แสงสีฟ้า ภัยเงียบอย่าละเลย
25 Dec, 2022 / By
salacrm01
แสงสีฟ้า ภัยเงียบอย่าละเลย
แสงสีฟ้า (Blue Light) คืออะไร
แสงสีฟ้า (Blue Light) คือ คลื่นพลังงานแสงสีตามธรรมชาติที่แตกแยกออกมาจากรังสียูวี (Ultra violet) ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยมีความยาวคลื่นในช่วง 380 ถึง 500 นาโนเมตร และแสงสีฟ้าสามารถพบได้ในชีวิตประจำวันของเรา คือ แสงจากดวงอาทิตย์ที่ผ่านชั้นบรรยากาศ ซึ่งมีพลังงานสูงแต่ระยะของคลื่นสั้น จึงเกิดการปะทะระหว่างโมเลกุลของน้ำและอากาศจนกระจายฟุ้งออกทั่วท้องฟ้าในยามกลางวัน จึงทำให้ผู้คนมองเห็นท้องฟ้าเป็นสีฟ้า รวมทั้งจากสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ ไฟ LED และโทรทัศน์จอแบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าจอแสดงผลของคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ดิจิทัลอื่น ๆ ที่ปล่อยแสงสีฟ้าจำนวนมาก โดยปริมาณแสงที่อุปกรณ์เหล่านี้ปล่อยออกมาเป็นเพียงเศษเสี้ยวของแสงที่ดวงอาทิตย์ปล่อยออกมา
อันตรายของแสงสีฟ้าต่อดวงตา
ภัยอันตรายจากแสงสีฟ้า คือ ไม่ว่าจะเป็นแสงสีฟ้า จากโทรศัพท์ หรือจอจากอุปกรณ์ และแสงสีฟ้าธรรมชาติ สามารถสร้างคลื่นพลังงานสูงต่อเซลล์ภายในเลนส์ตา โดยเฉพาะจอตา (Retina) ที่ทำหน้าที่เป็นรูรับแสงแล้วส่งภาพไปยังจุดภาพชัด (Macula) ซึ่งอาจจะทำให้จอตาเสื่อมสภาพได้ โดยทั่วไปแสงสีฟ้าเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายต่อดวงตาที่ก่อให้เกิดภาวะ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1. โรคจอประสาทตาเสื่อม
โรคจอประสาทตาเสื่อม (Macular Degeneration) เกิดขึ้นจากภาวะจอตาบวม และจุดภาพชัด (Macula) รับคลื่นพลังงานแสงสีฟ้าเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้เกิดการเสื่อมสภาพทำให้การส่งสัญญาณการมองเห็นไปยังส่วนเส้นประสาทตา เกิดอาการตามัว การมองเห็นเสื่อมสภาพไปเรื่อย ๆ ทำให้เห็นภาพสีเพี้ยนมองไม่ชัด ตาไม่สู้แสง เห็นจุดดำตรงกลางภาพ หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ตาบอดได้ในที่สุด
2. อาการตาล้า ตาแห้ง
อาการตาล้า (Asthenopia) และตาแห้ง (Dry Eyes) เกิดขึ้นจากการจดจ้องคอมพิวเตอร์ที่มีรังสี UV คลื่นแสงสีฟ้าที่มีความเข้มข้นสูง ทำให้เกิดการคันตาและตาแดงร่วมด้วย เนื่องจากความยาวคลื่นของแสงสีฟ้านั้นสั้น แต่มีพลังงานสูง ซึ่งแสงสีฟ้าสามารถจะกระจายได้ง่ายกว่าแสงสีอื่น ๆ ที่มองเห็นได้ ทำให้ดวงตาปรับความคมชัดได้ยาก จึงเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเมื่อยล้าทางสายตาจากอุปกรณ์ดิจิตอล หากละเลยอาการดังกล่าว อาจนำไปสู่ภาวะผิวกระจกตาอักเสบพร้อมกับรอยแผลบนกระจกตาได้ อีกทั้งพื้นผิวกระจกตามีความขรุขระส่งผลให้เกิดความระคายเคืองแก่ดวงตาได้
3. ผลกระทบต่อการนอนหลับ
ผลกระทบต่อการนอนหลับ (Insomnia) การได้รับคลื่นพลังงานแสงสีฟ้ามากเกินไป มีผลต่อ นาฬิกาชีวิต (Circadian rhythm) ของระบบทำงานภายในร่างกายแต่ละบุคคลเปลี่ยนไป แสงสีฟ้าจากหน้าจอทำให้ต่อมไพเนียล (Pineal gland) ที่สร้างฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) จากสมองน้อยลงซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้มีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องกับการควบคุมการนอนหลับ สร้างผลกระทบทำให้นอนไม่หลับ และหลับไม่สนิท
วิธีปกป้องดวงตาจากแสงสีฟ้า
1. ใช้แว่นกรองแสงสีฟ้า
โดยการเลือกใช้เลนส์กรองแสงสีฟ้า สามารถช่วยลดภาระการใช้งานดวงตามให้เบาลง กล้ามเนื้อที่ใช้ในการเพ่งมองผ่านดวงตาลดความตึงเครียดลง และลดอาการอักเสบที่นำไปสู่ภาวะตาแดงได้
2. ปรับความสว่างแสงหน้าจอให้พอดี
ควรปรับระดับแสงจากหน้าจอเป็นสีแนวโทนอุ่น (Warm light) โดยให้สีของจอสอดคล้องกับแสงสว่างในห้องของผู้ใช้ให้พอดี หากทำงานเวลากลางคืน ควรเปิดโคมไฟแสงสีขาวคู่กับหน้าจอร่วมด้วย
3. การถนอมสายตาโดยใช้กฎ 20-20-20
ควรพักดวงตาที่ได้รับรังสีแสงสีฟ้าจากคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน หรือการทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ใช้สายตาจดจ้องมากเกินไป มีวิธีเริ่มต้นคือ การหลับตา หรือมองออกไปยังทิวทัศน์มุมอื่น ๆ ออกไปประมาณ 20 วินาที ในระยะอย่างน้อย 20 ฟุต (6 เมตร) ในทุก ๆ 20 นาทีในขณะทำกิจกรรม
4. ติดฟิล์มกรองแสงที่หน้าจอ
ฟิล์มกรองแสงบนจอคอม ช่วยป้องกันแสงสีฟ้าที่มีคลื่นรังสี UV พลังงานสูงแก่ดวงตาของผู้ใช้ ช่วยลดภาวะอาการตาล้า สายตามัว และตาเบลอ จากการจ้องจอนาน ๆ และชะลออายุดวงตาให้สามารถใช้งานได้นานมากขึ้น
5. ใช้น้ำตาเทียมช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น
น้ำตาเทียม (Artificial tears) เป็นสารที่มี มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับน้ำตาธรรมชาติ ช่วยหล่อลื่นและเพิ่มความชุ่มชื่นแก่ดวงตา บรรเทาอาการตาล้า ตาแห้ง จากการปะทะแสงสีฟ้าในจอคอม ให้หายอาการตาล้า บรรเทาความระคายเคืองในดวงตาให้ทุเลาลงได้
6. ตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำ
คนที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการใช้จอคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน เช่น พนักงานออฟฟิศ ฟรีแลนด์สายงานดิจิตอล โปรแกรมเมอร์ และอาชีพอื่น ๆ เกิดภาวะอาการตาล้าสะสมจากการจดจ้องหน้าจอคอมมากเกินไป หรือคนที่มีภาวะสายตาสั้นอยู่แล้ว และคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปที่เริ่มมีอาการสายตายาว สามารถทำการนัดตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อดูสภาพการทำงานของดวงตาปัจจุบัน พร้อมรับคำแนะนำวิธีถนอมสายตาจากแสงสีฟ้า อย่างการสวมใส่แว่นที่มีเลนส์กรองแสงสีฟ้า และการรับประทานอาหารเสริมบำรุงสายตา ได้แก่ ลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ซึ่งเป็นสารที่พบในบริเวณเนื้อเยื่อตา และพบมากที่สุดบริเวณจุดศูนย์กลางของจอประสาทตา เป็นสารต้านอนุมลอิสระ (Antioxidant) ที่ช่วยเรื่องการบำรุงสายตา ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต้อกระจก โรคจอตาเสื่อม ทั้งยังช่วยปกป้องเซลล์ของจอประสาทตาไม่ให้ถูกทำลายโดยการลดอนุมูลอิสระ และกรองแสงสีน้ำเงินที่จะทำลายดวงตา เป็นต้น
เรียบเรียงโดย
ภก.สุรพล พนมร่วมมิตร
อ้างอิง
1. Gary Heiting, OD . แสงสีฟ้า: คืออะไร และทำไมจึงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย . [อินเทอร์เน็ต]. เข้าถึงได้จาก https://www.allaboutvision.com/th-th/computer-vision-syndrome/blue-light/ llaboutvision.com. [เข้าถึงเมื่อ 1 ต.ค. 2565]
2. แพทย์หญิงยุพิน ลีละชัยกุล .มารู้จัก Computer Vision Syndrome (CVS) .[อินเทอร์เน็ต]. เข้าถึงได้จาก https://www.mission-hospital.org/images/pdf/7-Mission-hospital-july-2013.pdf . [เข้าถึงเมื่อ 1 ต.ค. 2565]
3. How Does the 20-20-20 Rule Prevent Eye Strain? [อินเทอร์เน็ต]. เข้าถึงได้จากhttps://www.healthline.com/health/eye-health/20-20-20-rule . [เข้าถึงเมื่อ 4 ต.ค. 2565]