หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > น้ำเข้าหูเอาออกอย่างไร ?
น้ำเข้าหูเอาออกอย่างไร ?
น้ำเข้าหูเอาออกอย่างไร ?
23 Mar, 2023 / By salacrm01
Images/Blog/XKUzDe4P-หน้าปก น้ำเข้าหูเอาออกอย่างไร.png

น้ำเข้าหูเอาออกอย่างไร ?

          น้ำเข้าหู คือ ภาวะที่น้ำเข้าไปค้างอยู่ในช่องหูจนทำให้รู้สึกอึดอัดในหู ได้ยินเสียงไม่ชัด หรือสูญเสียการได้ยิน ซึ่งอาจบรรเทาอาการได้ด้วยการเอียงศีรษะสักครู่หนึ่งให้น้ำไหลออกมา ใช้ยาหยอดหูเพื่อขจัดสิ่งสกปรกภายในช่องหู หรือไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอื่น ๆ เพิ่มเติม

น้ำเข้าหู อันตรายหรือไม่ ? 

          โดยทั่วไป น้ำเข้าหูอาจไม่ก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ หากในขณะนั้นช่องหูสะอาด ไม่มีสิ่งสกปรกอยู่ภายในหู และไม่ได้เป็นหวัดหรือไซนัสอักเสบ แต่ในบางครั้งอาจเป็นอันตรายได้หากน้ำที่ขังในหูซึมเข้าไปรวมตัวกับขี้หูจนทำให้ขี้หูขยายใหญ่ขึ้นและปิดกั้นช่องหูไว้ หรืออาจทำให้เกิดภาวะสุญญากาศในหูขึ้นจนเกิดแรงกดในช่องหู ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวดในหูตามมา หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่ภาวะหูติดเชื้ออย่างโรคหูชั้นนอกอักเสบได้

น้ำเข้าหู ทำอย่างไรดี ?   

          การแก้ไขปัญหาน้ำเข้าหูต้องอาศัยความรอบคอบและระมัดระวังเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเยื่อแก้วหูทะลุ เนื่องจากการรักษาน้ำเข้าหูอย่างผิดวิธีจะยิ่งทำให้อาการต่าง ๆ อย่างโรคหูชั้นนอกอักเสบแย่ลงได้ ซึ่งวิธีบรรเทาอาการเมื่อน้ำเข้าหู มีดังนี้

  1. เอียงศีรษะให้หูข้างที่น้ำเข้าขนานกับพื้น แล้วเขย่าตัวเบา ๆ เพื่อให้น้ำไหลออก

 

  1. เอียงศีรษะข้างที่น้ำเข้าลงบนฝ่ามือ ใช้ฝ่ามือกดหูเบา ๆ แล้วคลายออก
    ข้อควรระวังสำหรับวิธีนี้คือ ไม่ควรทำขณะที่ไม่ได้เอียงศีรษะขนานกับพื้นเพราะอาจทำให้น้ำไหลเข้าไปลึกกว่าเดิม

  1. หายใจเข้าลึก ๆ ปิดปากให้สนิท แล้วเอามือบีบจมูกให้แน่น ๆ เอียงศีรษะข้างที่น้ำเข้าลง ค่อย ๆ หายใจออก ข้อควรระวังสำหรับวิธีนี้คือ อย่าหายใจออกแรงเพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่แก้วหูได้

  1. สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อน้ำเข้าหู คือการใช้คัตตอนบัต เพราะจะยิ่งดันน้ำและขี้หูให้เข้าไปลึกขึ้นกว่าเดิมและอาจทำให้เกิดแผลถลอกได้

 

หากทำหลายวิธีแล้วยังไม่หาย ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะแพทย์จะมีเครื่องมือในการดูดน้ำออก

การใช้ยาหยอดหู อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยจัดการปัญหาน้ำเข้าหูได้ โดยยาหยอดหูที่ใช้มี 2 ชนิด ดังนี้

  • ยาหยอดหูแอลกอฮอล์ อาจช่วยให้น้ำที่ค้างอยู่ในหูระเหยไป กำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยใช้หลอดหยดที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วหยดยาลงในช่องหูประมาณ 3-4 หยด ทิ้งไว้ 30 วินาที แล้วเอียงศีรษะไปด้านข้างเพื่อให้ของเหลวทั้งหมดไหลออกมา บางครั้งอาจผสมยากับน้ำส้มสายชูเพื่อช่วยกำจัดขี้หูด้วย
  • ยาหยอดหูไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) อาจช่วยขจัดเศษเนื้อที่ตายแล้ว แบคทีเรีย ขี้หู หรือน้ำที่ค้างอยู่ในช่องหูได้ โดยนำหลอดหยดที่สะอาดหยดยานี้ลงในช่องหู 3-4 หยด ทิ้งไว้ 2-3 นาที แล้วจึงเอียงศีรษะไปด้านข้างเพื่อให้ของเหลวทั้งหมดไหลออกมา
  • ใช้ยาละลายขี้หู Dewax 0.5 % ครั้งละ 3-4 หยด ประมาณ 3-4 ครั้งต่อวัน นาน 3-5 วัน ถ้าไม่ได้ผลหรือมีการปวดในหูควรพบแพทย์หูคอจมูก ข้อแนะนำควรเลิกการแคะหู ล้างหู หรือไม่ควรใช้ไม้สำลีเช็ดหรือปั่นหูเป็นประจำ เพราะ อาจกระตุ้นให้เกิดขี้หูมากขึ้น จนอุดตันรูหูได้

          ทั้งนี้ ห้ามใช้ยาหยอดหูแอลกอฮอล์และยาหยอดหูไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์กับผู้ที่มีภาวะหูชั้นนอกติดเชื้อ แก้วหูทะลุ และหูชั้นกลางอักเสบ รวมทั้งห้ามใช้สำลีก้าน นิ้ว หรือวัตถุอื่น ๆ แหย่เข้าไปในช่องหูเพื่อช่วยให้น้ำออกจากหู เพราะวัตถุดังกล่าวอาจไปเจาะถูกเยื่อแก้วหู ดันน้ำให้เข้าไปค้างลึกขึ้น หรืออาจทำให้หูชั้นนอกถลอก ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดแผลและอาจติดเชื้อในช่องหูชั้นนอกตามมาได้ 

          อย่างไรก็ตาม หากปรากฏอาการผิิดปกติต่าง ๆ เช่น ปวดหู ผิวหนังบริเวณหูแดง มีของเหลวไหลออกมาจากหู ได้ยินเสียงไม่ชัด หรือสูญเสียการได้ยิน เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์หรือแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก เพื่อรับการรักษาอื่น ๆ ที่เหมาะสมต่อไป

 

 

จัดทำโดย      

ภญ.ปาณิสรา สุขศิริพัฒนพงศ์ (ภญ.ใหม่) สาขาตลาดพลิ้ว

เอกสารอ้างอิง

1.  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี. น้ำเข้าหูเอาออกอย่างไร. [เข้าถึงเมื่อ 29 มกราคม 2566]. เข้าถึงได้ จาก:https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/gallery/

2.  ศูนย์สุขภาพการได้ยินอินทิเม็กซ์ สาขาเชียงใหม. น้ำเข้าหูทำอย่างไรดี. [เข้าถึงเมื่อ 29 มกราคม 2566]. เข้าถึงได้ จาก:https://www. https://intimexchiangmai.com/%E0%B8%99%E0%

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.