ยาม่วงทาปากเด็ก ยังใช้ได้ปลอดภัยจริงหรือ?
04 Jan, 2024 / By
salacrm01
ยาม่วงทาปากเด็ก ยังใช้ได้ปลอดภัยจริงหรือ ?
ยาม่วงคืออะไร
ยาม่วง ยาแสงหมึกหรือเจนเชียนไวโอเลต (Gentian Violet) เป็น “ยาสามัญประจำบ้าน” ที่ใช้มายาวนานในประเทศไทย จัดเป็นกลุ่มยาต้านเชื้อรา มีสรรพคุณในการรักษาฝ้าขาวในปากและการติดเชื้อที่ผิวหนัง จำหน่ายตามร้านยาทั่วไป
ยาม่วงนิยมนำมาใช้รักษาแผลในปากหรือลิ้นเป็นฝ้าขาวในเด็ก อย่างไรก็ตามมีสื่อโซเชียลหลาย ๆแหล่งแจ้งเตือนว่า “ยาม่วงอันตราย ใช้แล้วลูกเสี่ยงเป็นมะเร็ง” ทำให้หลายคนเกิดความกังวลใจโดยเฉพาะคุณพ่อ คุณแม่ที่ได้นำมาใช้ทาปากให้กับลูกน้อยไปแล้ว
เพจเลี้ยงลูกตามใจหมอโดย ผศ. นพ. วรวุฒิ เชยประเสริฐ หรือหมอวิน กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยา และมะเร็งในเด็ก ได้ออกมาเน้นย้ำว่า “ยาม่วงยังคงปลอดภัยและใช้ได้ตามคำแนะนำปกติตามข้อบ่งชี้“ ” ข้อมูลที่ระบุว่าเจนเชียลไวโอเล็ตเป็นสารก่อมะเร็ง จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าเป็นการทดลองในหนู โดยให้รับประทานเจนเชียลไวโอเล็ตในขนาดกลางและขนาดสูง” ทุกวันเป็นระยะเวลา 24 เดือน แล้วพบว่าเพิ่มเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ และมะเร็งต่อมไทรอยด์ โดยไม่ได้ระบุข้อมูลรายละเอียดขนาดที่ใช้ อีกทั้งเป็นการใช้ภายในแต่ข้อมูลวิธีใช้ในประเทศไทยเป็นยาที่ใช้ภายนอกเท่านั้น
Health Canada ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องการช่วยเหลือและส่งเสริมให้พลเมืองแคนาดามีสุขภาพที่ดีได้ชี้แจงว่าไม่พบความเชื่อมโยงการเกิดมะเร็งกับการใช้เจนเชียนไวโอเลตในมนุษย์ อย่างไรก็ตามไม่มีข้อมูลการศึกษาความปลอดภัยสำหรับสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร รัฐบาลแคนาดาได้ห้ามไม่ให้มีการใช้ยาเจนเชียนไวโอเลตทั้งในมนุษย์และสัตว์ และชี้แจงว่าการยกเลิกตำรับยาเจนเชียนไวโอเลตในแคนาดาเป็นไปโดยความสมัครใจของผู้ประกอบการ
ยาม่วงเป็น “ยาใช้ภายนอก ยาใช้เฉพาะที่” ปริมาณและวิธีการใช้ยาม่วง โดยทั่วไปใช้รักษาการติดเชื้อจากเชื้อราทางผิวหนังในเด็กและผู้ใหญ่โดยใช้ไม้พันสำลีแต้มยาแล้วทาบนผิวหนังที่มีการติดเชื้อจำนวน 2-3 ครั้งต่อวัน ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน
การใช้ยาม่วงสำหรับเชื้อราในช่องปากไม่ได้มีระบุไว้บนฉลากหรือเรียกว่า Off-label use ซึ่งการใช้ยาม่วงทาเชื้อในช่องปากสามารถใช้ได้ตามสรรพคุณรักษาเชื้อราได้นั่นเอง โดยใช้ในผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง ทาบริเวณแผลวันละสองครั้ง หรือกลั้วปากและอมไว้ให้นานที่สุดก่อนบ้วนทิ้ง ระยะเวลาที่ใช้ 7-14 วัน ควรระมัดระวังการระคายเคืองในเด็กทารกหรือเด็กเล็ก ไม่ควรใช้ในความเข้มข้นสูง และไม่แนะนำให้ใช้ในระยะยาว ส่วนการรักษาแผลในช่องปากอื่น ๆ เช่น แผลร้อนใน ยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
ยาม่วงรายละเอียดที่ควรระวังในผู้ป่วยบางกลุ่มดังนี้
- ผู้ที่มีอาการแพ้จากการใช้ยาม่วง แพ้ยา ชนิดอื่น ๆ รวมถึงผู้ที่มีอาการแพ้อาหาร สี สารกันบูด
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาด้านความปลอดภัยในผู้ป่วยกลุ่มนี้
- ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ อาจเพิ่มการระคายเคืองเยื่อบุในช่องปาก
- ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับเมตาบอลิค เช่น โรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria) ต้องระมัดระวังการใช้ เนื่องจากหากใช้ปริมาณมากเกินไปและใช้ทาในปากอาจมียาบางส่วนเข้าสู่ร่างกายและเกิดปัญหาในการขจัดยา
ดังนั้น เภสัชกรขอสรุปได้เลยว่าหากเราใช้เจนเชียลไวโอเลตในขนาดแนะนำปกติ ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง แต่อย่างไรก็ตามยาก็คือยาต้องใช้ตามข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องใช้ ใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากยาม่วงเป็นยาใช้ภายนอก อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้โดยเฉพาะในเด็ก และยังสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงและอาจแพ้ได้เหมือนยาอื่น ๆ ทั่วไป
เรียบเรียงโดย
ภญ.ยุวรีย์ ไชยลังกา (ภญ.ยุ)
เอกสารอ้างอิง
1.Government of Canada activities and initiatives. (2021). Summary Safety Review - Gentiane Violet Liquid Topical (gentian violet) and Hydrofera Antibacterial Foam Dressings - Health Canada. Retrieved 25 March 2023, from https://hpr-rps.hres.ca/reg-content/summary-safety-review-detail.php?lang=en&linkID=SSR00224&fbclid=IwAR3-K_tTKl6tMBwXjX_N2BnY88c7F255YhR21pFq-muLEwf4g54ZEe6o8sU
2.Sun, et al., C. (2018). Evidence on the Carcinogenicity of Gentian Violet. OEHHA. Proposition 65.1-5. Retrieved from https://oehha.ca.gov/media/downloads/crnr/gentianviolethid081718.pdf?fbclid=IwAR1xcgUD2GY-naq4pvMzjpVHMAKGOKmz5gW36h8yOiggO-37FgyuwAEe8UQ
3.Alexander M. Maley, MD and Jack L. Arbiser, MD, PhD. (2013). Gentian Violet: A 19th Century Drug Re-Emerges in the 21st. HHS Public Access. (Research reports). Retrieved from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4396813/pdf/nihms533034.pdf?fbclid=IwAR0FeuWcmMWA6VvZ-jZiaHU2T5tMZF0odnplQSNb7PSP4xTjkFi9aVy30ks
4.หน่วยเภสัชสนเทศและบริการสังคม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.ยาม่วง. [อินเทอร์เน็ต]. 2566 [เข้าถึงเมื่อ 13 มี.ค. 2566]. เข้าถึงได้จาก: http://drug.pharmacy.psu.ac.th/webboard/wball.php?idqa=358