โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ( Chikungunya Virus Disease )
15 Feb, 2021 / By
salacrm01
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (CHIKUNGUNYA VIRUS DISEASE)
ชิคุนกุนยา มาจากภาษาถิ่นแอฟริกา ที่หมายความถึง อาการบิดเบี้ยวของข้อ ทั้งนี้เพราะโรคนี้มีอาการสำคัญ คือ ข้อบวม และข้ออักเสบ จนเกิดการผิดรูป โดยโรคนี้มีรายงานครั้งแรกในช่วง ค.ศ. 1952-1953 (พ.ศ. 2495-2496) จากประเทศแทนซาเนีย โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya fever) เกิดจากการติดเชื้อ Chikungunya virus (CHIK V) โดยพาหะนำโรคคือ ยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะชนิดเดียวกับโรคไข้เลือดออก หรือโรคไข้ซิกา โดยยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ได้แก่ ยุงลายบ้าน Aedes aegypti. และ ยุงลายสวน Aedes albopictus. และเนื่องจากเป็นโรคเกิดจากยุงลายชนิดเดียวกันเป็นพาหะ จึงสามารถพบทั้งสองโรคได้พร้อมกัน ในประเทศไทยพบโรคไข้ปวดข้อยุงลายครั้งแรกในกรุงเทพฯ ปี ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) ซึ่งปัจจุบันพบโรคได้ในทุกภาค และมีการระบาดหลายครั้งในประเทศไทย โดยโรคไข้ปวดข้อยุงลายพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่ทารกในครรภ์จากมารดาที่ติดเชื้อไปจนถึงผู้สูงอายุ และโอกาสเกิดโรคใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย
โรคไข้ปวดข้อยุงลายเกิดได้อย่างไร ? ติดต่ออย่างไร ?
โรคชิคุนกุนยาสามารถติดต่อระหว่างมนุษย์โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงลายที่ไม่ติดเชื้อกัดและดูดเลือดจากคนที่มีเชื้อไวรัสในช่วงที่มีไข้สูงซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เมื่อไวรัสเข้าสู่ยุงจะเจริญแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและเข้าไปอยู่ในต่อมน้ำลายของยุง ซึ่งจากการทดลองในห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นว่าสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสในน้ำลายยุงได้ภายใน 2-3 วันหลังจากได้รับเชื้อไวรัส เมื่อยุงกัดคน ไวรัสจากยุงจะแพร่เข้าสู่กระแสเลือดก่อให้เกิดการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา วนเวียนเป็นวงจรของการติดต่อและการระบาด และเมื่อติดเชื้อแล้วเชื่อกันว่ายุงสามารถแพร่เชื้อไวรัสได้ตลอดชีวิต
โรคไข้ปวดข้อยุงลายมีอาการอย่างไร ?
หลังจากถูกยุงที่ติดเชื้อไวรัสกัด จะแสดงอาการโดยเฉียบพลัน โดยจะเกิดภายหลังได้รับเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาตั้งแต่ 2-12 วัน แต่โดยส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 4-8 วัน โดยมีอาการหลัก ดังนี้
- ไข้สูงเฉียบพลัน ซึ่งอาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส หลังจากนั้น 2-3 วัน ไข้จะเริ่มลดลง
- ปวดกล้ามเนื้อ ข้ออักเสบและปวดข้อมาก ซึ่งสามารถเกิดอาการปวดได้หลายข้อ และมักเกิดอาการปวดที่ข้อเล็ก ๆ โดยอาการปวดจะมีระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งอาจนานหลายเดือน
- มีผื่นแดงคล้ายไข้เลือดออกบริเวณลำตัว ซึ่งอาจพบที่แขน ขา ได้บ้าง
- ปวดศีรษะ ปวดตา ตาแดง ตากลัวแสง และมีอาการอ่อนเพลีย
โรคชิคุนกุนยามีความแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาจะมีไข้สูงขึ้นอย่างเฉียบพลันกว่าโรคไข้เลือดออกและระยะเวลาของไข้สั้นกว่าประมาณ 2 วัน ในขณะที่ไข้เลือดออก ไข้จะลดลงในเวลาประมาณ 4 วัน ไม่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำอย่างมากจนทำให้เลือดออกรุนแรงและไม่มีความผิดปกติของผนังหลอดเลือดฝอยจนทำให้มีสารน้ำรั่วจากหลอดเลือดอย่างรุนแรง ดังนั้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคชิคุนกุนยาจึงไม่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ อาการช็อก และไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างโรคไข้เลือดออก นอกจากนี้ผู้ป่วยสามารถมีผื่นแดงเป็นปื้นและตาแดงได้บ่อยกว่าไข้เลือดออก รวมถึงพบอาการปวดตามตัว ตามข้อได้มากกว่า
ความรุนแรงของอาการจากไข้ปวดข้อยุงลายขึ้นกับอายุ โดยผู้สูงอายุจะมีอาการรุนแรงกว่าวัยอื่น ๆ และระยะเวลาในการเจ็บป่วยจากข้ออักเสบ ก็ขึ้นกับอายุเช่นกัน โดยพบว่า ในเด็กและวัยหนุ่มสาว อาการต่าง ๆ มักหายภายใน 5-15 วัน วัยกลางคน อาการมักหายภายใน 1-2.5 เดือน แต่ในผู้สูงอายุ จะมีอาการอยู่นานกว่านี้ เป็นหลายเดือน หรือ เป็นปี ๆ นอกจากนั้น อาจพบผู้ป่วยบางรายเกิดโรคสมองอักเสบ ไขสันหลังอักเสบ หรือ เส้นประสาทอักเสบได้
แพทย์วินิจฉัยโรคไข้ปวดข้อยุงลายได้อย่างไร ?
การติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยานั้น อาจได้รับการวินิจฉัยผิดคิดว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ การวินิจฉัยโรคเบื้องต้นนั้นจะเน้นการวินิจฉัยตามอาการแสดงของผู้ป่วย ผลการตรวจนับเม็ดเลือด พบว่าเม็ดเลือดขาวอาจต่ำเล็กน้อย จำนวนเกล็ดเลือดปกติ ส่วนการวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการนั้นทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจหาไตเตอร์จากน้ำเหลือง โดยวิธี Enzyme-linked immunosorbent assays (ELIZA) เพื่อตรวจหาแอนติบอดี IgM หรือ IgG ต่อเชื้อ Alphavirus ซึ่งระดับ IgM มักจะสูงสุดช่วง 3-5 สัปดาห์หลังเริ่มป่วย และคงอยู่นานประมาณ 2 เดือน และอาจแยกเชื้อไวรัสจากเลือดผู้ป่วยระยะเริ่มมีอาการในช่วง 2-3 วันได้ โดยการเพาะเชื้อในหนูทดลอง หรือในเซลล์เพาะเลี้ยง สำหรับวิธี RT-PRC (Reverse transcriptase-polymerase chain reaction) มีการใช้มากขึ้นในปัจจุบัน
รักษาโรคไข้ปวดข้อยุงลายอย่างไร ?
ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสชิคุนกุนยา ดังนั้นแนวทางการรักษาจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ โดยใช้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ดื่มน้ำมาก ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งยาที่แนะนำในการแก้ปวดลดไข้ คือพาราเซตามอล (Paracetamol) และหลีกเลี่ยงการใช้กลุ่มยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์(NSAIDs, Non-steroidal anti-inflammatory drugs) เช่น แอสไพริน (Aspirin) หรือ ไอบูโปรเฟน (Ibruprofen) เพราะยากลุ่ม NSAIDs สามารถเพิ่มโอกาสในการเกิดเลือดออกตามเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ยกเว้นว่าแพทย์สามารถวินิจฉัยแยกโรคออกจากโรคไข้เลือดออกได้อย่างถูกต้อง
ป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลายอย่างไร?
เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นวิธีป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุด คือ การป้องกันยุงกัด และการกำจัดยุง
การป้องกันยุงกัด เช่น ในถิ่นระบาด ควรสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว การทายากันยุง ใช้ยาไล่ยุง ใช้มุ้งกับเด็กที่นอนในบ้านถึงแม้เป็นช่วงกลางวัน
การกำจัดยุง โดยการคว่ำภาชนะทุกชนิดที่ก่อให้เกิดน้ำขัง ทั้งในบ้าน นอกบ้าน และในชุมชน การเปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้และกระถางทุก 7 วันเพื่อกำจัดลูกน้ำ ไม่รดน้ำต้นไม้มากจนก่อให้เกิดน้ำขัง จัดสวนหรือปลูกต้นไม้ให้โปร่ง แสงแดดส่องถึง และการกักเก็บน้ำบริโภคต้องปิดฝามิดชิดเพื่อป้องกันยุงวางไข่ ซึ่งจะต้องร่วมมือกันทั้งในครอบครัวและในแหล่งชุมชน ซึ่งจะต้องปฏิบัติสม่ำเสมอโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนและหลังฤดูฝน เนื่องจากเป็นช่วงยุงวางไข่
เรียบเรียงโดย
ภก.ธนากร ดุลนีย์
เอกสารอ้างอิง
1.Dubrulle, M., et al., Chikungunya virus and Aedes mosquitoes: Saliva is infectious as soon as two days after oral infection. PLOS ONE, 2009. 4(6): p. e5895.
2.Thaikruea, L. et al. Epidemic of new Chikungunya viral genotype and clinical manifestations in Thailands, 2008-2009. Chiang Mai Med J. 2011; 50, 1-11.
3.Thavara, U. et al. Outbreak of Chikungunya fever in Thailand and virus detection in field population of vector mosquitoes, Aedes Aegypti (l.) and Aedes Albopictus Skuse (Diptera: Culicidae). Southeast Asian J Trop Med Public Health. 2009: 40, 951-960.
4.World Health Organization. September 2020. Chikungunya. Available at: https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/chikungunya. Accessed October 8, 2020.
5.Pediatric Infectious Disease Society of Thailand. CHIKUNGUNYA VIRUS DISEASE. Available at: https://www.pidst.or.th/A234.html. Accessed October 8, 2020.
6.รศ.นพ.วินัย รัตนสุวรรณ. (2555). ชิคุนกุนยา (Chikungunya). สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2563, จาก https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=955.