Lecitin บำรุงตับได้จริงหรือ
22 Feb, 2023 / By
salacrm01
Lecitin บำรุงตับได้จริงหรือ
เลซิติน (Lecithin) คือ สารประกอบระหว่างกรดไขมันจำเป็น ฟอสฟอรัส และวิตามินบี 2 ตัว ได้แก่ โคลีน(Choline) และอินอสซิตอล (Inositol) สามารถพบเลซิตินในร่างกายในอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ ตับ ไต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมอง มีเลซิตินเป็นส่วนประกอบมากถึง 30% ซึ่งเลซิตินจำเป็นต่อการควบคุมกระบวนการต่าง ๆ ภายในเซลล์ ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
เลซิติน จะพบได้จาก
เลซิติน (Lecithin) พบได้ตามธรรมชาติจาก 2 แหล่ง ที่สำคัญคือ ร่างกายมนุษย์ สามารถผลิต 'เลซิติน' ขึ้นได้เองที่ 'ตับ' สารตั้งต้นที่ร่างกายใช้ผลิตเลซิติน เช่น กรดไขมันจำเป็น วิตามินบี และสารอาหารสำคัญอื่น ๆ หากร่างกายได้รับสารอาหารต่าง ๆ เหล่านี้ไม่เพียงพอ จะส่งผลให้ร่างกายขาดเลซิตินได้
แหล่งธรรมชาติสามารถพบเลซิติน ได้ทั้งในพืชและสัตว์ โดยจะพบมากในไข่แดง ถั่วเหลือง เมล็ดทานตะวัน ถั่วลิสง จมูกข้าวสาลี เป็นต้น แต่อาหารเหล่านี้ก็จะให้ไขมันโคเลสเตอรอลสูงตามไปด้วย ดังนั้นจึงแนะนำให้ทานเลซิตินที่สกัดได้จากถั่วเหลืองมากกว่าเนื่องจากเป็นแหล่งที่ดีในการสกัดเลซิติน เพราะไม่มีไขมันโคเลสเตอรอล และยังอุดมไปด้วยโปรตีนที่มีคุณค่าต่อร่างกายมากกว่า โดยร่างกายของเราต้องการเลซิตินวันละ 6 กรัม ส่วน Choline ร่างกายต้องการ วันละ 0.6-1 กรัม ซึ่งในอดีตไม่ค่อยพบว่ามีการขาดสารเลซิติน แต่ปัจจุบันคนนิยมทานอาหารที่มีไขมันต่ำ จึงอาจจะทำให้เกิดการขาดสารเลซิตินได้
ประโยชน์ของเลซิติน (Lecithin) ในการบรรเทาโรคตับชนิดต่าง ๆ
สารที่พบในเลซิติน (Lecithin) คือ ฟอสฟาทิดิลโคลีน (Phosphatidylcholine) เป็นสารที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ตับ นอกจากนี้ฟอสฟาทิดิลโคลีนยังมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเกิดความผิดปกติจากยา แอลกอฮอล์ สารเคมี สารพิษต่าง ๆ ที่จะทำลายตับ ดังนั้นฟอสฟาทิดิลโคลีนในเลซิตินจึงมีบทบาทในการช่วยซ่อมแซมเซลล์ตับได้
- โรคตับจากภาวะไขมันพอกตับ
พบว่าหากขาดโคลีนจะทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับได้ โคลีน (Choline) จะมีผลในการเร่งการเผาผลาญไขมันที่ตับ ทำให้ไขมันถูกนำไปใช้เป็นพลังงานมากขึ้น ภาวะไขมันพอกตับก็จะลดลง นอกจากนั้นเลซิตินมีผลในการช่วยลดไขมันในเลือด โดยเฉพาะไขมันโคเลสเตอรอลที่เป็นตัวการสำคัญในการทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ ดังนั้นการรับประทานเลซิติน (Lecithin) จะทำให้ลดโอกาสเกิดภาวะไขมันพอกตับได้
- โรคตับจากแอลกอฮอล์
จากรายงานทางการแพทย์ของ Lieber และคณะในปี ค.ศ. 2003 มีผู้ป่วยเข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 789 ราย โดยเป็นผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หนักถึงวันละ 16 drinks (1 drink = 14 g แอลกอฮอล์) และตรวจพบว่าตับมีการถูกทำลาย (Liver injury) ให้ได้รับฟอสฟาทิดิลโคลีน ติดต่อกัน 24 เดือน พบว่าผลการตรวจชิ้นเนื้อตับ ของผู้ป่วยโรคตับจากแอลกอฮอล์ที่ได้รับฟอสฟาทิดิลโคลีน มีแนวโน้มที่ดีและค่าเอมไซม์ของตับดีขึ้น
- โรคตับจากยา
จากการศึกษาพบว่ามีการศึกษาการป้องกันตับอักเสบในผู้ป่วยที่รับยาต้านวัณโรค จำนวนคนไข้ 340 คน โดยได้รับยาต้านวัณโรคร่วมกับฟอสฟาทิดิลโคลีน 900 มิลลิกรัมต่อวัน เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับฟอสฟาทิดิลโคลีน พบว่ากลุ่มคนไข้ที่ได้รับยาต้านวัณโรคร่วมกับฟอสฟาทิดิลโคลีน ไม่พบค่าความผิดปกติของค่าเอมไซม์ของตับ และกลุ่มที่ไม่ได้รับฟอสฟาทิดิลโคลีน กลับพบว่าค่าเอมไซม์ของตับสูงขึ้นกว่าปกติ
ปริมาณเลซิตินที่แนะนำต่อวัน
บำรุงตับ ลดภาวะไขมันพอกตับ รับประทานวันละ 1,200-3,600 มิลลิกรัม หลังอาหาร
ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ
หากรับประทานอาหาร ให้ครบ 5 หมู่ อยู่เป็นประจำ ก็จะทำให้ร่างกายได้รับเลซิตินในปริมาณที่เพียงพอ โดยที่ไม่ต้องรับประทานในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริม แต่อย่างใด แต่หากมีความจำเป็นต้องรับประทานเลซิติน ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควรเลือกเลซิตินจากพืชเพราะเลซิตินจากพืช มีส่วนประกอบของกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว หากซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเลซิตินจากแหล่งวัตถุดิบที่เป็นสัตว์ หรือไข่แดงอาจได้รับกรด ไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูง จะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับโคเลสเตอรอล
ข้อควรระวัง และข้อห้ามใช้
- ไม่แนะนำในสตรีมีครรภ์ และให้นมบุตร
- แนะนำให้หลีกเลี่ยงในผู้ที่แพ้ถั่วเหลืองแบบรุนแรง เช่น ผื่นขึ้นมาก ผิวหนัง/เยื่อบุหลุดลอก ใบหน้าและลิ้นมีอาการบวม คอบวมจนหายใจลำบาก
อาการข้างเคียง
- ภาวะการได้รับเลซิตินมากเกินไปอาจมีผลข้างเคียง คือ คลื่นไส้ อาเจียน น้ำลายหลั่งออกมาก เบื่ออาหาร เหงื่อออกมาก ท้องเสีย เป็นต้น
เรียบเรียงโดย
ภญ.วรินทร์พร ชนินทรวิโรจน์
อ้างอิง
1. megawecare. เลซิติน (Lecithin) ประโยชน์เพื่อสุขภาพของคุณ [internet].2022[cited 2022 Aug11].Available from: https://www.megawecare.co.th/content/4643/lecithin-benefits-of-your-health-%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%99
2. Charles S Lieber.Relationships between nutrition, alcohol use, and liver disease [internet].2003[cited 2022 Aug11].Available from: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/15535450/
3. Charles S.Lieber.Alcoholic fatty liver: its pathogenesis and mechanism of progression to inflammation and fibrosis[internet].2004[cited 2022 Aug11].Available from: https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0741832904001569?via%3Dihub
4. Charles S Lieber 1, David G Weiss.Veterans Affairs Cooperative Study of polyenylphosphatidylcholine in alcoholic liver disease[internet].2003[cited 2022 Aug11].Available from: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/14634492/
5. International journal of infectious diseases. Efficacy of multivitamins containing phosphatidyl choline in the mananegment of hepatotoxicity from antiretroviral and/or antituberculous drugs[internet].2010[cited 2022 Aug11].Available from: https://www.ijidonline.com/article/S1201-9712(10)02073-4/fulltext
6. Giffarine.ตอบคำถาม เลซิติน ทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับเลซิติน[internet].2019[cited 2022 Aug11].Available from:
https://welovegiff.com/ตอบคำถาม-เลซิติน-ทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับเลซิติน