บรรเทาอาการหวัดคัดจมูกง่าย ๆ ได้ที่บ้าน
10 Nov, 2022 / By
salacrm01
บรรเทาอาการหวัดคัดจมูกง่าย ๆ ได้ที่บ้าน
อาการคัดจมูก เกิดจากหลอดเลือดที่โพรงไซนัสขยายตัว หรือเยื่อบุในโพรงจมูกผิดปกติเนื่องจากกระบวนการอักเสบทำให้ทางเดินหายใจบวมขึ้น โดยมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสหวัด จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นต้น
การรักษาอาการหวัด คัดจมูกด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งยา อาจแบ่งได้ 3 วิธี คือ
1.การใช้น้ำเกลือหยอดล้างจมูก
2.การสูดดมไอน้ำร้อน
3.การสูดดมน้ำมันหอมระเหย
1.การใช้น้ำเกลือล้างจมูก หรือน้ำเกลือหยอดล้างจมูกในเด็กเล็ก
การล้างโพรงจมูกด้วยน้ำเกลือ มีส่วนช่วยชำระล้างน้ำมูก และสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ทำให้โพรงจมูกชุ่มชื้น ช่วยลดอาการน้ำมูกไหลลงคอ และลดอาการคัดจมูกช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น โดยชนิดและความเข้มข้นของน้ำเกลือที่ใช้ในการล้างจมูก คือ 0.9% โซเดียมคลอไรด์
ขั้นตอนการล้างจมูกโดยใช้ไซริงค์ฉีดล้าง
1) ล้างมือและไซริงค์ให้สะอาด
2) เทน้ำเกลือใส่ในภาชนะที่สะอาด
3) ใช้ไซริงค์ดูดน้ำเกลือจากภาชนะที่สะอาดประมาณ 10-20 มิลลิลิตร ตามขนาดของไซริงค์ และ
4) โน้มตัวเหนือภาชนะรองน้ำ
5) ค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือเข้ารูจมูกข้างใดข้างหนึ่งพร้อมกับ“กลั้นหายใจ ก้มหน้า อ้าปาก” ให้น้ำเกลือจะไหลเข้าไปในโพรงจมูก และไหลออกทางรูจมูกอีกด้านหนึ่ง
6) ล้างจมูกอีกข้างหนึ่ง ด้วยขั้นตอนแบบเดียวกัน
7) ทำซ้ำโดยล้างจมูกสลับกันไปมา หรือล้างจนกว่าจะรู้สึกหายใจโล่ง ไม่มีน้ำมูก
ขั้นตอนการล้างจมูก แบบหยด (ในเด็กเล็ก แรกเกิด-1ปี)
1) ล้างมือให้สะอาด
2) ใช้ผ้าสะอาดห่อตัวกันเด็กดิ้น
3) ให้อยู่ในท่านอนราบแล้วจับแหงนหน้าขึ้นเล็กน้อย
4) หยดน้ำเกลือในรูจมูก 2-3 หยด
5) ดูดน้ำมูกออกด้วยลูกยาง หรือใช้ไม้พันสำลีเช็ดน้ำมูกออก
6) ทำซ้ำโดยสลับข้างจมูกไปมา จนกว่าจะสังเกตเห็นว่าไม่มีน้ำมูกแล้ว
2.การสูดดมไอน้ำร้อน
มีประสิทธิภาพในการลดอาการหวัดรวมถึงโรคทางเดินหายใจอื่น อาจมีผลช่วยกำจัดเชื้อโรค และลดการสร้างสารคัดหลั่ง สารก่อการอักเสบ และสามารถช่วยลดอาการต่าง ๆ เช่น น้ำมูกไหล คันจมูก จาม เป็นต้น มีการศึกษาผลของการสูดดมไอน้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 42-44 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 นาที ในผู้ป่วยไทยที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ พบว่าช่วยลดอาการคัดจมูกได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
วิธีการสูดดมไอน้ำร้อนอย่างเหมาะสม
1) นำน้ำสะอาดต้มให้เดือด
2) เตรียมภาชนะปากกว้าง เช่น ชามหรืออ่างชนิดทนความร้อน
3) เทน้ำเดือดใส่ภาชนะ คลุมศีรษะด้วยผ้าขนหนูโดยให้คลุมรอบภาชนะเพื่อให้สามารถรับไอน้ำร้อนได้อย่างสะดวก หลับตาขณะสูดดมไอน้ำร้อน
4) สูดดมไอน้ำร้อนโดยหายใจเข้าออกปกติ ถ้าไอน้ำร้อนมากเกินไป อาจพักชั่วคราว แนะนำให้สูดไอน้ำร้อนก่อนการพ่นยาทางจมูก (ถ้ามี) โดยเฉพาะในรายที่มีอาการคัดจมูก เพื่อให้ยาสัมผัสเยื่อบุจมูก และออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น
5) สำหรับเด็กควรอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง
3.น้ำมันหอมระเหย (Active aromatic vapors)
น้ำมันหมอระเหย เช่น เมนทอล การบูร น้ำมันยูคาลิปตัส จะมีผลทำให้อุณหภูมิภายในโพรงจมูกลดลงช่วยลดอาการคัดจมูก ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบาย และหายใจได้โล่งจมูกมากขึ้น
การศึกษาการใช้น้ำมันหอมระเหยในเด็กจากการศึกษาเรื่อง Vapor Rub, Petrolatum, and No Treatment for Children With Nocturnal Cough and Cold Symptoms ศึกษาเกี่ยวกับอาการหวัดและการนอนหลับในผู้ป่วยเด็กที่เป็นหวัดอายุ 2 ถึง 11 ปี จำนวน 138 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยสูตรผสมของเมนทอล การบูร และน้ำมันยูคาลิปตัสรูปแบบยาขี้ผึ้ง กลุ่มที่ 2 ได้ยาพื้นขี้ผึ้งปิโตรเลียม และกลุ่มที่ 3 ไม่ได้รับการรักษา โดยให้ทาผลิตภัณฑ์ที่บริเวณหน้าอกและลำคอ ช่วงเวลาก่อนเข้านอน พบว่าการใช้น้ำมันหอมระเหยสูตรผสมของเมนทอล การบูร และน้ำมันยูคาลิปตัสรูปแบบยาขี้ผึ้ง ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกจมูกโล่งสบาย ช่วยให้หลับได้ดี รวมถึงยังบรรเทาอาการอื่น ๆ เช่น อาการไอและคัดจมูกที่เกี่ยวเนื่องกับหวัดได้ โดยอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้ เช่น อาการระคายเคืองบริเวณที่สัมผัส ทั้งนี้ผู้ผลิตแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ในเด็กตั้งแต่อายุ 2 ปีขึ้นไป และเก็บให้พ้นมือเด็ก
แต่หากอาการยังไม่บรรเทาอาจเลือกวิธีการรักษาด้วยยาร่วมด้วย ซึ่งยาลดอาการคัดจมูก จะออกฤทธิ์โดยทำให้หลอดเลือดดำในเยื่อบุจมูกหดตัว ทําให้เยื่อบุจมูกยุบบวมลง จึงลดอาการคัดจมูกได้ ยาลดคัดจมูกมีทั้งยาในรูปแบบรับประทาน เช่น Phenylephrine ที่พบได้ในร้านยา และPseudoephedrine ซึ่งในประเทศไทยจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 โดยมีข้อกำหนดใช้ในสถานพยาบาลเท่านั้น และยาใช้เฉพาะที่ ที่ใช้พ่นและรูปแบบหยดเข้าไปในโพรงจมูก เช่น Oxymetazoline Xylometazoline หรือ Naphazoline เป็นต้น ซึ่งยาแต่ละชนิดมีข้อควรระวัง และห้ามใช้แตกต่างกันไป ดังนั้นหากต้องการใช้ยาลดอาการคัดแน่นจมูกควรมีการปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เรียบเรียงโดย
ภญ.จุฬาลักษณ์ วุฒิวรจินดา
อ้างอิง
1.โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ.ใครบ้างที่ควรล้างจมูก[internet].2022[cited 2022 Aug 12].Available from: https://www.sikarin.com/health/nasal-irrigation
2.ปารยะ อาศนะเสน. การบำบัดโรคจมูกและไซนัสด้วยวิธีสูดไอน้ำร้อน (Steam Inhalation for Sinonasal Diseases) [Internet]. หมอชาวบ้าน . 2552 [cited 2022 Aug 12]. Available from:https://www.doctor.or.th/clinic/detail/9165.
3.Vathanophas V, Pattamakajonpong P, Assanasen P and Suwanwech T. The effect of steam inhalation on nasal obstruction in patients with allergic rhinitis [internet]. 2021[cited 2022 Aug 12].Available from: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/31175716/
4.Paul IM, Beiler JS, King TS, Clapp ER, Vallati J and Berlin CM. Vapor rub, petrolatum, and no treatment for children with nocturnal cough and cold symptoms[internet]. 2010[cited 2022 Aug 13].Available from: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21059712/
5.สิรินุช พละภิญโญ.การดูแลตนเองจากอาการหวัดคัดจมูก[internet].2022[cited 2022 Aug 12].Available from: https://ccpe.pharmacycouncil.org/index.php?option=article_detail&subpage=article_detail&id=1251