แผลที่อวัยวะเพศจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
09 Feb, 2023 / By
salacrm01
แผลที่อวัยวะเพศจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
แผลที่อวัยวะเพศ (Genital ulcer) เป็นอาการนำที่สำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์หรือเภสัชกรที่ร้านยา ซึ่งแผลที่เกิดจากโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ซิฟิลิส แผลริมอ่อน และเริมที่อวัยวะเพศ ซึ่งทั้งสามโรคนี้สามารถพิจารณาจากอาการเจ็บของแผลและลักษณะของแผลที่ปรากฏเพื่อช่วยในวินิจฉัยได้ ดังรายละเอียดในตาราง
แผลที่อวัยวะเพศจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
|
ซิฟิลิส (Syphilis)
|
แผลริมอ่อน (Chancroid)
|
เริมที่อวัยวะเพศ (Herpes genitalis)
|
เชื้อก่อโรค
|
เชื้อแบคทีเรีย Treponema pallidum
|
เชื้อแบคทีเรีย
Haemophilus ducreyi
|
เชื้อไวรัส Herpes simplex virus
|
ระยะฟักตัว
|
9-90 วัน
|
1-14 วัน
|
2-7 วัน
|
ลักษณะรอยแผล
|
รอยแผลจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีการดำเนินของโรคมาน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ปี เรียกว่า ซิฟิลิสช่วงต้น ซึ่งแบ่งเป็น ระยะที่ 1 จะเกิดเป็นแผลที่มีขอบแข็ง ไม่เจ็บ ก้นแผลสะอาด โดยเกิดขึ้นภายใน 21 วันหลังได้รับเชื้อ และระยะที่ 2 เกิดขึ้น 6-8 สัปดาห์หลังจากระยะที่ 1 จะมีผื่นแดงเข้มที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ผื่นที่ทวารหนัก ผื่นในช่องปาก และมีผมร่วงเป็นหย่อมเล็กกระจายทั่วศีรษะ
|
เริ่มด้วยตุ่มแดง หรือตุ่มหนอง แล้วแตกเป็นแผลขอบไม่เรียบ แผลลึกเซาะออกด้านข้าง ก้นแผลสกปรก อาจมีหนอง มีอาการเจ็บแผลร่วมด้วย ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยมักพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบบวมโต กดเจ็บ ภายในมีหนองอาจแตกได้
- ผู้ชาย : มักเป็นบริเวณหนังหุ้มปลาย องคชาตและองคชาต
- ผู้หญิง : มักเป็นบริเวณปากช่องคลอดและแคมเล็ก
|
เริ่มด้วยการมีตุ่มน้ำใสเป็นกลุ่มร่วมกับอาการเจ็บ แสบ และคัน ต่อมาตุ่มน้ำใสจะแตกออกเป็นแผลเล็ก หรือรวมกันเป็นแผลใหญ่ และอาจมีอาการไข้ ปวดเมื่อยตัว หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบบวมโตได้
- ผู้ชาย : มักเป็นบริเวณหนังหุ้มปลาย
องคชาตและองคชาต
- ผู้หญิง : มักเป็นบริเวณปากช่องคลอด ช่องคลอด และก้น
|
ยาที่ใช้รักษา
|
ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียมีทั้งรูปแบบยากินและรูปแบบยาฉีด
|
ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียมีทั้งรูปแบบยากินและรูปแบบยาฉีด
|
ยาฆ่าเชื้อไวรัสมีทั้งรูปแบบยากินและรูปแบบยาฉีด ในรายที่ติดเชื้อครั้งแรกระยะเวลาการรักษา 7-10 วัน จะยาวนานกว่าในรายที่เกิดโรคซ้ำ ที่ใช้เวลารักษา 1 วัน หรือ 3-5 วัน ขึ้นอยู่กับตัวยาที่ได้รับ
|
การตอบสนองต่อยา
|
ต้องได้รับการตรวจผลทางห้องปฏิบัติการเพื่อพิจารณาการรับหรือหยุดการรักษา
|
หากตอบสนองต่อการรักษารอยโรคจะดีขึ้นใน 3-7 วัน
|
เมื่อมีการติดเชื้อ หลังจากรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อไวรัสแล้ว ร่างกายก็ไม่สามารถกำจัดเชื้อให้หมดไปได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสจะแฝงตัวอยู่ที่ปมประสาทและทำให้เกิดการกลับเป็นซ้ำได้ โดยมีปัจจัยกระตุ้น ได้แก่ ความเครียด ความเจ็บป่วย แสงแดด การมีประจำเดือน เป็นต้น
|
ดังนั้น เมื่อสังเกตพบว่าตนเองมีอาการแผลผิดปกติที่อวัยวะเพศที่สงสัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือเพิ่งมีความเสี่ยงในการติดโรค ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรร้านยา และงดการมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราวเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่นจนกว่าจะทราบผลการตรวจ ควรงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะได้รับการรักษาจนหาย และแนะนำให้คู่นอนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เข้ารับการตรวจรักษาด้วยเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ สำหรับวิธีการป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์คือ การมีคู่นอนคนเดียวและการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีและทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีแผลอวัยวะเพศจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาจมีความเขินอายในการแจ้งถึงอาการที่ตนเป็น หรือการเข้ารับการรักษา แต่สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้คือการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องน่าอาย และวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาคือ การเล่าถึงอาการ และรอยแผลที่ตนเป็นเพื่อเป็นข้อมูลในการวินิจฉัยแยกโรค เพื่อให้ได้รับยาที่ถูกต้องกับเชื้อก่อโรคและรักษาให้หายได้ในที่สุด
เรียบเรียงโดย
ภญ.กันธิชา ผสมพราหมณ์
เอกสารอ้างอิง
1.วาสนภ วชิรมน. Practical Dermatology. ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สาขาวิชาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, 2563
2.วันชัย เดชสมฤทธิ์ฤทัย, รณิษฐา รัตนะรัต, ปวีณา เชี่ยวชาญวิศวกิจ. ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: พริ้นท์เอเบิ้ล, 2559