อาการเสียวฟัน ปัญหากวนใจ ทำอย่างไรถึงหาย
10 Jan, 2024 / By
salacrm01
อาการเสียวฟัน ปัญหากวนใจ ทำอย่างไรถึงหาย
อาการเสียวฟัน เป็นการตอบสนองของเนื้อฟันต่อสิ่งกระตุ้น ซึ่งเกิดจากการเสียผิวหน้าฟันหรือชั้นเคลือบฟัน เช่น ฟันสึก รากฟันเสียหาย เหงือกร่นมากกว่า 1 มิลลิเมตร ฟันผุ ฟันร้าว ชั้นเนื้อฟันที่อยู่ด้านในจะมีโอกาสสัมผัสกับสิ่งแวดล้อม และเมื่อส่วนของประสาทฟันที่อยู่บริเวณเนื้อฟันไร้การปกป้อง จึงทำให้ไวต่อความรู้สึกจึงรู้สึกเสียวฟันได้เมื่อมีความร้อน ความเย็นมาสัมผัส หรือการสัมผัสโดยตรง เช่น การแปรงฟัน
อาการเสียวฟันเกิดจากอะไร
- ภาวะเหงือกร่นเนื่องจากอายุ หรือการแปรงฟันที่ไม่เหมาะสม
- การดื่มเครื่องดื่มที่เป็นกรด เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ น้ำมะนาว ไวน์ ลูกอมที่มีความเป็นกรดสูง ก่อให้เกิดการกัดกร่อนเคลือบฟัน
- การบดฟัน เช่น การนอนกัดฟัน
- การแปรงฟันด้วยยาสีฟันด้วยการขัดถูมาก ๆ การแปรงฟันไม่ถูกวิธี หรือ การแปรงฟันมากกว่าสามครั้งต่อวัน อาจทำให้เกิดการสูญเสียของสารเคลือบฟัน
- ฟันบิ่นหรือหักอาจทำให้เผยให้เห็นเนื้อฟัน
วิธีแก้อาการเสียวฟัน ทำอย่างไร
- การใช้ยาสีฟันสูตรพิเศษที่จะช่วยลดอาการเสียวฟันเป็นประจำทุกวัน เช้า-เย็น โดยสังเกตุได้จากส่วนประกอบในยาสีฟันจะมีส่วนประกอบที่ช่วยลดอาการเสียวฟัน ได้แก่
- ฟลูออไรด์ (Fluoride) มีกลไกการออกกฤทธิ์โดยสร้างชั้นแร่ธาตุมาปกคลุมและปิดท่อเนื้อฟัน มักอยู่ในรูปของสารประกอบดังนี้ โซเดียมฟลูออไรด์ (Sodium Fluoride), สแตนนัสฟลูออไรด์ (Stannous Fluoride)
- สตรอนเทีนมคลอไรด์ (Strontium chloride) กลไกลดการเสี่ยวฟันโดยการแทรกซึมเข้าในเนื้อฟันและ สะสมในท่อเนื้อฟัน รวมทั้งยับยั้งการส่งกระแสประสาททำให้ความรู้สึกเสียวฟันลดลง
- โพแทสเซียมไนเตรต (Potassium nitrate) กลไกการออกฤทธิ์เกิดจากการยับยั้งการส่งกระแสประสาทเมื่อถูกกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่จะทำให้เกิดอาการเสียวฟัน
ข้อควรระวัง ควรระวังการกลืนยาสีฟัน ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไป เนื่องจากอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย โดยปริมาณยาสีฟันที่แนะนำในแต่ละช่วงอายุ
- ฟันซี่แรกขึ้นถึงอายุต่ำกว่า 3 ปี: แตะขนแปรงพอเปียก
- อายุ 3 ปีถึงน้อยกว่า 6 ปี: เท่ากับความกว้างของแปรง
- อายุ 6 ปีขึ้นไป: เท่ากับความยาวแปรง
- แปรงฟันให้ถูกวิธี การแปรงฟันอย่างถูกวิธีจะช่วยป้องกันการเสียดสีของสารเคลือบฟัน และภาวะเหงือกร่นได้ โดยให้แปรงจากโคนฟันไปทางปลายฟัน แปรงทั้งด้านนอกและด้านในของฟัน และแปรงเข้าไปถึงฟันซี่ในสุดด้วย วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
- ใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม แปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็งเกินไปอาจทำให้คอฟันสึกได้
- เลี่ยงการเคี้ยวของแข็ง และอาหารรสเปรี้ยว เพราะกรดอาจไปทำลายผิวเคลือบฟัน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ฟันกร่อน หรือฟันผุได้ในเวลาต่อมา
- ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำทุกวัน ใช้ไหมขัดฟันเบา ๆ วันละครั้งก่อนนอน เพื่อลดคราบพลัคที่ทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบ ซึ่งจะเป็นที่มาของปัญหาทั้งเหงือกร่น ฟันผุ และเสี่ยวฟันในที่สุด
- พบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อตรวจสอบสุขภาพฟัน
อย่างไรก็ตามหากทำตามคำแนะนำข้างต้นแล้วอาการเสียวฟันยังคงไม่ดีขึ้น แนะนำพบทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุของอาการเสียวฟัน และรักษาให้ถูกต้องตามต้นเหตุ
เรียบเรียงโดย
ภญ.จุฬาลักษณ์ วุฒิวรจินดา
อ้างอิง
1.ศิริพร ศรีบัวทอง. อาการเสียวฟัน [อินเทอร์เน็ต]. 2545[เข้าถึงเมื่อ 12 มี.ค. 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/reg45/article/download/138878/103173/368699
2.พุทธิพร จิระธนากร. อาการเสียวฟัน [อินเทอร์เน็ต]. 2553 [เข้าถึงเมื่อ 12 มี.ค. 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/VMED/article/download/450/397
3.โรงพยาบาลศิครินทร์.“เสียวฟัน” ปัญหาอันตรายของสุขภาพช่องปาก[อินเทอร์เน็ต]. 2562 [เข้าถึงเมื่อ 12 มี.ค. 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://www.sikarin.com/health/%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%9F%E0%B8%B1%E0%B8%99-%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2