หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > เกิดอะไรขึ้นหลังจากติดเชื้อไวรัสโควิด-19
เกิดอะไรขึ้นหลังจากติดเชื้อไวรัสโควิด-19
เกิดอะไรขึ้นหลังจากติดเชื้อไวรัสโควิด-19
31 Dec, 2022 / By salacrm01
Images/Blog/C19XuvtQ-long-covid.jpg

เกิดอะไรขึ้นหลังจากติดเชื้อไวรัสโควิด-19

      โรคโควิด-19 (Coronavirus disease 2019) เกิดจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัส (Severe acute respiratory syndrome coronavirus 2; SARS-CoV-2) เป็นโรคที่มีการระบาดมากในปัจจุบันและยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประชากรโลก โดยผู้ป่วยอาจมีอาการหลากหลาย ขึ้นอยู่กับชนิดและสายพันธ์ที่ได้รับเชื้อ และยังขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละราย โดยบางรายอาจไม่แสดงอาการ บางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีการติดเชื้อรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อปอดและอวัยวะที่อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากผู้ป่วยจะมีอาการต่าง ๆ ขณะมีการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว เมื่อหายจากการติดเชื้อโดยตรวจไม่พบเชื้อแล้ว ผู้เคยมีประวัติติดเชื้อหลายท่าน ต้องประสบกับปัญหาภาวะลองโควิด (Long COVID) ซึ่งเป็นภาวะที่ส่งผลรบกวนการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก และอาจรุนแรงไม่แพ้อาการขณะที่ยังมีการติดเชื้ออีกด้วย

      ภาวะ Long COVID หรือ Post Covid พบได้ประมาณร้อยละ 15-30 ของจำนวนผู้หายจากการติดเชื้อโควิด โดยอาจพบอาการที่เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ – 2 เดือน หลังจากตรวจพบเชื้อครั้งแรก แต่ผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการเร็วหรือช้ากว่านั้น โดยทั่วไปเนื่องจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อที่ส่งผลต่อเนื้อเยื่อปอดและการทำงานของปอด รวมถึงขณะมีการติดเชื้อร่างกายจะมีการตอบสนองผ่านกระบวนการต้านการอักเสบที่ควบคุมโดยระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้นอาการของผู้ป่วย Long COVID มักจะพบเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจและระบบภูมิคุ้มกันได้เป็นส่วนมาก โดยอาการที่พบแบ่งตามระบบการทำงานของร่างกายได้ ดังนี้

1.ระบบทั่วไปของร่างกาย (Systemic) - อ่อนเพลีย อ่อนล้า ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ

2.ระบบหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular) - ใจสั่น เจ็บหน้าอก เหนื่อยเรื้อรัง

3.ระบบทางเดินหายใจ (Pulmonary) - เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไอเรื้อรัง

4.ระบบผิวหนัง (Skin) - ผมร่วง ผื่นลมพิษ

5.ระบบประสาท (Neurological) - หลงลืม ปวดศีรษะ อ่อนแรงเฉพาะที่เฉียบพลัน กล้ามเนื้อลีบ มึนศีรษะ สุขภาพจิต วิตกกังวล นอนไม่หลับ ซึมเศร้า

     การวินิจฉัยภาวะ Long COVID จะขึ้นอยู่กับการซักประวัติการเจ็บป่วยและการตรวจร่างกายโดยแพทย์ ซึ่งอาจมีการทำแบบประเมิน ทั้งในรูปแบบการตอบคำถาม การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการทดสอบสมรรถภาพทางกาย เช่น การทดสอบสมรรถภาพการทำงานของปอด

การรักษาภาวะ Long COVID

     การรักษาภาวะ Long COVID จะขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรง และปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละราย โดยตัวอย่างการรักษาเบื่องต้นตามคำแนะนำจากแนวทางการดูแลผู้ป่วย ที่จัดทำขึ้นโดยกรมการแพทย์ มีดังต่อไปนี้

    1. ระบบร่างกายทั่วไป กรณีที่มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อโดยไม่มีการอักเสบ เจ็บขณะกลืนน้ำลาย ต่อมน้ำเหลืองโตกดเจ็บ ปัญหาด้านความจำและสมาธิ นอนหลับไม่สนิท ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอยู่ต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือนหลังจากตรวจพบเชื้อและไม่มีปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเกิดอาการเหล่านี้ ควรได้รับการดูแลให้ครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม โดยสหวิชาชีพทั้งการรักษาแบบใช้ยาและไม่ใช้ยา โดยพิจารณาใช้ยาตามอาการที่พบตามความเหมาะสมภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกร สำหรับวิธีการดูแลที่ไม่ใช้ยาได้แก่ การทำ Cognitive behavioral therapy (CBT) หรือการทำจิตบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม การออกกำลังกาย เช่น การทำ Graded exercise therapy (GET) ซึ่งเป็นการออกกำลังกายแบบค่อยเป็นค่อยไปจากกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน โดยเพิ่มความหนักของกิจกรรมตามความเหมาะสม การทำ Muscle relaxation โดยการนวด การทำสมาธิฝึกการหายใจ การทำกิจวัตรประจำวันอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อนอกเหนือจากการรับประทานยายังสามารถใช้การประคบหรือนวดผ่อนคลายได้ตามความเหมาะสม

    2. ระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยอาการที่พบมากเช่น อาการใจสั่น เจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม จะต้องได้รับการดูแลรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ประเมินและพิจารณา

    3. ระบบทางเดินหายใจ ในผู้ที่มีอาการหอบเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่สะดวก ไอเรื้อรังสามารถทำการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดได้ ดังนี้ การออกกำลังกายชนิดแอโรบิคแบบเบา 4-6 สัปดาห์ การฝึกการหายใจเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจแนะนำทำ 6 สัปดาห์ การใช้เครื่องมือช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพปอด Spirometer กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบรุนแรงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจแนะนำให้ใช้วิธีการรักษาโดยใช้ออกซิเจนบำบัด

    4. ระบบผิวหนัง อาการที่พบอาจมีทั้ง ผมร่วง และผื่นแพ้คัน มีแนวทางประเมินดูแลรักษา ดังนี้

- ภาวะผมร่วง มักพบที่ระยะเวลา 1.5-2 เดือนหลังตรวจพบเชื้อโควิด ซึ่งจะเร็วกว่าผมร่วงจากสาเหตุอื่น ๆ ดังนั้นต้องวินิจฉัยแยกโรคก่อนว่าผู้ป่วยมีปัจจัยที่อาจทำใหเกิดภาวะผมร่วงได้หรือไม่ เช่น โรคและความผิดปกติอื่น ๆ ยาที่ใช้ เช่น ยาคุมกำเนิด ยารักษาไทรอยด์ ยากันชัก ยาจิตเวช ยาป้องกันเลือดแข็งตัว วิตามินเอชนิดรับประทาน การรักษากรณีที่ไม่พบปัจจัยที่เป็นสาเหตุและได้รับรับการวินิจฉัยว่าเกิดโรคผมผลัดเนื่องจากเซลล์ผมตายในภาวะ Long COVID แล้ว คือ การแนะนำการปฏิบัติตัว เช่น การดูแลทรงผมเพื่อพรางบริเวณที่มีผมร่วง เนื่องจากผมจะกลับมางอกขึ้นตามเวลาได้เองตามวงจรชีวิตของเซลล์ผม โดยอาการผมร่วงมักหายเร็วกว่าผมร่วงจากโรคและสาเหตุอื่น คือ ประมาณ 2 เดือน

- ผื่นลมพิษ อาการผื่นแพ้คัน ผื่นลมพิษหรืออาการแสดงทางผิวหนังที่เกิดในภาวะ Long COVID มีความหลากหลาย โดยต้องทำการวินิจฉัยแยกโรค หาสาเหตุอื่นที่อาจทำให้เกิดผื่นหรือกระตุ้นอาการคันให้ได้ก่อนเพื่อกำจัดต้นเหตุเหล่านั้นไป โดยหากกำจัดสาเหตุและปัจจัยกระตุ้นทั้งหมดแล้ว สามารถใช้วิธีการรักษาผื่นได้ตามปกติ คือ การใช้ยาแก้แพ้โดยสามารถใช้ได้ทั้งในรูปแบบยาทาและยารับประทาน ภายใต้การดูแลและคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรตามความเหมาะสม

5. ระบบประสาท แบ่งตามอาการที่พบได้ ดังนี้

- ภาวะสมองเสื่อม ภาวะสมาธิสั้น ต้องได้รับการประเมินความรุนแรงและรักษาตามแนวทางการรักษาภาวะสมองเสื่อม โดยใช้วิธีการรักษาแบบใช้ยาและไม่ใช้ยาควบคู่กัน เช่น กิจกรรมฝึกการทำงานของสมอง การออกกำลังกาย

- โรคหลอดเลือดสมอง ต้องรีบทำการส่งต่อผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดสมอง และรักษาตามแนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดสมองด้วยยาละลายลิ่มเลือดตามข้อบ่งใช้

- ปวดศีรษะจาก Long COVID สามารถใช้ยาบรรเทาอาการเช่น Paracetamol ยาบรรเทาอาการปวดลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตรียรอยด์ Non-steroidal anti-inflammatory; NSAIDs ยาบรรเทาอาการปวดศีรษะกลุ่ม Triptans กรณีมีอาการปวดเรื้อรังอาจพิจารณายากลุ่ม Tricyclic antidepressants หรือ Topiramate ในการป้องกันและบรรเทาอาการตามที่แพทย์และเภสัชพิจารณา โดยควรรักษาอาการร่วมให้ครอบคลุม เช่น ภาวะเครียด ภาวะซึมเศร้าวิตกกังวล

 

เรียบเรียงโดย

ภญ.พาณิชย์ ตั้งจักร์

เอกสารอ้างอิง

1. Pattira Tantipasawasin. The Post-COVID Condition (Long COVID). วารสารโรงพยาบาลชลบุรี. 2022;47(1)

2. กรมการแพทย์. การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลังรักษาหาย (Post COVID syndrome) หรือภาวะ Long COVID สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข. [อินเทอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 30 พ.ย. 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://covid19.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Covid_Health/Attach/25650126100932AM_%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%20Long%20COVID%20v.2.4.pdf

3. กรมการแพทย์. แนวปฏิบัติการดูแลรักษาอาการทางระบบทั่วไปของร่างกายในผู้ป่วยหลังติดเชื้อโควิด-19. [อินเทอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 30 พ.ย. 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://drive.google.com/file/d/1ztNT1jGmdOO3WYdqOVQrhn1rYiac7DpC/view

4. กรมการแพทย์. แนวปฏิบัติการดูแลรักษาอาการทางระบบประสาทในผู้ป่วยหลังติดเชื้อโควิด-19. [อินเทอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 30 พ.ย. 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://drive.google.com/file/d/1YbCftdiL9KqXeJ6J_pEAgYgI_cBovZ6h/view

5. กรมการแพทย์. แนวปฏิบัติการดูแลรักษาอาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยหลังติดเชื้อโควิด-19. [อินเทอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 30 พ.ย. 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://drive.google.com/file/d/1EuYgczvn8YS4HkfVkPY6i4RMYQk7kt7Y/view

6. กรมการแพทย์. แนวปฏิบัติการดูแลรักษาภาวะผมร่วงในผู้ป่วยหลังติดเชื้อโควิด-19 [อินเทอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 30 พ.ย. 2565]. เข้าถึงได้จาก:.https://drive.google.com/file/d/1k9YafTH2sKFeYyYgl7d2amgoWR8Hd-Ah/view

 

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.