อาการล้าสายตาจากสื่อดิจิตอลในช่วง work from home
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เข้าขั้นวิกฤตและกำลังทวีคูณจำนวนผู้ติดเชื้อขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หลากหลายหน่วยงาน เร่งรัดการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ตามแนวทางปฏิบัติของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อลดโอกาสในการสัมผัสเชื้อและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อในวงกว้าง หลายหน่วยงานจึงให้บุคลากรปฏิบัติงานนอกสำนักงาน (work from home) มากขึ้น รวมไปถึงสถาบันการศึกษาได้จัดการเรียนการสอนออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น
ด้วยปัญหาดังกล่าว ทำให้หลายท่านจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาติดต่อสื่อสารผ่านอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ (computers), สมาร์ตโฟน (smartphones) หรือ แท็บเล็ต (tablets) ซึ่งจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้แสดงข้อมูลแนวโน้มการใช้สมาร์ตโฟนของคนไทยที่เพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี โดยเฉพาะในปี 2564 จากการรวบรวมข้อมูลของ digital 2021 global overview report Thailand ได้แสดงข้อมูลว่าคนไทยใช้ระยะเวลาอยู่หน้าจอสมาร์ทโฟนเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง 44 นาที ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ อีกในช่วง work from home และการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดสภาวะอาการเมื่อยล้าทางสายตา (digital eye strain: DES) หรือกลุ่มอาการอื่น ๆ ทางสายตาที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ (computer vision syndrome: CVS) ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการจ้องมองคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนมากและนานเกินไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพดวงตาในระยะยาวได้
ปัญหาทางสายตาจากการเรียนหรือประชุมออนไลน์ผ่าน work from home ที่พบได้บ่อย
คงเป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงปัจจัยสาเหตุได้ยาก จากสถานการณ์ที่บีบบังคับให้หลายท่านต้องใช้ระยะเวลาในการจ้องมองจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นานมากขึ้น ซึ่งมีการศึกษา พบว่าประมาณร้อยละ 90 ของผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน จะมีอาการในกลุ่ม DES หรือ CVS ซึ่งอาการดังกล่าวอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพดวงตาและคุณภาพชีวิตได้ ดังนี้คือ
อาการเมื่อยล้าสายตาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (digital eye strain: DES) หรือความผิดปกติทางสายตาจากการใช้คอมพิวเตอร์ (computer vision syndrome: CVS)
ภาวะอาการเมื่อยล้าสายตา (eye strain) เป็นกลุ่มอาการ (symptoms) ที่แสดงความผิดปกติของตาที่เกิดจากการใช้สายตาในกิจกรรมที่ต้องอาศัยการมอง เพ่งหรือจ้องเพื่อการโฟกัสการมองเห็น เป็นระยะเวลานาน โดยหากสาเหตุนั้นเกิดจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จะเรียกว่ากลุ่มอาการ digital eye strain: DES ซึ่งมีความใกล้เคียงกับกลุ่มอาการทางตาจากการใช้คอมพิวเตอร์ (computer vision syndrome: CVS) โดยบางแหล่งที่มาให้ถือว่าเป็นกลุ่มอาการเดียวกัน
อาการแสดง
ค่อนข้างแสดงอาการได้หลากหลาย และยังไม่มีอาการที่จำเพาะ โดยส่วนใหญ่จะมีอาการ ตาแห้ง (dry eyes), ตาล้า (eyestrain), มองเห็นพร่ามัว (blurred vision), ปวดศีรษะ (headaches), ปวดตึงคอบ่าและไหล่ (neck & shoulder pain) หรือพบอาการที่รุนแรงเช่น ไม่สามารถมองเห็นแสงจ้าได้ตามปกติ (light sensitivity หรือ photophobia)
อาการที่พบบ่อย
จากการรวบรวมข้อมูลอาการแสดงของ DES หรือ CVS ของกลุ่มบุคคลที่ทำงานในสำนักงาน (office workers) พบอาการแสดงที่พบบ่อยดังตาราง
ตารางที่ 1 แสดงร้อยละความถี่ของอาการแสดงกลุ่มโรค DES หรือ CVS
อาการแสดง (symptoms)
|
ร้อยละของอาการแสดงที่รายงาน
|
อาการตาเหนื่อย, ตาขี้เกียจ (tired eyes)
|
39.8
|
ตาแห้ง (dry eyes)
|
31.5
|
ไม่สบายดวงตา (eye discomfort)
|
30.8
|
อาการตาล้า (eye strain)
|
30.6
|
ระคายเคืองตา (irritated หรือ burning eyes)
|
27.5
|
ตาไม่สู้แสง (sensitivity to bright light)
|
26.3
|
มองเห็นพร่ามัว (blurred vision)
|
23.4
|
ปวดศีรษะ (headache)
|
22.3
|
โฟกัสตำแหน่งภาพลำบาก (difficulty in refocusing)
|
21.6
|
จากอาการดังกล่าว สามารถจำแนกออกเป็น 2 กลุ่มตามพยาธิสภาพ คือ
1.อาการที่เกิดจากพยาธิสภาพภายนอก (external symptom) เช่น อาการตาแห้ง, ระคายเคืองตา, แสบตา
2.อาการที่เกิดจากพยาธิสภาพภายใน (internal symptom) เช่น อาการตาเหนื่อย, มองเห็นพร่ามัว, ปวดศีรษะ และ โฟกัสภาพลำบาก
ซึ่งจะเห็นได้ว่าภาวะ DES สามารถทำลายสุขภาพดวงตาทั้งโครงสร้างดวงตาด้านนอกและระบบการมองเห็นด้านใน ดังนั้นภาวะ DES จึงควรเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการที่หลายท่านควรให้ความสำคัญและรู้จักป้องกันและแก้ไขอย่างถูกวิธี
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอาการ DES
1.การจ้องมองสื่อดิจิตอลเป็นระยะเวลานาน และไม่มีการหยุดพักสายตา
2.แสงสว่างของหน้าจอ และแสงสว่างภายในห้องไม่เหมาะสม
3.มีแสงสะท้อนจากหน้าจอสื่อดิจิตอล
4.ระยะห่างของจอสื่อดิจิตอลไม่เหมาะสม
5.ระดับสายตาในการมองไม่เหมาะสม
6.ท่าทางในการทำงานไม่เหมาะสม
โดยสาเหตุของอาการ DES ล้วนมาจากพฤติกรรมและกิจวัตรทั้งสิ้น เช่น การจ้องมองสื่อดิจิตอลอย่างยาวนาน, กระพริบตาน้อยกว่าปกติ, ไม่พักผ่อนสายตา และสาเหตุจากสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ตำแหน่ง ระยะห่าง แสง และความสว่าง ซึ่งทั้งสาเหตุเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขและป้องกันได้
การป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยง
1.ปรับระดับสายตาให้เหมาะสม
การปรับระดับสายตาในที่นี้ หมายถึง การจัดท่าทางของการทำงานหรือเรียนให้เหมาะสม ผ่านการควบคุมตำแหน่งของจอ ตำแหน่งของอุปกรณ์อื่นๆ ระยะห่าง และการจัดวางท่าทางการนั่ง ซึ่งควรปรับให้ถูกต้องดังนี้
1.1) ระยะห่างระหว่างสายตากับจุดศูนย์กลางจอคอมพิวเตอร์ควรห่าง 20-28 นิ้ว และหน้าจอคอมพิวเตอร์ควรอยู่ต่ำกว่าระดับสายตา 15-20 องศา
1.2) แป้นพิมพ์หรืออุปกรณ์ที่ใช้เขียนควรอยู่ต่ำกว่าจอโดยให้ข้อมือและแขนขนานกับพื้น ข้อศอกตั้งฉาก ไม่อยู่ในลักษณะที่ต้องเอื้อม
1.3) ปรับระดับเก้าอี้ให้ฝ่าเท้าสามารถวางราบกับพื้นเท้าตั้งฉากต้นขาขนานกับพื้น
1.4) อุปกรณ์และสื่ออื่นๆเพิ่มเติม เช่น แท็บเล็ต ควรอยู่ในระดับและระยะเดียวกับจอ เพื่อลดการขยับหรือหันศีรษะไปมา ลดการปรับโฟกัสสายตาที่มากเกินไป
2.ปรับแสงสว่างให้เหมาะสม
การปรับแสงสว่างจะต้องทำควบคู่กันทั้งแสงสว่างจากจอคอมพิวเตอร์ และแสงสว่างภายในห้องหรือบริเวณที่ทำงาน
2.1) แสงสว่างจากจอคอมพิวเตอร์ ไม่ได้มีข้อกำหนดความสว่างที่ชัดเจน แต่แนะนำให้ปรับความสว่างหน้าจอและความแตกต่างของสีระหว่างพื้นหลังกับตัวอักษร ให้คมชัดและสบายตาที่สุด
2.2) แสงสว่างภายในห้องและภายนอก เช่น แสงจากหน้าต่าง, แสงจากหลอดไฟ แนะนำให้ปรับปริมาณแสงให้รู้สึกสบายตา ไม่จ้าหรือมืดจนเกินไป แต่ต้องระมัดระวังการเกิดแสงสะท้อนจากจอ (glare & reflection) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการระคายเคืองตาได้
นอกจากปริมาณความสว่างของแสงแล้ว ประเภทของแสงถือว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำลายสุขภาพดวงตาได้ โดยแสงจากสื่อดิจิตอลที่ส่งผลอันตรายต่อดวงตาได้มาก คือ แสงสีฟ้า (blue light) ซึ่งเป็นช่วงแสงขาว (visible light) ที่ความยาวคลื่น 380-500 nm จัดเป็นแสงที่มีพลังงานสูง (High energy visible: HEV) ซึ่งสามารถทะลุผ่านดวงตาและทำลายชั้นเรตินา (retinal layers) ได้ โดยจากข้อมูลพบว่าการที่ดวงตาได้รับแสงสีฟ้าเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดภาวะอาการตาล้า (digital eye strain), รบกวนสมดุลการนอนหลับ (circadian rhythm disruption) ผ่านกลไกการกดระดับเมลาโทนิน (melatonin suppression) และผลเสียในระยะยาวจากการที่ ชั้นเรตินาถูกทำลายมาเรื่อย ๆ ตามช่วงอายุ เรียกว่า โรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ (Age related Macular degeneration: AMD)
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องควบคุมปัจจัยเสี่ยงทั้งปริมาณของแสง และประเภทของแสงเพื่อลดสาเหตุกระตุ้นของอาการ DES และอาการร่วมอื่น ๆ โดยวิธีป้องกันอันตรายจากแสงสีฟ้า ทำได้ง่าย ๆ โดย ลดปริมาณการมองหน้าจอดิจิตอลที่เป็นแหล่งกำเนิดแสงสีฟ้า โดยเฉพาะช่วง 1-2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพราะนอกจากแสงจะทำลายดวงตาได้แล้ว ยังมีผลรบกวนสมดุลการนอนได้อีกด้วย หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้พิจารณาอุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติกรองแสงสีฟ้า (blue-blocking equipment) เช่น แว่นคอมพิวเตอร์กรองแสงสีฟ้า (blue-blocking spectacles), แผ่นหน้าจอกรองแสง (overlay screen) หรืออาจพิจารณาการใช้โหมดหน้าจอที่มีคุณสมบัติลดแสงสีฟ้า (filter app-blue light reduction mode) ก็จะสามารถลดปัจจัยกระตุ้นการเกิดอาการตาล้าได้
3.การพักสายตาระหว่างทำงาน
การทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน จะทำให้ดวงตาเหนื่อยล้าจากการเพ่งและโฟกัส โดยการที่สายตาจ้องมองวัตถุระยะใกล้ เป็นระยะเวลานาน ร่างกายจะตอบสนองจากการเพ่งโดยการกระพริบตาที่ความถี่น้อยลง ซึ่งปกติความถี่ของการกระพริบตา (blink rate) จะอยู่ที่มากกว่า 15 ครั้งต่อนาที แต่มีการศึกษาแสดงให้เห็นว่า หากมีการจ้องมองหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน อัตราการกระพริบตาจะน้อยลงเหลือ 6-7 ครั้งต่อนาที ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการ DES ได้ ดังนั้นควรพักสายตาเป็นระยะ ๆ ระหว่างการใช้คอมพิวเตอร์ โดยยึดหลักตามกฎ 20-20-20 ดังนี้คือ ในทุก ๆ 20 นาที ให้หยุดพักสายตาหรือหลับตานาน 20 วินาที และมองปรับโฟกัสเพื่อมองระยะไกล 20 ฟุต หรือ 6 เมตร โดยการพักสายตาแบบนี้เรื่อย ๆ จะลดอาการ DES ได้ โดยเฉพาะอาการตาแห้ง อาการแสบตาและปวดศีรษะ
การรักษาอาการ DES
ปัจจุบันยังไม่มียาหรือแนวทางการรักษาที่ชัดเจน เนื่องจากเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากพฤติกรรมที่สามารถปรับแก้ไขได้ โดยการรักษาหลักจะเป็นการรักษาตามอาการที่เป็น โดยอาการที่พบมากและรบกวนชีวิตประจำวัน[6] ได้แก่ อาการตาแห้ง ไม่สบายดวงตา แสบตา ตามลำดับ
อาการตาแห้ง (dry eyes disease: DED)
อาการตาแห้ง เป็นภาวะที่เกิดความผิดปกติของชั้นน้ำตา (tear film) ซึ่งประกอบด้วย ชั้นสารเมือก (mucus layer), ชั้นสารน้ำ (aqueous layer) และชั้นไขมัน (lipid layer) ซึ่งทั้งสามชั้นมีหน้าที่ ปกป้องและช่วยให้ความชุ่มชื้นกับดวงตา โดยหากเกิดความผิดปกติจะทำให้เกิดอาการตาแห้ง เช่น อาการฝืดเคืองดวงตา ระคายเคืองตา, เหมือนมีเศษฝุ่นผงเข้าตา, แพ้แสง, แพ้ลม, ตาพร่ามัว, น้ำตาไหลง่ายขึ้น เป็นต้น
การรักษาอาการตาแห้ง
ตามแนวทางปฏิบัติการรักษาอาการตาแห้งระดับปฐมภูมิ ได้แนะนำให้แยกประเภทของอาการตาแห้งออกเป็น 2 กลุ่มดังนี้
1.กลุ่มที่มีความผิดปกติในการสร้างน้ำตา (aqueous deficiency)
ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะสร้างน้ำตาจากต่อมน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ท่อน้ำตาอุดตัน, การใช้ยาบางชนิดที่มีผลทำให้ตาแห้ง หรือผู้ป่วยกลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren syndrome)
2.กลุ่มที่มีการระเหยของน้ำตาผิดปกติ (evaporative deficiency)
ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีการสร้างน้ำตาจากต่อมน้ำตาได้ปกติ แต่มีการระเหยของน้ำตาที่มากกว่าปกติ เกิดได้จาก
2.1) ปัจจัยภายใน เช่น ต่อมน้ำตามัยโบเมียนผิดปกติ (Meibomian gland dysfunction) ทำให้ขาดชั้นไขมันในการกักเก็บน้ำตา หรืออัตราการกระพริบตาน้อยลง ทำให้น้ำตาสูญเสียหรือระเหยได้มากและนานขึ้น
2.2) ปัจจัยภายนอก เช่น การขาดสารอาหารกลุ่มวิตามินเอ, การสวมใส่เลนส์สายตา (contact lens), โรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้, สภาพแวดล้อมอื่น ๆ เช่น แสงสีฟ้า, แสงจากสื่อดิจิตอล เป็นต้น
ซึ่งเป้าหมายของการรักษาอาการตาแห้งคือการบรรเทาอาการของผู้ป่วย โดยการทดแทนด้วยน้ำตาเทียม (artificial tears) ดังนั้นน้ำตาเทียมจึงเป็นทางเลือกหลักในการรักษาอาการตาแห้ง และสามารถใช้ได้กับอาการตาแห้งทุกชนิด ส่วนยาและหัตการอื่นๆ จะเลือกใช้ในลำดับถัดไปหลังจากประเมินอาการผู้ป่วยว่าไม่ตอบสนองต่อน้ำตาเทียมเท่าที่ควร เช่น การพิจารณาใช้ยาต้านการอักเสบกดภูมิคุ้มกัน (topical cyclosporine, topical steroid), ยากระตุ้นการสร้างเมือก (rebamipide) หรือหัตการและการผ่าตัด (การอุดท่อระบายน้ำตา: punctal occlusion, การผ่าตัดหนังตา: tarsorrhaphy)
น้ำตาเทียม (artificial tears)
น้ำตาเทียมสามารถแบ่งได้หลายประเภท และมีคำแนะนำการใช้ที่แตกต่างกัน ดังแสดง
ตารางที่ 2 แสดงประเภทและรายละเอียดของน้ำตาเทียม
ประเภทน้ำตาเทียม
|
รายละเอียด
|
แบ่งตามการใช้งาน
|
รูปแบบเปิดใช้ครั้งเดียว (single dose unit)
ปราศจากสารกันเสีย มีอายุหลังเปิดใช้งานไม่เกิน 1 วัน
|
รูปแบบเปิดใช้หลายครั้ง (multiple dose unit)
มีส่วนผสมของสารกันเสีย สามารถใช้ได้หลายครั้ง อายุหลังเปิดใช้ขึ้นกับองค์ประกอบภายใน
|
แบ่งตามรูปแบบผลิตภัณฑ์
|
รูปแบบสารละลาย (solution)
|
รูปแบบเจล (gel)
|
รูปแบบขี้ผึ้ง (ointment)
|
แบ่งตามสารสำคัญในตำรับ
|
สารให้ความชุ่มชื้น (demulcents)
|
สารให้ความชุ่มชื้น กลุ่ม cellulose derivative
ตัวอย่าง: carboxymethylcellulose sodium, hydroxyethyl cellulose, hydroxypropyl methylcellulose และ methylcellulose
|
สารให้ความชุ่มชื้นกลุ่ม dextran 70
|
สารให้ความชุ่มชื้นกลุ่ม gelatin
|
สารให้ความชุ่มชื้นกลุ่ม polyols
ตัวอย่าง: glycerin, polyethylene glycol 300, polyethylene glycol 400, propylene glycol
|
สารให้ความชุ่มชื้นกลุ่ม polyvinyl alcohol
|
สารให้ความชุ่มชื้นกลุ่ม povidone
|
สารหล่อลื่น (emollients)
|
สารหล่อลื่นกลุ่ม lanolin
ตัวอย่าง: lanolin, anhydrous lanolin
|
สารหล่อลื่นกลุ่มน้ำมัน
ตัวอย่าง: light mineral oil, paraffin, petrolatum, white wax
|
โดยสารสำคัญที่อยู่ในตำรับ ส่งผลต่อคุณสมบัติ ความหนืด, การยึดเกาะ, การกระจายตัว และการเคลือบผิวดวงตา โดยความหนืดของตำรับที่มากจะใช้กับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อน้ำตาเทียมที่มีความหนืดน้อย ดังนั้นการเลือกใช้น้ำตาเทียมให้เหมาะกับผู้ป่วย จึงเป็นสิ่งสำคัญ
เลือกน้ำตาเทียมอย่างไรให้เหมาะสมกับผู้ป่วย
จากการศึกษาของ Majid Moshirfar (2014) ได้แนะนำการเลือกน้ำตาเทียมโดยพิจารณาจากประเภทและความรุนแรงของโรค รวมไปถึงความต้องของผู้ป่วยรายบุคคล
โดยการพิจารณาน้ำตาเทียมจะพิจารณาตามประเภทและความรุนแรงดังนี้คือ
การรักษาขั้นที่ 1 ในขั้นแรกจะเริ่มพิจารณาการรักษาด้วยน้ำตาเทียมที่ประกอบด้วย cellulose derivative เป็นองค์ประกอบ เช่น carboxymethylcellulose (CMC), hydroxypropyl methylcellulose (HPMC)
การรักษาขั้นที่ 2 ในกรณีที่การรักษาขั้นที่ 1 ไม่ตอบสนองต่อการรักษาให้พิจารณาน้ำตาเทียมที่มีองค์ประกอบของ sodium hyaluronate เนื่องจากมีการศึกษา ที่แสดงให้เห็นว่า sodium hyaluronate มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าน้ำตาเทียมกลุ่ม cellulose derivative ในกลุ่มผู้ป่วยอาการตาแห้งระดับปานกลาง-รุนแรง แต่ประสิทธิภาพขององค์ประกอบทั้งสองไม่ต่างกันในกลุ่มผู้ป่วยอาการตาแห้งระดับอ่อน
การรักษาขั้นที่ 3 หากการรักษาข้างต้นไม่สามารถควบคุมอาการตาแห้งได้ อาจพิจารณาสูตรตำรับ ที่มีองค์ประกอบของ polyethylene glycol 400 (PEG400) หรือ propylene glycol (PG) เป็นต้น
ตารางที่ 3 แสดงการพิจารณาน้ำตาเทียมตามประเภทและความรุนแรง
อาการตาแห้ง (dry eye disease: DED)
|
ระดับความรุนแรง (severity)
|
aqueous deficiency
|
evaporative deficiency
|
First line therapy
(ผลิตภัณฑ์ความหนืดต่ำ)
|
Second line therapy (ผลิตภัณฑ์ความหนืดเพิ่มขึ้น)
|
ผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบของ propylene glycol, polyethylene glycol
|
ตาแห้งระดับอ่อน - ปานกลาง
|
ผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบ cellulose derivative
|
ผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบ
sodium hyaluronate 0.1-0.15 %
|
ตาแห้งระดับรุนแรง
|
ผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบsodium hyaluronate 0.2-0.4 %
|
ผลิตภัณฑ์ acetylcysteine eye drop 5 % (ภายใต้การดูแลของแพทย์)
|
การพิจารณาน้ำตาเทียมในเวลากลางคืน (bed time)
|
ในช่วงเวลาก่อนนอนอาจพิจารณาเพิ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาเทียมที่มีความหนืดเพิ่มมากขึ้น
เช่น รูปแบบตำรับเจลหรือขี้ผึ้ง ที่มีองค์ประกอบของ carbomer 980 gel หรือ liquid paraffin
|
ซึ่งกลุ่มอาการ computer vision syndrome (CVS) หรือ digital eye strain (DES) มีแนวโน้มเป็นสาเหตุของอาการตาแห้งประเภทที่ทำให้มีการระเหยของน้ำตามากผิดปกติ (evaporative deficiency) ซึ่งมีปัจจัยทางสื่อดิจิตอลเป็นปัจจัยกระตุ้นภายนอก โดยมักจะเกิดมากกว่าอาการความผิดปกติในการสร้างน้ำตา (aqueous deficiency) หรือบางรายอาจเกิดในรูปแบบผสม ดังนั้นการพิจารณาการเลือกใช้น้ำตาเทียม อาจพิจารณาเป็นลำดับขั้นของการรักษา หรืออาจพิจารณาเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีสารสำคัญลักษณะหนืดและยึดเกาะได้ดี เช่น propylene glycol, polyethylene glycol เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำตาโดยตรง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และเภสัชกร เนื่องจากผลการศึกษาด้านความปลอดภัยของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดูแลอาการตาล้า (ocular vitamin formulation)
แม้การรักษาหลักของ DES คือการปรับพฤติกรรมหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงร่วมกับการพิจารณาการใช้น้ำตาเทียมเพื่อบรรเทาอาการ แต่ถ้าหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงการใช้ น้ำตาเทียมเป็นประจำอยู่ตลอดโดยเฉพาะตำรับที่มีสารกันเสีย อาจทำให้อาการตาแห้ง ระคายเคืองตาแย่ลงได้ การเลือกดูแลและเสริมด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ช่วยบำรุงดวงตาและสายตาจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถพิจารณาประกอบได้
แอสตาแซนทิน (Astaxanthin)
Astaxanthin จัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบได้จากสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำทะเลธรรมชาติ ซึ่งมีการศึกษาทางคลินิกหลากหลายที่แสดงคุณประโยชน์ของสาร astaxanthin เช่น คุณประโยชน์ป้องกันโรคมะเร็ง, ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด และคุณประโยชน์อื่น ๆ รวมไปถึงประโยชน์ในการบำรุงและปกป้องดวงตา จากข้อมูลการศึกษาได้แสดงคุณประโยชน์ของการเสริมการรับประทาน astaxanthin ในกลุ่มอาการตาล้า (asthenopia)
การศึกษาทางคลินิกที่เกี่ยวข้อง (clinical trials)
อ้างอิงจากการศึกษาทางคลินิกของ Nitta และคณะ (2005) ได้แสดงผลของการรับประทาน astaxanthin ขนาด 6 มิลลิกรัม สามารถลดอาการล้าของตาจากการวัดด้วยแบบสอบถาม visual analogue scale (VAS) questionnaire ที่ระยะเวลานาน 4 สัปดาห์ อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับยาหลอก และสนับสนุนด้วยการศึกษาของ Shiratori (2005) และ Nagaki (2006) ที่ให้ผลในทำนองเดียวกันคือการรับประทาน astaxanthin ขนาด 6 มิลลิกรัม ติดต่อกันนาน 4 สัปดาห์สามารถลดอาการตาล้า (eyestrain), แสบตา (soreness), ตาแห้ง (dry eyes) และอาการตาพร่ามัว (blurry vision) อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับยาหลอก
ขนาดการรับประทานที่แนะนำ (dose recommendation)
Astanxanthin 6 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันนาน 4 สัปดาห์
กลไกของการออกฤทธิ์ (mechanism of action)
Astaxanthin มีส่วนช่วยลดการหดเกร็งกล้ามเนื้อรอบดวงตา เนื่องจากการเพ่งจ้องเป็นระยะเวลานานทำให้กล้ามเนื้อรอบดวงตาที่คอยควบคุมเลนส์ตาในการเปิดรับแสงเข้าชั้นเรตินา เกิดการหดเกร็ง (muscle spasm) และเกิดอาการล้าได้ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตไปยังชั้นเรตินา และลดการอักเสบของบริเวณเนื้อเยื่อ ciliary body ซึ่งเป็นส่วนควบคุมการสร้างน้ำตาและช่วยปรับความคมชัดของการมองเห็น
ลูทิน & ซีแซนทิน (lutein and zeaxanthin)
Lutein และ zeaxanthin เป็นสารในกลุ่ม carotenoids ที่พบมากในพืชผักและผลไม้สีเหลืองส้มและแดงและพืชสีเชียว ซึ่งสารทั้งสองมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ โดยมีคุณประโยชน์ต่อดวงตาค่อนข้างมาก เนื่องจากบริเวณจอประสาทตา จะมีจุดโฟกัสที่เรียกว่า แมคูลา ลูเทีย (macula lutea) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการะสะสมสารสีเหลือง จำพวก lutein และ zeaxanthin ในปริมาณมาก ซึ่งสารทั้งสองรวมไปถึงอนุพันธ์ meso-zeaxanthin จัดเป็นสารที่ช่วยป้องกันแสงที่ทำลายดวงตา โดยเฉพาะแสงสีฟ้า (macula block blue light) โดยจะต้านการเกิดออกซิเดชั่น ที่เซลล์รับแสง (photoreceptor cells) ช่วยปกป้องดวงตาจากการเสื่อมจอประสาทตา
การศึกษาทางคลินิกที่เกี่ยวข้อง (clinical trials)
จากการรวบรวมการศึกษาของ journal of Ophthalmology[29] เกี่ยวกับคุณประโยชน์ต่อดวงตาของ lutein และ zeaxanthin พบว่า การรับประทาน lutein และ zeaxanthin ส่งผลเพิ่มคุณภาพการมองเห็นต่อแสงได้ดีขึ้น รวมไปถึงลดโอกาสความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ (Age related Macular degeneration: AMD) และลดโอกาสความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น จากโรคเบาหวาน (diabetic retinopathy) อย่างมีนัยสำคัญ
จากการศึกษาทางคลินิกของ James M. (2017) และคณะ ได้แสดงข้อมูลของ การรับประทาน macular carotenoid supplements (MC) ในกลุ่มบุคคลที่ต้องใช้สายตาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานานตั้งแต่ 6 ชั่วโมงขึ้นไป (high screen time exposure) พบว่าการรับประทาน MC ซึ่งประกอบด้วย lutein, zeaxanthin และ meso-zeaxanthin ขนาดรวม 24 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 6 เดือน พบว่ากลุ่มอาการ DES เช่น อาการล้าสายตา, ปวดศีรษะ รวมไปถึงการรบกวนสมดุลการนอนหลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก
ขนาดการรับประทานที่แนะนำ (dose recommendation)
ปัจจุบันปริมาณของ lutein และ zeaxanthin ที่ควรได้รับแต่ละวัน (dietary recommended intake: DRI) ยังไม่ได้มีคำแนะนำกำหนดชัดเจน แต่ขนาดของการศึกษาที่ให้คุณประโยชน์กับการบำรุงดวงตาคือ ปริมาณ lutein 2.5 - 30 มิลลิกรัมต่อวัน และ zeaxanthin 0.4-2.0 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งปริมาณดังกล่าวสามารถรับได้จากอาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวันในปริมาณสัดส่วนที่แสดงดังตารางที่ 4 หรือในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบของ lutein ขนาด 10 มิลลิกรัมร่วมกับ zeaxanthin ขนาด 1 มิลลิกรัม เป็นระยะเวลานาน 6-12 เดือน เป็นต้น
ปัจจุบันยังไม่มีกลไกที่ชัดเจนของ lutein และ zeaxanthin ที่อธิบายการชะลอการเสื่อมของจอประสาทตาและลดอาการล้าทางสายตา แต่สารทั้งสองมีบทบาทช่วยกรองแสงสีฟ้า (blue light) ซึ่งเป็นแสงพลังงานสูง โดยสามารถกรองแสงสีฟ้าได้ถึงร้อยละ 40 ของปริมาณแสงที่ผ่านชั้นเรตินา ซึ่งช่วยลดการทำลายดวงตา จากพลังงานแสงและคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยลดสภาวะเครียดออกซิเดชั่น (oxidative stress) ต่อจอประสาทตาได้อย่างมีนัยสำคัญ
ตารางที่ 4 แสดงปริมาณ lutein และ zeaxanthin ในอาหาร
อาหาร*
|
ปริมาณ ลูทีน/ซีแซนทีน
(มิลลิกรัมต่อ น้ำหนักสด 100 กรัม)
|
ผักคะน้า (สุก) (Kale, cooked)
|
15.8
|
ผักป่วยเล้ง ดิบ (raw Spinach; Spinacia Oleracea L.)
|
11.9
|
ผักป่วยเล้ง สุก (cooked Spinach; Spinacia Oleracea L.)
|
7.1
|
ผักกาดแก้ว (ดิบ) (Lettuce, raw)
|
2.6
|
บร็อคโคลี่ (สุก) (Broccoli, cooked)
|
2.2
|
ข้าวโพด (ชนิดหวาน, สุก) (Sweet corn, cooked)
|
1.8
|
ถั่วลันเตา (เขียว, สุก) (Green pea, cooked)
|
1.4
|
แขนงกะหล่ำ (สุก) (Brussels sprouts, cooked)
|
1.3
|
กะหล่ำปี (ขาว, ดิบ) (White cabbage, raw)
|
0.3
|
ไข่แดง (ขนาดกลาง) (Egg yolk, medium)
|
0.3
|
*เฉพาะส่วนที่รับประทานได้
นอกเหนือจากสารต้านอนุมูลอิสระอย่าง astaxanthin lutein และ zeaxanthin ที่มีผลช่วยลดอาการสายตาล้าแล้วแล้วยังพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดูแลดวงตาอื่นๆ เช่น สารสกัดจากบิลเบอร์รี่ (bilberry extract) ที่เป็นอีกหนึ่งสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยบำรุงสายตา ลดอาการตาล้า ชะลอการเกิดภาวะจอประสาทตา ถูกทำลายจากแสงได้อีกด้วย[34] นอกเหนือจากนั้นการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำพวกกรดไขมันโอเมก้า 3 (omega-3 fatty acid) ใน fish oil ยังมีส่วนช่วยลดอาการตาแห้ง (DED) ซึ่งเป็นปัญหาหลักสำคัญของกลุ่มอาการ DES ได้ค่อนข้างดี ทั้งนี้ทั้งนั้นควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งในการเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อความปลอดภัยและการรับประทานอย่างถูกต้อง
สรุป
ภาวะอาการเมื่อยล้าทางสายตา (eye strain) เป็นกลุ่มอาการที่พบได้ทุกเพศและทุกวัย และพบมากขึ้นในยุคปัจจุบัน เนื่องจากมีอัตราการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น ทำให้เกิดปัญหาทางสายตาตามมาเช่น อาการตาเหนื่อย, ตาล้า, ตาแห้ง, ระคายเคืองตา รวมไปถึงอาการปวดศีรษะ คอ บ่า ไหล่ ร่วมด้วย ซึ่งในปัจจุบันการรักษาที่ดีที่สุดคือการป้องกันการเกิดอาการดังกล่าว โดยการปรับพฤติกรรม เช่น ลดระยะเวลาการมองหน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ หรือปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น ปรับระดับสายตาให้เหมาะสม, ปรับแสงสว่างให้เหมาะสม รวมไปถึงการพักสายตาระหว่างทำงานอยู่ตลอด ร่วมกับการรักษาอาการเบื้องต้น เช่น การพิจารณาการใช้น้ำตาเทียมเพื่อบรรเทาอาการตาแห้ง หรือการเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนช่วยดูแลดวงตา เช่น astaxanthin, lutein, zeaxanthin, billbery extract หรือ fish oil เป็นต้น
เรียบเรียงโดย
ภก.กิตติศักดิ์ งิ้วลาย
เอกสารอ้างอิง
1.กรมควบคุมโรค. “Social Distancing” กับ 8 วิธี ป้องกันโรคโควิด-19 [อินเตอร์เน็ต]. Ddc.moph.go.th. 2021 [เข้าถึงเมื่อ 13 สิงหาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=12278&deptcode=brc
2.สถิติการใช้งาน Digital ประเทศไทย ปี 2021 [อินเตอร์เน็ต]. Digital Marketing Blog by Aj.Lalita. 2021 [เข้าถึงเมื่อ 13 สิงหาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://ajlalita.com/thailanddigital2021/
3.Sheppard AL, Wolffsohn JS. Digital eye strain: prevalence, measurement and amelioration. BMJ Open Ophthalmol. 2018 Apr 16;3(1)
4.Eyestrain - Diagnosis and treatment - Mayo Clinic [อินเตอร์เน็ต]. Mayoclinic.org. 2021 [เข้าถึงเมื่อ 13 สิงหาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/eyestrain/diagnosis-treatment/drc-20372403
5.Computer vision syndrome (Digital eye strain) [อินเตอร์เน็ต]. Aoa.org. 2021 [เข้าถึงเมื่อ 13 สิงหาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www.aoa.org/healthy-eyes/eye-and-vision-conditions/computer-vision-syndrome?sso=y
6.Portello JK, Rosenfield M, Bababekova Y, et al. Computer-related visual symptoms in office workers. Ophthalmic and Physiological Optics 2012;32:375–82.
7.Computer Vision Syndrome (CVS) ตาไม่สบายเมื่อติดจอคอม | Bangkok Hospital [อินเตอร์เน็ต]. Bangkokhospital.com. 2021 [เข้าถึงเมื่อ 13 สิงหาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www.bangkokhospital.com/content/computer-vision-syndrome
8.Right Position Computer Illustrations & Vectors. [อินเตอร์เน็ต]. 2021 [เข้าถึงเมื่อ 13 สิงหาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www.dreamstime.com/illustration/right-position-computer.html
9.Blue Light and Screen Time Guide for Schools and Educators . [อินเตอร์เน็ต]. Eyesafe.com. 2021 [เข้าถึงเมื่อ 13 สิงหาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://eyesafe.com/wp-content/uploads/2020/02/eyesafe-blue-light-screen-time-guide-schools-educators1.pdf
10.Blue Light and Digital Eye Strain [อินเตอร์เน็ต]. American Academy of Ophthalmology. 2021 [เข้าถึงเมื่อ 13 สิงหาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www.aao.org/eye-health/tips-prevention/blue-light-digital-eye-strain
11.The 20-20-20 Rule | The Canadian Association of Optometrists [อินเตอร์เน็ต]. Opto.ca. 2021 [เข้าถึงเมื่อ 13 สิงหาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://opto.ca/health-library/the-20-20-20-rule
12.Akpek EK, Amescua G, Farid M, Garcia-Ferrer FJ, Lin A, et.al. American Academy of Ophthalmology Preferred Practice Pattern Cornea and External Disease Panel. Dry Eye Syndrome Preferred Practice Pattern®. Ophthalmology. 2019 Jan;126(1):P286-P334.
13.Guideline for the treatment of dry eye syndrome in Primary Care. [อินเตอร์เน็ต]. Gp-portal.westhampshireccg.nhs.uk. 2021 [เข้าถึงเมื่อ 13 สิงหาคม 2021]. เข้าถึงได้จาก: https://gp-portal.westhampshireccg.nhs.uk/wp-content/uploads/sites/3/2021/01/Guideline-for-treatment-of-dry-eye-sondrome-in-Primary-Care-January-21.pdf
14. The definition & classification of dry eye disease: report of the Definition and Classification Subcommittee of the International Dry Eye WorkShop. Ocul Surf. 2007; 5(2): 75-92. 2.
15. Albietz JM. Dry eye: an update on clinical diagnosis, management and promising new treatments. Clin Exp Optom. 2001; 84:1:4-18.
16.Cwiklik L. Tear fil lipid layer: a molecular level review. Biochim Biophys Acta. 2016
17.“ตาแห้ง” โรคใกล้ตัวที่ใครก็เป็นได้. [Internet]. gpo.or.th. 2021 [เข้าถึงเมื่อ 13 August 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www2.gpo.or.th/Portals/6/Newsletter/RDINewsYr23No3-7.pdf
18.Moshirfar M. et al. Artificia tears potpourri: a literature review. Clin Ophthalmol. 2014; 8: 1419-33
19.Brignole F, Pisella PJ, Dupas B, Baeyens V, Baudouin C. Efficacy and safety of 0.18% sodium hyaluronate in patients with moderate dry eye syndrome and superficial keratitis. Graefes Arch Clin Exp Ophthalmol. 2005 Jun;243(6):531-8.
20. Lee JH, Ahn HS, Kim EK, Kim TI. Efficacy of sodium hyaluronate and carboxymethylcellulose in treating mild to moderate dry eye disease. Cornea. 2011 Feb;30(2):175-9.
21.Perry HD. Dry Eye Disease: Pathophysiology, classification and diagnosis. Am J Manag Care. 2008;14:S79-S87
22.Computer eye strain formula™. [อินเตอร์เน็ต]. Eyescience.com. 2021 [เข้าถึงเมื่อ 13 สิงหาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://eyescience.com/wp-content/uploads/2019/07/Final-CVF-Brochure_Read.pdf
23.Nagaki Y, Mihara Y, Tsukahara H, et al. The supplementation effect of astaxanthin on accommodation and asthenopia. J Clin Therap Med. 2006; 22(1):41-54.
24.Nitta et al. Effects of astaxanthin on accommodation and asthenopia-Dose finding study in healthy volunteers. J. Clin. Therap. Med. 2005;21(6):637-650.
25.Shiratori et al. Effect of astaxanthin on accommodation and asthenopia- Efficacy identification study in healthy volunteers. J. Clin. Therap. Med. 2005;21(5):543-556.
26.Nagaki et al. The effects of astaxanthin on retinal capillary blood flow in normal volunteers. J. Clin. Therap. Med. 2005;21(5):537-542.
27.Suzuki et al. Suppressive effects of astaxanthin against rat endotoxin-induced uveitis by inhibiting the NF-kB signaling pathway. Exp. Eye Res. 2006;82:275-281.
28.Lutein and Zeaxanthin - Eye and Vision Benefits [อินเตอร์เน็ต]. All About Vision. 2021 [เข้าถึงเมื่อ 13 สิงหาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www.allaboutvision.com/nutrition/lutein.htm
29.Scripsema NK, Hu DN, Rosen RB. Lutein, Zeaxanthin, and meso-Zeaxanthin in the Clinical Management of Eye Disease. J Ophthalmol. 2015;2015:865179.
30.Stringham JM, Stringham NT, O'Brien KJ. Macular Carotenoid Supplementation Improves Visual Performance, Sleep Quality, and Adverse Physical Symptoms in Those with High Screen Time Exposure. Foods. 2017 Jun 29;6(7):47.
31.Mangels AR, Holden JM, Beecher GR, Forman MR, Lanza E. Carotenoid content of fruits and vegetables: an evaluation of analytic data. J Am Diet Assoc 1993;93:284-96.
32.Sommerburg O, Keunen J, Bird A, van Kuijk F. Fruits and vegetables that are sources of lutain and zeaxanthin: the macular pigment in human eyes. Br J Ophthalmol 1998;82:907-10.
33.กินอะไร ชะลอจอประสาทตาเสื่อม | by Faculty of Pharmacy, Mahidol University. [อินเตอร์เน็ต]. Pharmacy.mahidol.ac.th. 2021 [เข้าถึงเมื่อ 13 สิงหาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://pharmacy.mahidol.ac.th/en/knowledge/article
34.Bilberry Extract: Benefits for Eyes, Health and Optimal Dosage [อินเตอร์เน็ต]. Performance Lab®. 2021 [เข้าถึงเมื่อ 13 สิงหาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www.performancelab.com/blogs/vision/bilberry-extract-benefits-for-eyes-health-and-optimal-dosage
35.The Benefits of Fish Oil for Dry Eye [อินเตอร์เน็ต]. American Academy of Ophthalmology. 2021 [เข้าถึงเมื่อ 13 August 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www.aao.org/eye-health/tips-prevention/does-fish-oil-help-dry-eye