หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > รองช้ำ จัดการอย่างไร
รองช้ำ จัดการอย่างไร
รองช้ำ จัดการอย่างไร
16 Feb, 2023 / By salacrm01
Images/Blog/6bbErGQ3-1.png

รองช้ำ จัดการอย่างไร

          รองช้ำ หรือเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ (Plantar Fasciitis) คือ ภาวะที่มีการอักเสบของผังผืดใต้ฝ่าเท้า (Plantar fascia) สาเหตุเกิดจากเอ็นร้อยหวายและเอ็นใต้ฝ่าเท้าตึงตัวมากกว่าปกติจากการใช้งานเยอะ การรับน้ำหนักเป็นเวลานาน เนื่องจากเมื่อพังผืดใต้ฝ่าเท้าถูกยืดออกอย่างฉับพลันและเกิดขึ้นซ้ำ ๆ จะส่งผลให้พังผืดใต้ฝ่าเท้าได้รับบาดเจ็บและเกิดการอักเสบได้

ปัจจัยเสี่ยง

  • อายุ 40-60 ปี เนื่องจากผังผืดฝ่าเท้ามีการยืดหยุ่นน้อยลง
  • เพศหญิง
  • น้ำหนักตัวมาก
  • โครงสร้างเท้า  เช่น เท้าแบน หรืออุ้งเท้าโก่งเกินไป
  • กิจกรรมที่ทำ เช่น วิ่งหรือเดินระยะทางไกล การยืนเป็นระยะเวลานาน
  • สวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม เช่น รองเท้าที่มีพื้นแข็ง หรือพื้นบาง
  • กล้ามเนื้อน่องหรือเอ็นร้อยหวายตึงยึด

อาการ

          ปวดบริเวณใต้ฝ่าเท้า อาจปวดไปจนถึงนิ้วเท้า อาการมักเป็นช่วงเช้าหลังตื่นหรือหลังจากนั่งพักนาน ๆ แล้วลุกขึ้นมายืนหรือเดิน ช่วงระหว่างวันที่มีการเคลื่อนไหวอาการปวดจะดีขึ้น แต่อาการจะกลับมาเป็นมากขึ้นในตอนเย็น

การรักษา

กรณีอักเสบเฉียบพลัน(บวมมาก แดง ร้อน)

    • ให้พักก่อน เดินหรือยืนให้น้อยลง อาจใช้อุปกรณ์พยุงข้อเท้าหรือผ้าพันเคล็ด เพื่อลดการเคลื่อนไหว Night Splint เพื่อช่วยให้เท้าไม่ตกเวลานอน เนื่องจากเวลานอนเท้าจะตก ทำให้ผังผืดใต้ฝ่าเท้าหดตัว จึงส่งผลให้รู้สึกปวดช่วงเช้าหลังตื่นนอน, แผ่นรองเท้า (Orthotic Insoles) เพื่อช่วยลดแรงกระแทก

รูปภาพ Night Splint

    • ประคบเย็น เพื่อช่วยลดการอักเสบ ประคบประมาณ 20 นาที วันละ 4 ครั้ง
    • ให้ยารับประทาน เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory drugs; NSAIDs)  เช่น Ibuprofen, Naproxen, Celecoxib, Etoricoxib เป็นต้น หรือยาคลายกล้ามเนื้อ นอกจากนี้อาจให้ร่วมกับยาทาเฉพาะที่หรือแผ่นแปะบรรเทาอาการปวด

     ในการเลือกใช้ยาบรรเทาอาการปวดอาจพิจารณาตามความรุนแรงของอาการปวด World Health Organization (WHO) ได้ให้แนวทางการใช้ยาแก้ปวดตามความรุนแรงของความปวดดังนี้ ระดับความรุนแรงของความปวดน้อย (0-3 คะแนน) ให้ใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม Non-Opioids เช่น Acetaminophen, NSAIDs ระดับความรุนแรงของความปวดปานกลาง (4-6 คะแนน) ให้ใช้ยาแก้ปวดกลุ่มที่เป็น Weak-Opioids เช่น Codiene, Tramadol ระดับความรุนแรงของความปวดมาก (7-10 คะแนน) ให้ใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม Strong Opioids เช่น Morphine, Pethidine, Fentanyl เป็นต้น

     ยารับประทานอาจมีผลข้างเคียงต่อไต ตับ กระเพาะอาหาร หรือหัวใจ และอาจทำให้เกิดการแพ้ยาในผู้ป่วยบางราย นอกจากนี้ยาทาเฉพาะที่อาจทำให้เกิดระคายเคืองหรือเกิดผื่นภูมิแพ้ต่อผิวหนังในผู้ป่วยบางราย

    • การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าที่บริเวณส้นเท้า ควรพิจารณาเป็นลำดับสุดท้าย และควรทำเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรครองช้ำที่มีอาการมากและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น เนื่องจากเสี่ยงต่อชั้นไขมันที่บริเวณฝ่าเท้าบางลง การติดเชื้อที่กระดูกส้นเท้า หรือพังผืดฝาเท้าอ่อนแรงลงหรือฉีกขาด และการฉีดยาควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

หลังอาการอักเสบดีขึ้น:

  • นวดคลึง ช่วยให้เส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้ามีการคลายตัว หรือใช้เท้าคลึงลูกบอลหรือขวดน้ำ
  • การยืดกล้ามเนื้อ ควรทำวันละ 3 ครั้ง เช้า ระหว่างวัน และก่อนเข้านอน
    • ยืนหันหน้าเข้าหากำแพง ถอยขาข้างที่เจ็บไปข้างหลังโดยให้ฝ่าเท้าวางราบไปกับพื้น ค่อย ๆ ย่อเข่าข้างหน้าลงช้า ๆ จนรู้สึกตึงบริเวณน่อง โดยให้ขาหลังเหยียดตรง ค้างไว้ประมาณ 15-30 วินาที
    • ยืนบนบันไดโดยใช้ปลายเท้า และค่อย ๆ ปล่อยให้ส้นเท้าของขาข้างที่ต้องการยืดกล้ามเนื้อตกลงสู่บันไดขั้นล่างมากที่สุด ทำจนรู้สึกตึงบริเวณน่อง ค้างไว้ประมาณ 15-30 วินาที
    • หลังตื่นนอนให้นั่งเหยียดขา ใช้ผ้าคล้องบริเวณฝ่าเท้าและค่อย ๆ ดึงจนรู้สึกตึงบริเวณน่อง ค้างไว้ประมาณ 15-30 วินาที เพื่อช่วยยืดกล้ามเนื้อบริเวณน่อง
  • ไม่เดินด้วยเท้าเปล่าในบ้าน
  • เลือกส่วมใส่รองเท้าให้เหมาะสมกับโครงสร้างเท้า
  • ใช้เครื่องอัลตราซาวด์ ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบและการตึงตัวของกล้ามเนื้อ หรือใช้การรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Shock Wave) ซึ่งจะไปทำให้เกิดการบาดเจ็บเล็ก ๆ ที่ไม่เป็นอันตราย เพื่อช่วยเร่งกระบวนการซ่อมแซมให้เร็วขึ้น

          กรณีที่รักษาและบรรเทาอาการร่วมกับปรับพฤติกรรมด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้นมานานกว่า 9 เดือน แล้วไม่ได้ผล อาจรักษาด้วยการผ่าตัด

 

เรียบเรียงโดย

ภญ.ศศินา ชัยสิทธิ์

เอกสารอ้างอิง

1.Zajac P. Plantar fasciitis. Osteopath Fam Physician. 2016;8(4):46.

2.Luffy L, Grosel J, Thomas R, So E. Plantar fasciitis. J Am Acad Physician Assist. 2018;31(1):20–4.

3.ดร.กภ.ยิ่งรัก บุญดำ. โรครองช้ำ [Internet]. [cited 2022 Aug 13]. Available from:  https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/461/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%B3/

4.SiPH. ปวดฝ่าเท้า อาการโรครองช้ำ  [Internet]. [cited 2022 Aug 13]. Available from:  https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/606/Plantarfasciitis

5.นพ.สฤษดิ์พงศ์ แซ่หลี. โรครองช้ำ [Internet]. [cited 2022 Aug 29]. Available from:  https://www.medparkhospital.com/content/plantar-fasciitis

6.Plantar Fasciitis Night Splint [Internet]. [cited 2022 Aug 29]. Available from: https://www.djoglobal.com/sites/default/files/documents/Plantar_Fasciitis_Night_Splint_Patient_Application_Guide.pdf

 

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.