สาเหตุของโรค
เกิดจากแมลงก้นกระดกปล่อยพิษที่มีชื่อว่า พิเดอริน (Pederin) ซึ่งมีลักษณะเป็นกรดที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนังแสบร้อนเป็นรอยไหม้ โดยส่วนมากมักเกิดจากการสัมผัส ปัด หรือบี้ตัวแมลง
อาการของโรค
- อาการผื่นผิวหนังจะยังไม่เกิดทันทีที่สัมผัส แต่จะเริ่มเกิดผื่นและรู้สึกปวดแสบปวดร้อน เมื่อผ่านไปประมาณ 24 ชั่วโมง
- ต่อมาจะเกิดเป็นผื่นแดงขอบเขตชัดเจน หรือรอยไหม้ลักษณะเป็นทางยาว ซึ่งเกิดจากการปัดด้วยมือ หรือบางรายจะเกิดผื่นที่บริเวณซอกรอยพับที่ประกบกัน
- เป็นผื่นคล้ายงูสวัด มักทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นงูสวัด
- ในบางคนที่แพ้พิษอาจมีอาการรุนแรง เช่น พุพอง คลื่นไส้ อาเจียน หรือเริ่มมีไข้ แต่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต
- โดยผื่นที่เกิดจากการสัมผัสแมลงก้นกระดกนี้แผลจะหายได้เองภายใน 7 - 10 วัน หายแล้วอาจจะทิ้งรอยดำไว้สักระยะหนึ่ง แต่มักไม่เกิดเป็นแผลเป็น นอกจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมที่บริเวณผื่นเดิม ทำให้ผื่นหายช้าลงและอาจลุกลามจนมีโอกาสเกิดเป็นแผลเป็น หลังจากผื่นหายแล้วได้
ความแตกต่างของผื่นแมลงก้นกระดกและผื่นงูสวัด
- งูสวัดจะเป็นผื่นตามแนวเส้นประสาท มีลักษณะเป็นทางยาว
- ผื่นแมลงก้นกระดกมักเป็นรอยแผลที่มีลักษณะสมมาตร ประกบกันได้พอดี เกิดขึ้นได้ทุกบริเวณ โดยเฉพาะบริเวณภายนอกเสื้อผ้า
*ข้อสังเกต*
ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก จะไม่มีอาการปวดร้าวตามแนวเส้นประสาทที่ตำแหน่งที่เกิดผื่น เหมือนเช่นในงูสวัด
การรักษา
1. ให้รีบล้างด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือใช้น้ำเกลือสำหรับล้างแผลล้างทันที
2. หากเกิดตุ่มน้ำและรอยแดงขึ้นแล้ว สามารถทายา เพื่อรักษารอยแดง ซึ่งจะหายไปเองประมาณ 2-3 วัน ยาทาที่แนะนำจะใช้เป็นยาทาประเภทสเตียรอยด์
3. รอยดำที่เกิดขึ้นจะค่อย ๆ จาง และหายไปเอง มักไม่เกิดเป็นแผลเป็น
4. หากมีอาการรุนแรง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน กลืนลำบาก ท้องเสีย หรือมีไข้ เนื่องจากแพ้พิษให้รีบพบแพทย์
5. หลีกเลี่ยงการเกาและสัมผัส
วิธีป้องกัน
1. หากพบแมลงก้นกระดกหากสัมผัสโดยการปัดหรือบดขยี้ ควรใช้วิธีเป่าหรือสะบัดออก
2. ปิดหน้าต่างและประตูให้สนิท ตรวจเช็คบริเวณที่นอนเสมอว่าไม่มีแมลงอยู่
3. ก่อนนอนควรปัดที่นอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม ก่อน เพื่อป้องกันแมลงเกาะอยู่
4. สวมใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวในขณะนอนหลับ เพื่อปกปิดผิวหนังให้มากที่สุด
5. ในช่วงกลางคืนควรเปิดไฟเฉพาะเท่าที่จำเป็นโดยเฉพาะควรปิดไฟห้องนอน เพราะแมลงก้นกระดกมักชอบออกมาเล่นแสงไฟตามบ้าน
เรียบเรียงโดย
ภญ.ปาณิสรา สุขศิริพัฒนพงศ์
อ้างอิง
1.เพ็ญวดี พัฒนปรีชากุล. ผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก (Paederus dermatitis). Siriraj E-Public Library [Internet]. [cited 2018 Sep 29]. Available from: http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/epl/articledetail.asp?id=965
2.Srihari S, Kombettu AP, Rudrappa KG, Betkerur J. Paederus Dermatitis: A Case Series. Indian Dermatol Online J. 2017;8(5):361–4
3.Mammino JJ. Paederus Dermatitis: An Outbreak on a Medical Mission Boat in the Amazon. J Clin Aesthet Dermatol. 2011 Nov;4(11):44–6.