หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก
23 Jan, 2023 / By salacrm01
Images/Blog/2WIzBX3f-ไข้.jpg

โรคไข้เลือดออก

      โรคไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักพบในประเทศเขตร้อนและระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี อาการของโรคไข้เลือดออกมีตั้งแต่ไม่มีอาการผิดปกติไปจนถึงเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

สาเหตุของโรคไข้เลือดออก

       เชื้อไวรัสเดงกีซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 DENV-4 มียุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายดูดเลือดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี เชื้อจะเข้าไปฝังตัวภายในกระเพาะและต่อมน้ำลายของยุงโดยมีระยะฟักตัวประมาณ 8-12 วัน เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสไปกัดคนอื่น ๆ ต่อ เชื้อไวรัสก็จะเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่โดนกัด ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกตามมา

       ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่เคยได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใดจะมีภูมิคุ้มกันเฉพาะสายพันธุ์นั้น หากได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ต่างออกไปจากครั้งแรกก็สามารถเป็นไข้เลือดออกได้อีก และโดยทั่วไปอาการของโรคครั้งที่สองมักรุนแรงกว่าครั้งแรก

ปัจจัยเสี่ยงของโรคไข้เลือดออก

       โรคไข้เลือดออกสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงต่อการดำเนินโรคที่รุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน ได้แก่

  • เด็กทารกและผู้สูงอายุ
  • หญิงตั้งครรภ์
  • ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร
  • ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างมีประจำเดือนหรือมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
  • ผู้ที่มีโรคเม็ดเลือดแดงแตกง่าย หรือโรคที่เกิดจากฮีโมโกลบินผิดปกติ
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด โรคหัวใจขาดเลือด ไตวาย ตับแข็ง
  • ผู้ที่รับประทานยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) หรือยาในกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่
    สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory หรือ NSAIDs)

อาการของโรคไข้เลือดออก

1. ระยะไข้ (2-7 วัน) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มักมีหน้าแดง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา

2. ระยะช็อค ระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง ผู้ป่วยจะซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะออกน้อย อาจมีเลือดออกง่าย เช่น มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ ในรายที่รุนแรง จะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อค และอาจถึงตายได้ ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายไม่จำเป็นต้องเป็นรุนแรงและเข้าสู่ภาวะช็อคทุกราย ในผู้ป่วยไข้เลือดออกที่อาการไม่รุนแรง เมื่อไข้ลดก็จะมีอาการดีขึ้น รับประทานอาหารได้ เข้าสู่ระยะฟื้นตัว

3. ระยะฟื้นตัว อาการต่าง ๆ จะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น บางรายมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามลำตัว

 การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก

       เนื่องจากอาการของโรคไข้เลือดออกในระยะแรก ๆ คล้ายกับโรคติดเชื้อหลายโรค เช่น ไข้หวัดใหญ่ และไข้จากสาเหตุอื่น ดังนั้น นอกเหนือจากการสังเกตอาการและซักประวัติความเป็นอยู่ของผู้ป่วยแล้ว แพทย์วินิจฉัยโรคไข้เลือดออกด้วยการตรวจเพิ่มเติม และตรวจทางห้องปฏิบัติการ ดังนี้

  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เพื่อหาความผิดปกติของส่วนประกอบทั้งหมดของเลือด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และความเข้มข้นของเลือด
  • ตรวจภูมิคุ้มกันต่อไข้เลือดออก (IgM), ตรวจ NS1 Ag ต่อเชื้อโดยตรง, ตรวจ PCR เพื่อหาเชื้อไวรัสเดงกี

       หากพบว่าผู้ป่วยมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามลำตัว และจำนวนเกล็ดเลือดลดต่ำลง เป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเดงกี แต่ถ้าเกล็ดเลือดลดต่ำมาก เม็ดเลือดขาวต่ำ เม็ดเลือดแดงเข้มข้นขึ้น ความดันโลหิตต่ำ ร่วมกับมีชีพจรเบาเร็ว เป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีโอกาสเข้าสู่ระยะช็อกซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในห้องดูแลผู้ป่วยหนักทันที

การรักษาโรคไข้เลือดออก

       สำหรับการดูแลอาการเบื้องต้น ผู้ป่วยควรดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำเกลือแร่เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อลดไข้เป็นระยะ ๆ รับประทานอาหารอ่อน งดอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสีคล้ายเลือดเพื่อไม่ให้การวินิจฉัยคลาดเคลื่อน อาจรับประทานยาลดไข้ เช่น ยาพาราเซทตามอลได้แต่ในปริมาณที่แพทย์สั่งเท่านั้น ห้ามรับประทานยาแอสไพรินและยากลุ่ม NSAIDs เด็ดขาดเพราะอาจทำให้เลือดออกง่ายและมากขึ้น

       หากพบว่าผู้ป่วยอาเจียนมาก ปวดท้องมาก ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ตัวเย็นผิดปกติ ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

การป้องกันโรคไข้เลือดออก

  • ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยนอนในมุ้งแม้ในเวลากลางวัน
  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้าน รวมทั้งบริเวณรอบ ๆ บ้าน
  • ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำในภาชนะที่ขังน้ำทุก 7 วัน เช่น แจกัน
  • กำจัดภาชนะแตกหักที่ขังน้ำ เช่น ยางรถเก่า กระถาง
  • เลี้ยงปลากินลูกน้ำในอ่างบัวหรือแหล่งน้ำอื่น ๆ เช่น ปลาหางนกยูง
  • ปิดฝาโอ่งหรือภาชนะอื่น ๆ ให้มิดชิดหรือใส่ทรายเคมี กำจัดลูกน้ำในภาชนะที่เก็บน้ำไว้ใช้ใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชูลงในจานรองขาตู้กับข้าวสัปดาห์ละครั้ง
  • ใส่ทรายอะเบต 1% ลงในตุ่มน้ำและภาชนะกักเก็บน้ำในอัตราส่วน 10 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตรควรเติมใหม่ทุก 2-3 เดือน น้ำที่ใส่ทรายอะเบตสามารถใช้ดื่มกินได้อย่างปลอดภัย

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

       ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จำนวน 1 ชนิด โดยมีชื่อการค้าว่า เดง-แวก-เซีย (Dengvaxia®) กำหนดการฉีด 3 เข็ม ที่ 0, 6 และ 12 เดือน โดยกำหนดให้ฉีดแก่บุคคลอายุ 9 - 45 ปี วัคซีนนี้เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่ก่อโรค แต่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรค

 

เรียบเรียงโดย

ภก.ธีรภัทร โพธิ์เกษม

เอกสารอ้างอิง

1.กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน  กรมควบคุมโรค. (2560).คำแนะนำประชาชน เรื่อง การนำวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกมาใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันควบคุมโรคในประเทศไทย.แหล่งข้อมูล: https://www.pidst.or.th/A580.html. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2565

2.วินัย รัตนสุวรรณ. (2558). ไข้เลือดออก ป้องกันได้….แต่ถ้าเป็นแล้วล่ะ!. แหล่งข้อมูล: https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=780. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2565

3.โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์. (2564). โรคไข้เลือดออก. แหล่งข้อมูล: https://www.bumrungrad.com/th/conditions/dengue-hemorrhagic-fever. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2565

4.โรงพยาบาลธนบุรี (2564). โรคไข้เลือดออก. แหล่งข้อมูล: https://www.thonburihospital.com/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81.html. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2565

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.