ยาน้ำสตรีใช้ได้หรือไม่ในแม่ให้นมบุตร
12 Mar, 2023 / By
salacrm01
ยาน้ำสตรีใช้ได้หรือไม่ในแม่ให้นมบุตร
เป็นความเชื่อและความนิยมของคนโบราณที่เข้าใจว่าการรับประทานยาน้ำสตรีนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่เพิ่งคลอดบุตร เพื่อช่วยให้มดลูกเข้าอู่และขับน้ำคาวปลา แต่ในความจริงแล้วสตรีหลังคลอดบุตรไม่จำเป็นต้องรับประทานยาใด ๆ เพื่อขับน้ำคาวปลา โดยสามารถใช้วิธีออกกำลังกายท่าเบา ๆ ตามที่แพทย์แนะนำเพื่อให้ฝีเย็บและมดลูกเข้าที่หลังคลอดได้ และที่สำคัญยาน้ำสตรีอาจมีข้อระวังและอันตรายในสตรีหลังคลอดได้
ผลของยาน้ำสตรีต่อคุณแม่ให้นมบุตรและทารก
คุณแม่ที่ให้นมบุตรไม่ควรรับประทานยาสตรีชนิดน้ำเนื่องจากมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ซึ่งแอลกอฮอล์ส่งผลข้างเคียงต่อทารก โดยกดการทำงานของระบบประสาทและสมองทำให้ทารกง่วงซึมตลอดเวลา ไม่ตื่นมารับประทานนมโดยทารกจะนอนถี่ขึ้น แต่ระยะเวลาที่นอนสั้นลง ทำให้คุณภาพการนอนไม่ดีส่งผลต่อพัฒนาการของร่างกาย ทำให้สมองและร่างกายเติบโตช้า น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังส่งผลทำให้น้ำนมลดลงเนื่องจากฤทธิ์ต้านฮอร์โมนออกซิโตซิน ทำให้ร่างกายของคุณแม่ไม่ถูกกระตุ้นการสร้างน้ำนมผ่านการดูดนมจากทารก โดยการตอบสนองต่อฮอร์โมนออกซิโตซินลดลงได้ตั้งแต่ 18 – 86 % และตอบสนองช้าลงได้ตั้งแต่ 29 – 331 วินาที เมื่อเทียบกับคุณแม่ที่ไม่รับประทานแอลกอฮอล์ โดยการศึกษาพบว่า สามารถตรวจพบแอลกอฮอล์ในน้ำนมได้ตั้งแต่ 30 - 60 นาที ภายหลังจากรับประทานแอลกอฮอล์ และอาจอยู่ในน้ำนมได้นานถึง 3 ชั่วโมง ได้ โดยระดับและระยะเวลาที่ตรวจพบหรือการกำจัดออกอาจขึ้นอยู่กับปริมาณและระยะเวลาที่ได้รับแอลกอฮอล์
ถึงแม้แอลกอฮอล์ในปริมาณต่ำอาจส่งผลน้อยต่อทารกที่รับประทานนมแม่ แต่การหลีกเลี่ยงการรับประทานยาน้ำสตรีที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์จะสามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับทารกน้อยได้ นอกจากนี้เมื่อคุณแม่หลังคลอดบุตรรับประทานยาน้ำสตรีอาจมีโอกาสทำให้เลือดออกมากผิดปกติจากการกระตุ้นการบีบรัดตัวของมดลูกได้จึงไม่แนะนำให้ใช้ยาน้ำสตรีหลังคลอดบุตร
ข้อห้ามและข้อระวังอื่น ๆ ของการใช้ยาสตรี
นอกจากคุณแม่ให้นมบุตรที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาสตรีแล้ว ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเส้นเลือดอุดตัน โรคเส้นเลือดขอด หรือผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด ผู้มีเลือดประจำเดือนมากผิดปกติ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก มะเร็งปากมดลูกและมะเร็งรังไข่ ก็เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ควรใช้ยาน้ำสตรีด้วยเช่นกัน เนื่องจากยาอาจส่งผลต่อโรคเดิมที่มีอยู่ เช่น เลือดออกง่าย ก้อนเนื้อหรือเซลล์มะเร็งถูกกระตุ้นให้แบ่งตัวทำให้เกิดการดำเนินไปของโรคได้ จึงควรปรึกาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยาเพื่อความปลอดภัย
กล่าวโดยสรุปคือ ยาน้ำสตรีไม่ได้อยู่ในคำแนะนำทางการแพทย์ให้ใช้ในหญิงหลังคลอดบุตร และยังควรหลีกเลี่ยงในผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคและประวัติความเสี่ยงเกี่ยวกับมะเร็งหรือก้อนเนื้อที่ เต้านม รังไข่ มดลูก และผู้ที่มีปัญหาเลือดประจำเดือนมาผิดปกติ
เรียบเรียงโดย
ภญ.พาณิชย์ ตั้งจักร์
เอกสารอ้างอิง
1.Breastfeeding and Special Circumstances. [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 31 ม.ค. 2566]. เข้าถึงได้จาก:https://www.cdc.gov/breastfeeding/breastfeeding-special-circumstances/index.html
2.Drugs and Lactation Database (LactMed®) [Internet]. Bethesda (MD): National Institute of Child Health and Human Development; 2006-. Alcohol. [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 31 ม.ค. 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK501469/