หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > รองช้ำ..ปัญหาสุดช้ำใจ
รองช้ำ..ปัญหาสุดช้ำใจ
รองช้ำ..ปัญหาสุดช้ำใจ
27 Aug, 2021 / By salacrm01
Images/Blog/7z82IgWe-รองช้ำ.jpg

รองช้ำ..ปัญหาสุดช้ำใจ

     รองช้ำ หรือพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ (Plantar fasciitis) อาการปวดบริเวณฝ่าเท้า และส้นเท้าในผู้ใหญ่ มักพบอายุประมาณ 40 - 60 ปี และอาจพบในคนอายุน้อยที่เป็นนักวิ่งได้

    ปกติพังผืดที่ฝ่าเท้า ทำหน้าที่ในการรองรับแรงกระแทกบริเวณฝ่าเท้า โดยพังผืดใต้ฝ่าเท้าเป็นพังผืดที่มีเส้นใยหนาขึ้นยึดเกาะกับกระดูกส้นเท้า (Calcaneus) โดยพังผืดที่ฝ่าเท้าประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ Medial,  และ Lateral bands โดย Central bands หรือพังผืดกลางฝ่าเท้าเป็นส่วนที่หนาและแข็งแรงที่สุด และส่วนนี้มีแนวโน้มว่าจะเกี่ยวข้องกับการเกิดรองช้ำมากที่สุด

สาเหตุการเกิดรองช้ำ

    เกิดจากการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง (Microtrauma) ที่บริเวณพังผืดใต้ฝ่าเท้า หากเกิดซ้ำ ๆ อาจส่งผลให้เส้นใยพังผืดที่ฝ่าเท้าเสื่อมสภาพเรื้อรังได้ โดยการบาดเจ็บนี้อาจเป็นผลมาจากเกิดจากการยืนหรือการแบกรับน้ำหนักตัวเป็นเวลานานๆ ส่งผลให้เกิดการยืดมากเกินไปของพังผืดใต้ฝ่าเท้าส่งผลให้เกิดอาการปวดได้ในขณะพักหรือนอนหลับ

อาการแสดงของรองช้ำ

    มีอาการเจ็บปวดใต้ฝ่าเท้า จะปวดมากเมื่อเริ่มมีการลงน้ำหนักที่ส้นเท้าในก้าวแรก หรือหลังจากไม่มีการเคลื่อนไหวมาซักระยะหนึ่ง ความเจ็บปวดมักจะลดลงเมื่อทำกิจกรรมเพิ่มขึ้นทีละน้อย และจะเริ่มมีอาการอีกในช่วงท้ายของวันเนื่องจากการแบกรับน้ำหนักเป็นเวลานาน

ปัจจัยเสี่ยง

- คนสูงอายุโดยเฉพาะมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป

- โรคอ้วน โดยมักพบในคนที่มี BMI > 27 kg/m2

- การยืนหรือกระโดดเป็นเวลานาน

- คนที่มีอุ้งเท้าสูงหรือแบนผิดปกติ

- มีอุบัติการณ์สูงในนักวิ่ง ที่มีการฝึกที่มากเกินไป, การสวมใส่รองเท้าวิ่งที่ไม่เหมาะสม

- การเดินหรือยืนบนพื้นแข็งเป็นเวลานาน

การรักษา

แนวทางการรักษาทั่วไป

- การพักผ่อนและการประคบเย็นอาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดในช่วงแรกได้

- การออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อบริเวณฝ่าเท้าและน่อง ซึ่งผู้ป่วยสามารถทำได้เองที่บ้าน

1. ท่าบริหารที่ 1

  ทำในท่านั่ง โดยให้ขาที่ได้ปวดไขว้ทับขาอีกข้าง ใช้มือดึงนิ้วเท้ากลับ (ด้านหลัง) จนรู้สึกตึงที่ส่วนโค้งของ เท้า (รูป A) ควรยืดเหยียดค้างไว้ 10 วินาที และทำซ้ำ 10 ครั้ง ควรทำ 3 ครั้งในแต่ละวัน

2. ท่าบริหารที่ 2

  นั่งเหยียดขาตรงแล้วพันผ้าขนหนูรอบเท้า จากนั้นดึงส่วนบนของเท้าเข้าหาตัว กดค้างไว้อย่างนั้นเป็นเวลา 10 - 30 วินาที ทำซ้ำ 5 ครั้งในแต่ละรอบ และทำ 2 ครั้งต่อวัน

3. ท่าบริหารที่ 3

  ให้ขาแนบกับบางสิ่งและเท้าลอยอยู่ในอากาศ ให้ชี้และงอปลายเท้า จากนั้นหมุนข้อเท้าเป็นวงกลม

4. ท่าบริหารที่ 4

   จิกนิ้วเท้ารอบผ้าขนหนู จากนั้นจับและปล่อยผ้าขนหนูซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นเวลา 1 - 2 นาที วันละ 2 ครั้ง

- การพันเทปบริเวณฝ่าเท้า เป็นเทคนิคที่เรียกว่า low-dye taping เป็นการติดผ้าเทปเพื่อยึดประคองข้อต่อ โดยจะช่วยควบคุม การฉีกขาดของเอ็นรองฝ่าเท้าและส่งเสริมให้เข้าสู่กระบวน การซ่อมแซมเร็วขึ้น อาจเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอาการปวดระยะแรก จะมีการใช้เทปสี่แถบพันในลักษณะเฉพาะดังภาพ โดยไม่ควรใช้เทปที่แน่นเกินไป และแนะนำให้ใช้เทปที่ไม่ก่อให้เกิดการแพ้เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาการแพ้

- หลีกเลี่ยงการใช้รองเท้าส้นแบนและเดินเท้าเปล่า

- พยายามควบคุมน้ำหนัก

- ใช้แผ่นซิลิโคนเสริมส้นรองเท้าสำเร็จรูป (ส่วนรองรับส่วนโค้งและ/หรือส่วนรองส้นเท้า)

- ลดกิจกรรมที่เป็นสาเหตุหรือทำให้อาการรุนแรงขึ้น เช่น การวิ่ง การเต้น หรือการกระโดดมากเกินไป

- ใช้ยากลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ในระยะสั้น (2-3 สัปดาห์)

- ฉีดกลูโคคอร์ติคอยด์และยาชาเฉพาะที่บริเวณฝ่าเท้าบริเวณฝ่าเท้าอาจมีประโยชน์หากอาการเจ็บปวดยังคงมีอยู่นานกว่า 3-4 สัปดาห์ โดยการฉีดกลูโคคอร์ติคอยด์ช่วยบรรเทาอาการปวดในระยะสั้น พบว่าผู้ป่วยมีอาการปวดน้อยลงในหนึ่งเดือนแรกที่ฉีดแต่ไม่มีผลหลังฉีดไป 3 หรือ 6 เดือน

- การผ่าตัด โดยจะพิจารณาการผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบทั่วไป หลังจากรักษาไปแล้วอย่างน้อย 6-12 เดือน

จัดทำโดย

ภญ.เมธาวี ชีพประสพ

อ้างอิง

1.Plantar fasciitis [Internet]. Waltham (MA): Uptodate; c1978-2020. [cited 2021 July 17]. Available from: http://www.uptodate.com/contents/plantar-fasciitis

2.Williams PL, Warwick R. Myology. Gray’s Anatomy. Philadelphia: WB Saunders; 1980. 36: 612-613.

3.HICKS JH. The mechanics of the foot. II. The plantar aponeurosis and the arch. J Anat. 1954 Jan. 88(1):25-30.

 

เพิ่มเพื่อน

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.