Probiotic และ Prebiotic คืออะไร
10 Mar, 2023 / By
salacrm01
Probiotic และ Prebiotic คืออะไร
โพรไบโอติก (Probiotic) คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิต ซึ่งอาจมีเพียงชนิดเดียวหรือเป็นส่วนผสมของจุลินทรีย์หลาย ๆ ชนิด ที่สามารถไปปรับปรุงคุณสมบัติของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในสำไส้ จุลินทรีย์โพรไบโอติกช่วยต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค โดยมีกลไกการทำงานและคุณประโยชน์ ดังนี้
1. คุณประโยชน์ด้านระบบทางเดินอาหาร
- แย่งพื้นที่ยึดเกาะกับเชื้อก่อโรคบนผนังลำไส้เล็ก โดยปกติแล้วโพรไบโอติกจะอยู่ในระบบทางเดินอาหารโดยธรรมชาติอยู่แล้ว มีความสามารถในการต่อต้านการเกาะของเชื้อก่อโรคบนผนังลำไส้ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า Competitive Exclusion
- แย่งอาหารกับเชื้อก่อโรคในบริเวณที่เกาะตั้งถิ่นฐานไม่ให้เหลือพอสำหรับเชื้อก่อโรคและลดการสร้างสารพิษในเชื้อก่อโรค
- ปรับสภาวะภายในลำไส้ให้มีความเป็นกรดมากขึ้น โดยการผลิตกรดแลกติก (Lactic acid) และสารต้านการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรค เรียกว่า Bacteriocin ซึ่งเป็นโปรตีนสายสั้น ๆ มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียแกรมบวกบางชนิดที่ก่อให้เกิดโรคและทำให้อาหารบูดเสีย เช่น เชื้อ B. Cereus, C. Botulinum, L. Monocytogenes และ S. Aureus
- ช่วยให้การย่อยอาหารสมบูรณ์ เพิ่มมวลอุจจาระและลดปัญหาท้องผูกและท้องเสีย
- ช่วยลดระดับโคเรสเตอรอลในเลือด โดยการสร้างสารไฮดรอกซีเมทิลกลูตาเมทที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่ทำหน้าที่สังเคราะห์คอเรสเตอรอล
- เพิ่มการย่อยน้ำตาลแลคโตสในผู้ป่วยแพ้นมที่มีน้ำตาลแลคโตสผ่านการสร้างเอนไซม์เบต้า-กาแล็คโตซิเดส สามารถย่อยแลคโตสให้เป็นกลูโคสและกาแล็คโตสได้
2. คุณประโยชน์ด้านระบบภูมิคุ้มกัน
- ส่งเสริมและกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ลดการเกิดการอักเสบจากเชื้อก่อโรค โดยความหลากหลายของสายพันธุ์ของเชื้อโพรไบโอติก สามารถควบคุมการหลั่งของสารก่ออักเสบ (Cytokines) ได้
- เชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติก สามารถผลิตและหมักกรดไขมันสายสั้น (Short chain fatty acid; SCFAs) ในลำไส้ได้หลายชนิด เช่น กรดบิวทาเรต (Butyrate) กรดอะซีเตต (Acetate) และกรดโพรพิโอเนต (Propionate) ที่สามารถช่วยในการกำจัดสิ่งแปลกปลอม ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อโรคและกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวให้ทำงานมากขึ้น
คุณสมบัติของโพรไบโอติกที่ดี
- เป็นจุลินทรีย์สายพันธุ์เดียวกับจุลินทรีย์ประจำถิ่น (Normal flora) ที่มีอยู่ในลำไส้
- ทนต่อน้ำย่อยในกระเพาะอาหารและลำไส้
- สามารถแบ่งตัวเจริญเติบโตได้เมื่อนำไปผสมกับอาหารหรือเครื่องดื่ม
- สามารถมีชีวิตได้ระยะหนึ่งหลังการเก็บรักษา
ตัวอย่างเชื้อโพรไบโอติก: เชื้อแบคทีเรียแล็กโทบาซิลลัส (Lactobacillus) เชื้อบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) เชื้อสเตรปโตคอคคัส (Streptococcus) เชื้อ เอนเทอโรคอคคัส (Enterococcus) ยีสต์แซคคาโรไมซีส (Saccharomyces)
พรีไบโอติก (Prebiotic) คือ อาหารของจุลินทรีย์ซึ่งอยู่ในรูปของใยอาหารที่ไม่ถูกย่อยและดูดซึมในทางเดินอาหาร แต่จะถูกย่อยด้วยจุลินทรีย์บริเวณลำไส้ใหญ่ สามารถเลี้ยงและส่งเสริมการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกได้ จัดได้ว่า “พรีไบโอติกเป็นอาหารของเชื้อโพรไบโอติก” ซึ่งใยอาหารที่มีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก มีทั้งแบบที่สกัดมาจากพืชและสังเคราะห์ขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น Fructo-Oligosaccharide (FOS), Galacto-Oligosaccharides (GOS) และ Inulin มักพบในผักและผลไม้ เช่น เห็ด หัวหอม หัวกระเทียม กล้วย ผลไม้ตระกูลเบอรี่ อาร์ติโชค (Artichoke) ผักชิโครี่ (Chicory) ต้นหญ้า (Dandelion greens) หน่อไม้ฝรั่ง ต้นหอม เมล็ดแฟลกซ์ (Flax seed) และพืชตระกูลถั่ว (Legumes)
ซีนไบโอติก (Synbiotics) คือ คุณสมบัติที่เกิดจากการส่งเสริมฤทธิ์ของเชื้อโพรไบโอติกและใยอาหารพรีไบโอติกที่ส่งเสริมการเพิ่มจำนวนของเชื้อโพรไบโอติก ซึ่งจะช่วยส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งระบบ
การนำเชื้อโพรไบโอติกไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ได้แก่ ใช้เพิ่มประสิทธิภาพการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีน การป้องกันและรักษาอาการภูมิแพ้ การลดการอักเสบของร่างกายและช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ
เรียบเรียงโดย
ภญ. ธัญชนก เงินคำมูล
อ้างอิง
1. D. Davani-Davari, M. Negahdaripour, I. Karimzadeh, M. Seifan, M. Mohkam, S.J. Masoumi, A. Berenjian, Y. Ghasemi, Prebiotics: Definition, Types, Sources, Mechanisms, and Clinical Applications, Foods 8(3) (2019) 92.
2. แคทรียา สุทธานุช, ธีระ ฤทธิรอด, รุ้งระวี วันดี. โพรไบโอติกกับระบบภูมิคุ้มกัน [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 2 ม.ค. 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://ccpe.pharmacycouncil.org/index.php?option=article_detail&subpage=article_detail&id=1301