โรคพยาธิอะนิซาคิเอซิส (Anisakiasis)
27 Feb, 2023 / By
salacrm01
โรคพยาธิอะนิซาคิเอซิส (Anisakiasis)
ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีการรับประทานปลาดิบแพร่หลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแซลมอน แซลมอนสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ซาชิมิ สลัดปลาแซลมอน ซูซิปลาแซลมอน และอื่น ๆ มีอีกมาก หากท่านใดชอบการรับประทานแซลมอนดิบเป็นชีวิตจิตใจ ควรที่จะรู้จัก “โรคพยาธิอะนิซาคิเอซิส (Anisakiasis)” ก่อนรับประทานด้วย
โรคพยาธิอะนิซาคิเอซิส (Anisakiasis) เป็นโรคที่เกิดจากการติดพยาธิอะนิซาคิส (Anisakis simplex)เป็นพยาธิที่พบในปลาทะเลเขตอบอุ่นและเขตร้อน ประเทศไทยตรวจพบตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ในปลาทะเลมากกว่า 20 ชนิด เช่น ปลาดาบเงิน ปลาตาหวาน ปลาสีกุน ปลาทูแขก ปลากุแรกล้วย ปลาลังเป็นต้น ในต่างประเทศจะพบในปลาทะเลจําพวกปลาคอด ปลาแซลมอน ปลาเฮอริ่ง
ลักษณะของพยาธิ
ลักษณะเป็นพยาธิตัวกลม มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ตัวโตเต็มวัยมีความยาวถึงประมาณ 2-5 ซม.
วงจรชีวิตของพยาธิอะนิซาคิส (Anisakis simplex)
ระยะที่ 1-2 จะเป็นช่วงไข่พยาธิลอยอยู่ในทะเลและเจริญเติบโตกลายเป็นตัวอ่อนที่ว่ายอยู่ในทะเล
ระยะที่ 3 เป็นระยะที่สัตว์ทะเลขนาดเล็ก กินตัวอ่อนพยาธิเข้าไป
ระยะที่ 4 เป็นระยะที่สัตว์ทะเลขนาดเล็กที่กินตัวอ่อนพยาธิ ถูกปลาหรือ หมึกขนาดใหญ่กินเข้าไป เมื่อปลาหรือหมึกตาย พยาธิจะไปอยู่ตามกล้ามเนื้อ
ระยะที่ 5 เป็นระยะที่ปลาหรือหมึกถูกมนุษย์หรือสัตว์ทะเลอื่น ๆ กินเข้าไป เมื่อมนุษย์รับประทานปลาดิบ แซลมอนที่มีพยาธิเข้าไป จึงทำให้เกิดการติดพยาธิได้
อาการของการติดพยาธิ
ทันทีหลังการรับประทานปลาดิบ บางคนมีอาการคันและรู้สึกเสียวซ่าบริเวณหลังคอหอย ภายหลังจากได้รับพยาธิ 1-8 ชั่วโมง อาจมีอาการปวดท้อง ปวดกระเพาะอาหาร ลำไส้อุดตัน คลื่นไส้อาเจียน และอาจมีอาการคล้าย ๆ ไส้ติ่งอักเสบ บางรายอาจถ่ายออกมาเป็นมูกเลือด ภายใน 1-5 วัน
การรักษามีทางเดียวคือการเอาตัวพยาธิออกมาจากผนังกระเพาะหรือบริเวณเนื้อเยื่อที่พยาธิเข้าไปฝังตัวอยู่ เนื่องจากยังไม่มียาในการรักษาพยาธิชนิดนี้
การป้องกันการติดพยาธิ
1. ควรทำให้อาหารสุกด้วยอุณหภูมิ ไม่ต่ำกว่า 60 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 5 นาที
2. ตามคำแนะนำจะต้องเตรียมปลาสำหรับการทำอาหาร โดยการแช่แข็งที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส จนครบเวลา 7 วันหรือแช่แข็งที่อุณหภูมิ -35 องศาเซลเซียส จนครบเวลา 15 ชั่วโมง เพื่อฆ่าเชื้อพยาธิก่อน จึงจะสามารถนำมาปรุงรับประทานแบบดิบได้
เรียบเรียง
ภก.ภิเษก ระดี
อ้างอิง
1.คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. สิ่งที่มากับ…..ปลาดิบ [Internet]. 2022 [cited 2023 Jan 06]. Available from: https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=437[S15]
2.Miscellaneous nematodes.Uptodate. [Internet]. [cited 20223 Jan 06]. Available from: https://www.uptodate.com/contents/miscellaneous-nematodes?search=Anisakis%20&source=search_result&selectedTitle=1~150&usage_type=default&display_rank=1