หน้าหลัก > สาระเรื่องยา > เกลือแร่ท้องเสีย กับเกลือแร่ออกกำลังกาย ต่างกันยังไงนะ?
เกลือแร่ท้องเสีย กับเกลือแร่ออกกำลังกาย ต่างกันยังไงนะ?
เกลือแร่ท้องเสีย กับเกลือแร่ออกกำลังกาย ต่างกันยังไงนะ?
27 Jul, 2021 / By salacrm01
Images/Blog/goX4FuKw-Untitled-1.jpg

เกลือแร่ท้องเสีย กับเกลือแร่ออกกำลังกาย ต่างกันยังไงนะ?

          หลายคนคงคิดว่าเกลือแร่อะไรก็เหมือน ๆ กันหมด แต่จริง ๆ แล้วนั้นเกลือแร่มีด้วยกัน 2 ประเภท ได้แก่ เกลือแร่สำหรับผู้ป่วยท้องเสีย และเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้ดูผิวเผินหน้าตาคงคล้าย ๆ กัน แต่ในความจริงนั้นมีความแตกต่างทั้งในด้านการจัดประเภท และการทำหน้าที่ทดแทนเกลือแร่ในร่างกาย ซึ่งถ้าหากรับประทานไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้ด้วยค่ะ ดังนั้นเรามาทำความรู้จักเจ้าเกลือแร่ทั้ง 2 ประเภทกันเลยค่ะ

1. เกลือแร่สำหรับผู้ป่วยท้องเสีย หรือ Oral Rehydration Salts (ORS) ถูกจัดประเภทเป็นยาสามัญประจำบ้าน ส่วนใหญ่อยู่ในรูปผง ต้องละลายน้ำก่อนดื่ม ใช้สำหรับผู้ป่วยที่ท้องเสีย ท้องร่วง อาเจียน มีส่วนประกอบเป็นเกลือแร่เป็นหลัก โดยส่วนประกอบได้แก่ โซเดียมคลอไรด์ (Sodium Chloride), โพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium Chloride), โซเดียมซิเตรท (Sodium Citrate) และ เดกโตรส (Dextrose) หรือ กลูโคส (Glucose) โดยโซเดียมคลอไรด์ โพแทสเซียมคลอไรด์ และโซเดียมซิเตรท เป็นแร่ธาตุหลักที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ ส่วนเดรกโตรสหรือกลูโคส เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้รวดเร็วจึงให้พลังงานได้ทันที เนื่องจากการเสียน้ำจากอาการท้องเสีย เป็นภาวะที่ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ในทันที ร่างกายจึงต้องการน้ำและเกลือแร่มาทดแทน ร่างกายจะนำเกลือแร่ที่รับประทานเข้าไป เข้าไปทดแทนเกลือแร่ในส่วนที่ขาดหายเพื่อรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

          การดื่มเกลือแร่ควรจิบอย่างช้าๆ แทนน้ำ ไม่ดื่มรวดเดียว เนื่องจากการดื่มหมดในคราวเดียวอาจทำให้ลำไส้แปรปรวนและท้องเสียมากกว่าเดิม การผสมเกลือแร่ให้ผสมในน้ำดื่มสะอาดหรือน้ำต้มสุกตามปริมาตรที่ระบุบนซอง หากผสมด้วยปริมาตรที่ผิดไปจากที่ระบุอาจทำให้ได้น้ำเกลือแร่ที่มีความเข้มข้นไม่เหมาะสม  เมื่อละลายน้ำแล้ว ควรรับประทานให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง  หากเกินกว่านั้นไม่แนะนำให้นำมารับประทานต่อ รวมทั้งควรเก็บรักษาน้ำเกลือแร่ที่ผสมแล้วในภาชนะที่ปิดสนิทเพื่อลดโอกาสในการปนเปื้อน และควรระวังการใช้เกลือแร่ในผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ

2. เกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย หรือ Oral Rehydration Therapy (ORT) จัดเป็นอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์มักอยู่ในรูปแบบเครื่องดื่มพร้อมดื่มบรรจุขวด แต่อาจพบในรูปผงที่ต้องละลายน้ำก่อนดื่มได้เช่นกัน เกลือแร่ชนิดนี้มีน้ำตาล เช่น กลูโคส (Glucose) เป็นหลัก เมื่อออกกำลังกายจะเกิดการเผาผลาญพลังงาน ทำให้ร่างกายร้อนขึ้น จึงมีการขับเหงื่อเพื่อให้ร่างกายเย็นลง เหงื่อที่ไหลออกมาจะประกอบไปด้วย น้ำ 90% และ เกลือแร่ 10% ซึ่งร่างกายจะมีระบบป้องกันไม่ให้สูญเสียเกลือแร่ไปกับเหงื่อมากจนเกินไป ดังนั้นจึงไม่ได้ต้องการเกลือแร่ชดเชยมากนัก ในเกลือแร่สำหรับออกกำลังกายจึงมีส่วนผสมของน้ำตาลมากกว่าเกลือแร่ เพื่อเน้นเพิ่มน้ำตาลในเลือดที่ถูกใช้ไปเป็นพลังงาน

          ผู้ที่มีอาการท้องเสีย หรือท้องร่วง ไม่ควรดื่มเกลือแร่สำหรับผู้ที่สูญเสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย เนื่องจากร่างกายจะสูญเสียน้ำและแร่ธาตุอย่างฉับพลันจากภาวะท้องเสียหรืออาเจียน ซึ่งควรได้รับการทดแทนในทันที แตกต่างจากการออกกำลังกายที่ร่างกายสูญเสียน้ำและน้ำตาลเป็นหลักและเสียแร่ธาตุในปริมาณที่น้อยมาก โดยในสูตรตำรับเกลือแร่ทดแทนที่กล่าวไปข้างต้น เกลือแร่สำหรับผู้ออกกำลังกายจะมีปริมาณน้ำตาลที่มากกว่า ดังนั้นหากอยู่ในภาวะท้องเสีย หรือท้องร่วง แล้วนำเกลือแร่สำหรับผู้ที่สูญเสียเหงื่อจากการออกกำลังกายมารับประทาน อาจไปกระตุ้นให้ลำไส้เกิดการทำงานมากขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำตาลที่มีสูงมากเกินไป น้ำตาลจะดึงน้ำเข้าไปสู่ลำไส้ ทำให้ลำไส้บีบตัวมากขึ้น ส่งผลให้อาจจะเกิดภาวะท้องเสียหรือท้องร่วงหนักขึ้น

         ส่วนผู้ที่สูญเสียเหงื่อมากจากการออกกำลังกายหรือใช้แรง หากนำเอาเกลือแร่สำหรับท้องเสียมารับประทาน ก็อาจจะทำให้ร่างกายไม่ได้รับเกลือแร่และน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสมได้ จึงไม่สามารถทดแทนแร่ธาตุในส่วนที่ขาดหายได้นั่นเอง เพราะตอนออกกำลังกายเราจะเสียน้ำและน้ำตาลเป็นหลัก เสียเกลือแร่น้อยมาก ซึ่งในเกลือแร่แก้ท้องเสียจะมีปริมาณน้ำตาลที่น้อยกว่า แต่จะมีปริมาณเกลือแร่ที่มากกว่า

         ดังนั้นก่อนที่จะเลือกใช้เกลือแร่ ควรพิจารณาให้ดีก่อนว่าเกลือแร่นั้นเป็นเกลือแร่สำหรับท้องเสีย หรือเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย

จัดทำโดย

ภญ.จุฑานุช สุรพงษ์ประชา

อ้างอิง

[1] Fit me sportswear. เกลือแร่ท้องเสีย กับ เกลือแร่ออกกำลังกาย ดื่มแทนกันได้หรือไม่. [อินเทอร์เน็ต]. ม.ป.ป. [เข้าถึงเมื่อ 30 ม.ค. 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www.fitmesport.com/ors-vs-ort/

[2] กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักคณะกรรมการอาหารและยา. ท้องเสีย จิบเกลือแร่สำหรับคนท้องเสีย อย่าจิบเกลือแร่สำหรับนักกีฬา. [อินเทอร์เน็ต]. ม.ป.ป. [เข้าถึงเมื่อ 30 ม.ค. 2564]. เข้าถึงได้จาก:http://pca.fda.moph.go.th/public_media_detail.php?id=6&cat=56&content_id=1051

[3] Jones’ Salad. เกลือแร่ท้องเสีย vs เกลือแร่ออกกำลังกาย. [อินเทอร์เน็ต]. ม.ป.ป. [เข้าถึงเมื่อ 30 ม.ค. 2564]. เข้าถึงได้จาก:https://jonessalad.com/2019/08/30/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2-vs-%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD/

[4] ศรีวรรณ ธีระมั่นคง. น้ำดื่มเกลือแร่...สำหรับท้องเสีย หรือ วิ่งมาราธอน. [อินเทอร์เน็ต]. ม.ป.ป. [เข้าถึงเมื่อ 30 ม.ค. 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://pharm.tu.ac.th/uploads/pharm/pdf/articles/20190328_01.pdf

[5] โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. เลือกดื่มเกลือแร่ให้เป็น ชดเชยน้ำให้ถูกวิธี. [อินเทอร์เน็ต]. 2562 [เข้าถึงเมื่อ 30 ม.ค. 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/august-2019/oral-rehydration-salt

 

เพิ่มเพื่อน

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.