หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > การดูแลแผลกดทับในผู้ป่วยติดเตียง
การดูแลแผลกดทับในผู้ป่วยติดเตียง
การดูแลแผลกดทับในผู้ป่วยติดเตียง
30 Jul, 2021 / By salacrm01
Images/Blog/ATLtKAd8-ผู้ป่วยติดเตียง.jpg

การดูแลแผลกดทับในผู้ป่วยติดเตียง

      แผลกดทับ หมายถึง การที่ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังถูกทำลายหรือได้รับบาดเจ็บ อันเนื่องมาจากได้รับแรงกดทับโดยเฉพาะบริเวณที่มีปุ่มกระดูกหรือบริเวณที่มีอุปกรณ์การแพทย์ค้ำอยู่

     โดยทั่วไปแผลกดทับมักเกิดในผู้ป่วยติดเตียง ไม่ค่อยขยับตัว หรือพบในผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถพลิกตัวได้ จนเกิดการนอนในท่าทางเดิมเป็นเวลานาน ๆ จึงส่งผลให้เกิดแผลกดทับขึ้น

       การป้องกันในกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่เป็นแผลกดทับ

1.การทำความสะอาดผิวหนัง ควรทำความสะอาดผิวหนังเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะหลังจากขับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ และควรหลีกเลี่ยงการขัดหรือถูบริเวณผิวหนัง เมื่อทำความสะอาดเสร็จแล้วควรซับน้ำให้แห้งเพื่อป้องกันความอับชื้น

2.ป้องกันผิวหนังเพื่อลดการสัมผัสกับความอับชื้นหรืออุจจาระปัสสาวะระหว่างขับถ่าย ดูแลผิวหนังเพื่อให้ความชุ่มชื้นโดยการทาผลิตภัณฑ์เคลือบผิว (Ointment, Paste)  เพื่อลดการสัมผัสสิ่งอับชื้น หรือเพื่อป้องกันการเสียดสีกับที่นอน

3.ไม่ควรออกแรงนวดบริเวณผิวหนังผู้ป่วย โดยเฉพาะบริเวณปุ่มกระดูก หรือข้อกระดูก เนื่องจากจะทำให้เกิดแรงกดทับหรือแรงเสียดสีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผิวหนังบริเวณที่นวดเกิดการอักเสบ

4.การจัดท่าทางการนอนของผู้ป่วย  ในผู้ป่วยติดเตียงควรควรมีการพลิกตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ และหากผู้ป่วยอยู่ในท่านอน ควรมีการพลิกตัวผู้ป่วยและใช้อุปกรณ์พยุงหลังไว้ในอยู่ในท่าทางนอนหงายกึ่งตะแคง เพื่อลดการกดทับของกระดูกบริเวณสะโพกของผู้ป่วย

5.ผู้ป่วยที่น้ำหนักตัวค่อนข้างมากหรือผู้ป่วยที่นอนติดเตียงเป็นระยะเวลานาน อาจจะมีการใช้ที่นอนลม เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ โดยหลักการทำงานของอุปกรณ์ดังกล่าวคือ ที่นอนลมจะมีการปั๊มแรงดันลมเข้าไปในแต่ละลอนประมาณลอนละ 8-10 นาที  จากนั้นลอนดังกล่าวจะแฟ่บลง ส่วนลอนอื่น ๆ จะถูกปั๊มลมเข้าไปแทน การปั๊มลมสลับกันอย่างเป็นจังหวะ ส่งผลให้ผิวหนังของผู้ป่วยไม่ได้รับแรงกดทับเป็นระยะเวลานาน ซึ่งสามารถใช้ในการป้องกันแผลกดทับได้

       การดูแลผู้ป่วยที่เป็นแผลกดทับ

    ระดับของแผลกดทับตาม National Pressure Ulcer Advisory Panel (NPUAP) 2016 แบ่งได้เป็น 5 ประเภท  ได้แก่

       1.แผลกดทับระดับที่ 1

    ลักษณะแผลกดทับ ผิวหนังบริเวณที่ถูกกดทับมีลักษณะเป็นรอยแดงแต่ยังไม่มีแผลเปิด โดยรอยแดงดังกล่าวจะไม่หายไปภายใน 30 นาทีหลังจากพลิกตัวเปลี่ยนท่าทาง

     การดูแลแผลกดทับ

  • จับผู้ป่วยตะแคงหรือพลิกตัวเพื่อเปลี่ยนท่าทางทุก 2 ชั่วโมง
  • จัดหาอุปกรณ์เพื่อรองหรือแทรกระหว่างตัวของผู้ป่วย เช่น อาจหาเบาะหรือหมอนแทรกระหว่างตัวของผู้ป่วยกับเตียงนอน เพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าทางตะแคงกึ่งนอนหงาย เพื่อป้องกันไม่ให้สะโพกและไหล่ของผู้ป่วยเสียดสีกับเตียงนอน หรือ ในกรณีที่ผู้ป่วยนอนในท่าตะแคงอาจหาหมอนหรือเบาะเพื่อมาแทรกระหว่างขาของผู้ป่วยป้องกันไม่ให้เกิดการเสียดสีระหว่างกระดูกข้อเข่าและผิวหนังของผู้ป่วย
  • ผ้าปูที่นอนควรปูให้ตึง เนื่องจากรอยยับของที่นอนจะเสียดสีกับผิวหนังของผู้ป่วยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับ
  • ทาผลิตภัณฑ์เคลือบผิวผู้ป่วยเพื่อป้องกันการเสียดสีระหว่างผิวหนังกับที่นอน

       2.แผลกดทับระดับที่ 2

    ลักษณะแผลกดทับ ผิวหนังจะมีลักษณะบางจนเห็นชั้นหนังแท้มีลักษณะเป็นสีชมพูแดง ๆ หรือบางรายอาจมีตุ่มน้ำพองใสขึ้นบริเวณที่เป็นแผลกดทับ

    การดูแลแผลกดทับ

  • ล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือ เมื่อทำความสะอาดแผลเสร็จแล้วควรปิดแผลเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว หรือในกรณีที่แผลมีน้ำหนองหรือสารคัดหลั่งอาจะใช้แผ่นแปะที่มีคุณสมบัติในการดูดซับสารคัดหลั่งดังกล่าว
  • พลิกตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง

       3.แผลกดทับระดับที่ 3

    ลักษณะแผลกดทับ  มีลักษณะที่เป็นหลุมลึกลงไป  มีการสูญเสียชั้นผิวหนังทั้งหมด เริ่มปรากฎเห็นชั้นไขมัน

    การดูแลแผลกดทับ

  • แผลตื้น : ใหใช้สำลีชุบน้ำเกลือทำความสะอาดแผลอย่างเบามือ
  • แผลลึก : ให้ใช้ Syringe ดูดน้ำเกลือแล้วฉีดทำความสะอาดแผลจนกว่าน้ำเกลือที่ไหลออกมาจากแผลจะมีลักษณะเป็นน้ำใสไม่ขุ่น โดยในการทำความสะอาดแผลอาจจะทำความสะอาดประมาณวันละ 2 - 3 ครั้ง
  • หากมีไข้หรือแผลเปื่อยส่งกลิ่นเหม็นเน่าให้รีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เนื่องจากแผลอาจมีการติดเชื้อ
  • พลิกตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง

       4.แผลกดทับระดับที่  4

    ลักษณะแผลกดทับ มีการสูญเสียผิวหนังชั้นกล้ามเนื้อทั้งหมด โดยแผลกดทับระดับนี้จะมองเห็นกระดูก เส้นเอ็น พังผืดใต้ผิวหนัง

    การดูแลแผลกดทับ

  • การเกิดแผลทดทับในระดับนี้มักเป็นการลุกลามเข้าไปถึงชั้นกระดูกและเส้นเอ็น โดยมากมักเป็นแผลติดเชื้อ ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
  • พลิกตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง

       5.แผลกดทับไม่สามารถระบุระดับได้

    ลักษณะแผลกดทับ เป็นการสูญเสียชั้นผิวหนังทั้งหมด โดยเป็นแผลขนาดลึกที่ถูกปกคลุมไว้ด้วยเนื้อเยื่อตายเหนียวและมีสะเก็ดหนา สีดำ น้ำตาล เทาเข้ม หรือสีเหลือง

    การดูแลแผลกดทับ

  • การเกิดแผลทดทับในระดับนี้มักเป็นการลุกลามเข้าไปถึงชั้นกระดูกและเส้นเอ็น โดยมากมักเป็นแผลติดเชื้อ ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
  • พลิกตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง

       น้ำยาล้างแผลที่ใช้ทำความสะอาดแผลกดทับ

          ในการทำความสะอาดแผลกดทับควรใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อความเข้มข้น 0.9% และควรหลีกเลี่ยงการใช้ Povidone iodine, Alcohol, Hydrogen peroxide ในการทำความสะอาด  เนื่องจากจะทำให้เนื้อเยื่อที่สร้างขึ้นมาใหม่ถูกทำลาย ส่งผลให้แผลหายช้า

ข้อแนะนำเพิ่มเติม

          ในกรณีที่ต้องใช้ยาในการรักษา ยาทาแผลกดทับที่แนะนำ  คือ  intrasite gel เนื่องจากด้วยกลไกของตัวผลิตภัณฑ์จะกระตุ้นการสลายเนื้อตายโดยธรรมชาติ รวมถึงส่งเสริมกระบวนการหายของแผลโดยเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณเนื้อเยื่อและไม่ทำอันตรายกับเนื้อเยื่อโดยรอบ

          การรับประทานอาหารในผู้ป่วยที่เป็นแผลกดทับแนะนำให้เพิ่มการทานประเภทโปรตีน เพื่อช่วยเสริมสร้างกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อผิวหนังของร่างกาย

จัดทำโดย

ภญ.ศิริกาญจน์  สระแก้ว

อ้างอิง

1. Connor KO. Pressure ulcer. In Delisa JA, Gans BM, Bockeneck WL, et al editors. Physical medicine and rehabbitation : Princuple and practice vol.2  4th edition .Philiadelphia : Lippincott Willium and Wilkins; 2005 .P.1605-18

2. Bolognia, Jean L., ed. Dermatology, pp.1645-1648. New York: Mosby, 2003.

3. Educational and clinical Resources I Thenational Pressure Ulcer Advisory Panel-NPUAP [Internet].[cited 2021  Feb 16]. Available from : https://npiap.com/page/resources

4. วาสนา กลิ่นชื่น และ นพเก้า ชนะภัย. การดูแลแผลกดทับเบื้องต้น. มหาวิยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ 2561 : หน้า 1-12

5. ปรัชญพร คำเมืองลือ. การฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีแผลกดทับ(Pressure Ulcer management). คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : หน้า 1-27

 

เพิ่มเพื่อน

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.