สมาคมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทย. เข้าถึงเมื่อ 7 มิถุนายน 2564. เข้าถึงจาก: http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20191010135541.pdf

 

เพิ่มเพื่อน

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.