การไอ
17 Dec, 2022 / By
salacrm01
การไอ
การหายใจเป็นกระบวนการที่ร่างกายนำอากาศที่มีออกซิเจน (Oxygen) เข้าสู่ปอดเพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์และนำคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกจากร่างกายผ่านกระบวนการหายใจออก โดยทางเดินหายใจแบ่งออกเป็น ทางเดินหายใจส่วนบนและทางเดินหายใจส่วนล่าง ทางเดินหายใจส่วนบนประกอบด้วย จมูก ปาก ลำคอ กล่องเสียง ทางเดินหายใจส่วนล่างประกอบด้วย หลอดลม ปอด ถุงลม
การไอเป็นกระบวนการป้องกันการสำลักของร่างกายและเป็นการเปิดทางเดินหายใจให้โล่งขึ้น การไอจะช่วยป้องกันอันตราย จากของเสียที่มาตามอากาศ มลพิษต่าง ๆ เช่น เชื้อโรค ควันบุหรี่ โดยกลไกการเกิดการไอนั้นจะเริ่มจากการที่มีสิ่งมากระตุ้นทำให้เกิดอาการระคายเคืองโดยจะมีตัวรับสัญญาณการไออยู่บริเวณต่าง ๆ เช่น จมูก โพรงหลังจมูก คอหอย กล่องเสียง หลอดลม ปอด เยื่อหุ้มหัวใจและกระเพาะอาหาร โดยส่งสัญญาณผ่านเส้นประสาทคู่ที่ 10 ไปยังศูนย์ควบคุมการไอ
สาเหตุการไอ
เกิดจากกลุ่มโรคหืด, ไอจากภูมิแพ้, วัณโรค, โรคกรดไหลย้อน , ยา เช่น ยากลุ่ม ACE-Is โดยจะเป็นหลังจากได้รับยามาเป็นระยะเวลาหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์ โดยอาการจะหายไปได้เองเมื่อหยุดยา, การสูบบุหรี่, โรคของหลอดลม
อาการไอเมื่อแบ่งตามระยะเวลาการไอจะแบ่งได้เป็น 3 ชนิด
1. ไอเฉียบพลัน (Acute) ระยะเวลาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์
2. ไอกึ่งเฉียบพลัน (Subacute) ระยะเวลาการไออยู่ที่ 3 – 8 สัปดาห์
3. ไอเรื้อรัง (Chronic) ระยะเวลาการไออยู่ที่ 8 สัปดาห์ขึ้นไป
ยาแก้ไอมีอะไรบ้าง
1. ยากดการไอ ออกฤทธิ์โดยกระตุ้น sigma opioid receptors ที่อยู่ศูนย์ควบคุมการไอในระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้การไอน้อยลด เช่น Dextromethorphan, Codeine
2. ยาขับเสมหะ ออกฤทธิ์โดยการลดความหนืดของสารคัดหลั่งโดยเพิ่มน้ำมาหล่อเลี้ยงที่ทางเดินหายใจ เช่น Guaifenesin (Glyceryl guaiacolate)
3. ยาละลายเสมหะ ออกฤทธิ์โดยลดความหนืดของสารคัดหลั่งโดยทำลายพันธะ Disulfide ระหว่าง Mucin monomers เช่น Bromhexine, Ambroxol, Acetylcysteine,Carbocysteine
สมุนไพรที่ช่วยบรรเทาอาการไอ เช่น มะนาว มะขามป้อม มะแว้ง เป็นต้น
การรักษา
การรักษาอาการไอหากพบว่าเป็นการไอที่รุนแรง เช่น ไอเป็นเลือด ไอแล้วเสียงแหบ มีไข้น้ำหนักตัวลดลง หายใจหอบเหนื่อยหายใจลำบาก ให้ส่งต่อเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยต่อไป เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อรุนแรง เช่น เชื้อวัณโรค ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจโดยละเอียด หากเป็นการไอไม่รุนแรงพิจารณาตามสาเหตุของการเกิดการไอ เช่น ถ้าไอจากการติดเชื้อไวรัสให้ทำการรักษาตามอาการ ถ้าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียให้รักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หากไอจากการมีโรคร่วมให้พิจารณารักษาตามโรคที่ผู้ป่วยเป็น โดยการจัดการการไอเฉียบพลันนั้นต้องกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดการไอออกไปโดยเร็วโดยต้องเลือกยาแก้ไอให้เหมาะสมกับอาการไอที่เป็น
สำหรับอาการไอแบบมีเสมหะ มียาสองกลุ่ม คือ ยาขับเสมหะและยาละลายเสมหะ โดยยาสองกลุ่มนี้จะช่วยเรื่องการไอและทำให้เสมหะขับออกมาได้ง่ายมากขึ้น
สำหรับอาการไอแห้ง มียากลุ่มกดการไอ โดยยากลุ่มนี้จะทำให้ร่างกายตอบสนองต่อการไอน้อยลง ยากลุ่มนี้จะเหมาะกับคนที่มีอาการไอแบบไม่มีเสมหะ ไอจากการแพ้ ควรระวังการใช้ในคนที่มีอาการไอแบบมีเสมหะเนื่องจากจะทำให้เสมหะในร่างกายไม่ถูกขับออกมาและทำให้เสมหะเหนียวข้นมากขึ้นอาจจะส่งผลให้อาการไอแย่ลงได้ และนอกจากนี้ยากลุ่มนี้ยังอาจทำให้เกิดการเสพติดยาได้
เรียบเรียงโดย
ภก.ภีมวัฒน์ เดชประเสริฐ
อ้างอิง
1. ไอเรื้อรังต้องมีสาเหตุ [Internet]. BANGKOK HOSPITAL. 2022 [cited 4 October 2022]. Available from: https://www.bangkokhospital.com/content/diagnosis-of-chronic-cough
2. Morice AH, Millqvist E, Bieksiene K, Birring SS, Dicpinigaitis P, Domingo Ribas C, et al. ERS guidelines on the diagnosis and treatment of chronic cough in adults and children. Eur Respir J. 2020 01;55(1):1901136.
3. ปารยะ อาศนะเสน. อาการไอ (Cough) ตอนที่ 1 [Internet]. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. 2010 [cited 4 October 2022]. Available from: https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=327
4. ข้อแนะนำการปฏิบัติสาธารณสุขการรักษาผู้ป่วยไอเรื้อรังในผู้ใหญ่ พ.ศ.2559 [Internet]. ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2016 [cited 4 October 2022]. Available from: https://w1.med.cmu.ac.th/family/knowledge/for-doctor/guideline/2817
5. PubChem [Internet]. Bethesda (MD): National Library of Medicine (US), National Center for Biotechnology Information; 2004-. PubChem Compound Summary for CID 5360696, Dextromethorphan; [cited 2022 Oct. 12]. Available from: https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/Dextromethorphan
6. การจัดการอาการไอเฉียบพลันในผู้ใหญ่ [Internet]. 2018 [cited 5 October 2022]. Available from: https://www.wongkarnpat.com/upfilecpe/CPE235.pdf
7. Glashan E, Mahmoud SH. Cough. Patient Assessment in Clinical Pharmacy. 2018 Dec 28:67–78. doi: 10.1007/978-3-030-11775-7_5. PMCID: PMC7123091.
8. ธีรัตถ์ เหลืองมั่นคง. ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? [Internet]. มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์. 2013 [cited 5 October 2022]. Available from: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/169/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%AD-%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A/