รู้เท่าทัน...โรคหลอดเลือดสมอง
23 Jun, 2022 / By
salacrm01
รู้เท่าทัน...โรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในระบบสาธารณสุขของไทย โดยพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับที่ 3 ในประชากรไทย และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน โดยหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมองผู้ป่วยมักมีความพิการหลงเหลืออยู่ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ จึงเป็นที่มาของบทความนี้มีซึ่งวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมองและปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องเมื่อเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
1. โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร
โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่เกิดจากสมองมีอาการขาดเลือดโดยเฉียบพลัน ทำให้อาการแสดงที่ผิดปกติของระบบประสาท (Neurological deficit) ยกตัวอย่างเช่น อาการอ่อนแรงครึ่งซีก มุมปากตก พูดไม่ชัด เป็นต้น โดยสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมี 2 สาเหตุหลักๆ ได้แก่
1. โรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดสมอง (Ischemic stroke) โดยพบประมาณ 75-80% ถือเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งการตีบของหลอดเลือดสมองเกิดจากการที่หลอดเลือดบริเวณสมองนั้นมีการแข็งตัวเนื่องจากมีการสะสมของไขมันบริเวณหลอดเลือด (Atherosclerosis) ทำให้หลอดเลือดสมองมีการตีบแคบลง ส่วนการอุดตันของหลอดเลือดสมองนั้นมีสาเหตุมาจาการเกิดลิ่มเลือดภายในหลอดเลือด ทำให้ลิ่มเลือดนั้นมาอุดตันบริเวณหลอดเลือดสมองได้ ซึ่งการที่หลอดเลือดสมองเกิดการตีบหรืออุดตันนั้น ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดโดยเฉียบพลันได้ทั้งสิ้น
2. โรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากการแตกของหลอดเลือดในสมอง (Hemorrhagic stroke) โดยพบประมาณ 20-25% ของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด โดยอาจมีสาเหตุมาจากหลอดเลือดแดงเปราะร่วมกับมีความดันโลหิตสูง หรืออาจเกิดจากการที่หลอดเลือดแดงแข็งจากการสะสมของไขมันบริเวณหลอดเลือด (Atherosclerosis) ทำให้หลอดเลือดเปราะแตกได้ง่าย ซึ่งการเกิดหลอดเลือดในสมองแตกจะทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณส่วนต่างๆของสมองได้ลดลงอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงเกิดเลือดออกในสมอง ก่อให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาทได้
2. อาการของโรคหลอดเลือดสมอง
อาการของโรคหลอดเลือดสมองเป็นไปได้หลายอาการ แต่มีรูปแบบการจำง่ายๆ โดยใช้หลักการ BE FAST ซึ่งประกอบไปด้วย
- B: Balance หมายถึง การสูญเสียการทรงตัว เดินเซ
- E: Eyes หมายถึง มีอาการตามัว มองเห็นครึ่งซึก หรือมองไม่เห็นในตาข้างหนึ่งแบบทันทีทันใด
- F: Face หมายถึง มีอาการมุมปากตก มีอาการหน้าเบี้ยว
- A: Arms หมายถึง มีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก
- S: Speech หมายถึง มีอาการพูดไม่ชัด หรือพูดลำบาก
- T: Time ไม่ได้หมายถึงอาการ แต่หมายถึงเมื่อเกิดอาการควรรีบโทรแจ้ง 1669 เพื่อนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลอย่างทันท่วงที เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษา โดยระยะเวลาตั้งแต่มีอาการจนถึงเวลาได้รับยาสลายลิ่มเลือด (rt-PA, alteplase) ไม่ควรเกิน 4.5 ชั่วโมง ซึ่งยานี้มีผลในการช่วยลดความพิการให้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้นผู้ป่วยควรถึงโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วที่สุด
3. ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองและการปฎิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองแบ่งเป็น 2 ประการหลักๆด้วยกัน ได้แก่
3.1 ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้
3.1.1 เพศ โดยพบว่าเพศชายมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออายุเพิ่มขึ้น
3.1.2 อายุที่เพิ่มขึ้น พบว่าอายุที่เพิ่มมากขึ้นยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออายุสูงกว่า 55 ปี โดยความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองจะเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า
3.1.3 ประวัติการเป็นโรคหลอดเลือดสมองในครอบครัว โดยเฉพาะพ่อแม่และพี่น้องสายตรง
3.2 ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถปรับเปลี่ยนได้
3.2.1 โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด AF (AF, Atrial fibrillation) โดยโรคนี้สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจและสามารถไปอุดตันที่สมองได้ แต่ถ้าหากสามารถควบคุมค่าการแข็งตัวของเลือดให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม ก็จะสามารถลดโอกาสการเกิดลิ่มเลือดได้
3.2.2 การสูบบุหรี่ พบว่าการสูบบุหรี่สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ประมาณ 1.5-2.5 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่สูบบุหรี่ โดยสามารถแก้ไขได้โดยการเลิกสูบบุหรี่
3.2.3 โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โดยพบว่าทั้งสามโรคที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและมีไขมันสะสมบริเวณหลอดเลือด (Atherosclerosis) ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการควบคุมความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง LDL ให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย หรือการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง
จากบทความข้างต้นจะเห็นได้ว่ามีอาการใดบ้างที่สามารถบ่งชี้ถึงภาวะโรคหลอดเลือด ดังนั้น หากท่านหรือคนใกล้ตัวมีอาการดังกล่าว ควรรีบโทร 1669 เพื่อเรียกรถฉุกเฉินหรือควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดความพิการและอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง
เรียบเรียงโดย ภญ.ธนัชพร พรมโคตร
จัดทำสื่อโดย ภญ.กันธิชา ผสมพราหมณ์
เอกสารอ้างอิง
1. Powers WJ, Rabinstein AA, Ackerson T, Adeoye OM, Bambakidis NC, Becker K, et al. 2018 Guidelines for the Early Management of Patients With Acute Ischemic Stroke: A Guideline for Healthcare Professionals From the American Heart Association/American Stroke Association. Stroke. 2018;49(3):e46-e110.
2. Kerna WN, Ovbiagele B, Black HR, Bravata DM, Chimowitz MI, Ezekowitz MD, et al. Guidelines for the Prevention of Stroke in Patients With Stroke and Transient Ischemic Attack. Stroke. 2014;45:2160–2236
3. สถาบันประสาทวิทยา. แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบและอุดตันสำหรับแพทย์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร., 2547, 1.
4. Qaseem A, Harris R, Forciea M. Management of Acute and Recurrent Gout: A Clinical Practice Guideline From the American College of Physicians. Annals of Internal Medicine. 2016;166(1):58.
5. Dharmasaroja PA, Ratanakorn D, Nidhinandana S, Churojana A, Suwatcharangkoon S, Keandoungchan J, et al. 2019 Thai Guidelines of Endovascular Treatment in Patients with Acute Ischemic Stroke. J Thai Stroke Soc. Volume 18 (2), 2019