โรคลมชัก (Epilepsy)
หากหลาย ๆ ท่านเคยรับชมละครอาจจะคุ้นเคยกับฉากที่มีตัวละครล้มลงกะทันหัน และตามมาด้วยอาการเกร็งหรือกระตุก บ้างก็เรียกอาการผีเข้า บ้างก็เรียกลมบ้าหมู แต่จริง ๆ แล้วอาการที่เกิดขึ้นเป็นอาการที่แสดงถึงความผิดปกติในสมองแบบฉับพลันหรือลมชัก วันนี้เราจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักโรคลมชักและการปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือผู้ที่อาการลมชักกันค่ะ
อาการชัก (Seizure) คือ อาการชักเกิดจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมองชั่วคราวก่อให้เกิดอาการผิดปกติเป็น ๆ หาย ๆ (Recurrent, Episodic) โดยแต่ละครั้งมีอาการคล้ายกัน (Etereotyped) อาการผิดปกติที่แสดงออกขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสมองที่มีความผิดปกติแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- Unprovoked: ผู้ป่วยที่มีอาการชักอย่างไม่ทราบสาเหตุหรือไม่มีปัจจัยกระตุ้น ซึ่งการชักในชนิด นี้ส่วนหนึ่งจะเป็นการชักครั้งแรกของผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก โอกาสเกิดการชักซ้ำภายหลังชักครั้งแรกในผู้ป่วยกลุ่มนี้มีประมาณร้อยละ 25 - 50
- Provoked: อาการชักที่ เกิดจากปัจจัยกระตุ้น ส่งผลให้การควบคุมอาการชัก (Seizure threshold) ลดลงชั่วคราว โดยอาการชักจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีกถ้าปัจจัยกระตุ้นนั้นหมดไป ซึ่งปัจจัยเหล่านั้น ได้แก่
- อาการเนื่องจากถอนสุรา (Alcohol withdrawal)
- อาการการถอนยา (Drug withdrawal) เช่น ยากลุ่ม Benzodiazepine
- การเปลี่ยนแปลงทางเมตาบอลิก เช่น Hypoglycemia, Hyperglycemia, Hyponatremia, Hypocalcemia
- สารเสพติดและ CNS stimulant อื่น ๆ เช่น Amphetamine
- Eclampsia
- การบาดเจ็บของศีรษะ
- การติดเชื้อในสมองและเยื่อหุ้มสมอง
- ไข้สูงในเด็ก
โรคลมชัก (Epilepsy) คือ ผู้ป่วยที่มีอาการชัก (Seizure) หรือมี Reflex seizure มากกว่า 2 ครั้ง โดยเกิดขึ้นห่างกันมากกว่า 24 ชั่วโมง อาการชักเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีปัจจัยกระตุ้นชัดเจน (Unprovoked factor)
พยาธิสรีระวิทยา (Etiology)
โรคลมชักมีสาเหตุเกิดจากการเสียสมดุลของสารสื่อประสาท โดยมีสารสื่อประสาทที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของสมอง Excitatory neurotransmitters เช่น Glutamate มากกว่าสารสื่อประสาทที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสมอง Inhibitory neurotransmitters เช่น Gamma-aminobutyric acid (GABA) ทำให้เกิด Action potential ที่ถี่และมากเกินไปนำไปสู่การส่งกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติ และชักตามมาได้
แนวทางการวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีอาการชักและโรคลมชัก
การวินิจฉัย การจำแนกประเภท และการหาสาเหตุของอาการชักและโรคลมชัก ส่วนใหญ่ใช้ประวัติและการตรวจร่างกาย แต่บางครั้งอาจไม่พอจึงต้องอาศัยตรวจด้วยวิธีที่เหมาะสม และในการแปลผลการตรวจควรพิจารณาร่วมกับอาการทางคลินิกด้วยเสมอ
การตรวจแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- การวิเคราะห์เลือด
- การตรวจน้ำไขสันหลัง
2. การตรวจการทางานของสมอง
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalography, EEG)
- Single photon emission computerized tomography (SPECT)
- Positron emission tomography (PET)
3. การตรวจกายภาพของสมอง
- Computed tomography (CT)
- Magnetic resonance imaging (MRI)
เป้าหมายในการรักษา
1. ป้องกันไม่ให้เกิดอาการลมชักขึ้นอีก
2. ลดการเกิดอาการข้างเคียง ปฏิกิริยาระหว่างยา หรือการที่อาการชักเลวร้ายลง
3. เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยการเลือกยานั้นจะต้องดูสภาวะของผู้ป่วย และความพึงพอใจของผู้ป่วย เช่นการให้ Topiramate ซึ่งทำให้ง่วงมาก ดังนั้นจึงไม่เหมาะสมในผู้ป่วยที่เป็นนักเรียน หรือการให้ Sodium valproate ให้กับผู้ป่วยวัยรุ่นหญิงอาจไม่เหมาะสม เพราะยาทำให้น้ำหนักขึ้นและผมร่วง
4. มีความสะดวกและคุ้มค่าที่สุด
การรักษาด้วยยา
ยากันชัก (Anticonvulsants; Antiepileptic Drugs; AEDs) แบ่งได้ 2 ประเภท คือ
1. Classic antiepileptic drugs: เป็นยากลุ่มดั้งเดิมที่มีใช้มานาน ได้แก่ Phenobarbital, Phenytoin, Primidone, Valproate Carbamezepine, Ethosuximide
2. Newer antiepileptic drugs: เป็นยากลุ่มใหม่ ได้แก่ Leveteracetam, Pregabalin, Zonisamide, Oxcarbazepine, Vigabitrin, Lamotrigine, Topiramate, Lacosamide, Perampanel
การดูแลต่อเนื่องและการให้ความรู้ผู้ป่วยโรคลมชัก
1. เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง จัดผู้ป่วยให้อยู่ในท่านอนหงายและตะแคงหน้า นำอาหารหรือฟันปลอมที่มีอยู่
ในปากออก และคลายเสื้อผ้าให้หลวมให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก
2. จัดให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในบริเวณที่ปลอดภัย ป้องกันอันตรายจากส่วนของร่างกายกระแทกกับของแข็ง
3. ห้ามใช้ไม้กดลิ้นหรือวัตถุใด ๆ สอดเข้าไปในปากหรืองัดปากผู้ป่วยขณะเกร็งกัดฟัน เพราะอาจเกิด
อันตรายฟันหักตกลงไปอุดหลอดลมได้
4. หากมีไข้สูง (อุณหภูมิร่างกายเกิน 38 องศาเซลเซียส) ให้เช็ดตัวลดไข้ ห้ามให้ยากินเพราะอาจสำลักได้
5. โทรศัพท์แจ้ง 1669 หรือรีบนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
เรียบเรียง
ภญ.สุภัทรี นามวิชัยศิริกุล
อ้างอิง
1.Bendadis SR. Epileptic seizures and syndrome. Neurol Clin. 2001; 19:251-270.
2.King MA, Newton MR, Jackson GD, Fitt GJ, Mitchell LA, Silvapulle MJ, et al. Epileptology of the first-seizure presentation: a clinical, electroencephalographic, and magnetic resonance imaging study of 300 consecutive patients. Lancet 199; 352(9133): 1007
3.กาญจนา อั๋นวงศ์. แนวทางเวชปฏิบัติโรคลมชักสำหรับแพทย์. กรุงเทพฯ: ธนาเพรสจำกัด; 2559.