บัวบกมีดีอย่างไร
27 Jan, 2023 / By
salacrm01
บัวบกมีดีอย่างไร
บัวบก เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก มีชื่อทางสามัญคือ Gotu kola (ชื่อวิทยาศาสตร์ Centella asiatica (L.) Urb.) เป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีอายุหลายปี ปลูกง่ายเลื้อยตามพื้นดิน แตกรากตามข้อใบ ใบเป็นรูปไต ขอบใบหยัก บัวบกชอบขึ้นในพื้นที่ชื้นแต่น้ำไม่ขังหรือท่วม ซึ่งส่วนมากจะขึ้นตามใต้ต้นไม้ใหญ่ ร่องสวนหรือตามคันนา ซึ่งจะพบมากในประเทศแถบยุโรปจนถึงแอฟริกาใต้
บัวบกนั้นมีการใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคเป็นเวลานานกว่า 50 ปีซึ่งประโยชน์มีตั้งแต่ลดอาการช้ำใน บำรุงสมอง รักษาบาดแผล ลดอาการปวดศีรษะและไข้
สารสำคัญที่พบในบัวบก
สารที่พบในบัวบกจัดอยู่ในกลุ่มไตรเทอปินอยด์ ไกลโคไซด์ (Triterpenoid glycoside) (Triterpenoid glycoside) ซึ่งประกอบด้วยกรดเอเชียติก (Asiatic acid) สารเอเชียติโคไซด์ (Asiaticoside) กรดแมดิแคสซิค (Madecassic acid) ซึ่งสารเหล่านี้มีผลต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Antioxidation) ที่ทำให้เกิดความเสื่อมของเซลล์ อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้
การใช้ประโยชน์จากบัวบกในด้านเภสัชกรรม
1. ต้านการเกิดอนุมูลอิสระ ทำให้ลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ เนื่องจากพิษของสารอนุมูลอิสระมีผลทำให้เกิดภาวะเครียดทำให้เกิดความผิดปกติของสารชีวโมเลกุลต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ไขมัน โปรตีน และนิวคลีโอไทด์ ส่งผลให้การทำงานของร่างกายผิดปกติ เกิดการตายของเซลล์และเนื้อเยื่อในร่างกาย ทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ เช่น โรคหัวใจ โรคไตวาย โรคมะเร็ง เป็นต้น
2. เร่งการสร้างคอลลาเจน (Collagen synthesis enhancer) ซึ่งคอลลาเจนจัดเป็นโปรตีนสำคัญของผิวหนังและอยู่คู่กับโปรตีนที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ อิลาสติน (Elastin) ซึ่งคอลลาเจนมีหน้าที่เสมือนโครงสร้างของผิวและทำให้ผิวเต่งตึง ส่วนอิลาสตินจะมีหน้าที่สร้างความยืดหยุ่นให้ผิวและทำให้ผิวไม่มีริ้วรอยเกิดขึ้น ช่วยรักษาแผล รอยเหี่ยวย่น และลดการอักเสบ สารสกัดจากบัวบกจึงถูกนำมาใช้ในการกระตุ้นให้แผลหายเร็วขึ้นได้
3. ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของหลอดเลือดฝอยและการแลกเปลี่ยนออกซิเจนต่อเนื้อเยื่อ ทำให้ลดความเสี่ยงของการบวมและการอักเสบในผู้ที่มีแรงดันในหลอดเลือดดำสูงหรือลดอาการเลือดคั่งที่ทำให้ขาบวมจากการเดินทางนาน ๆ ได้
นอกจากสรรพคุณต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้นยังพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดจากใบบัวบกยังมีประโยชน์ต่อระบบไหลเวียนโลหิตและหลอดเลือดอื่น ๆ อีกมากมาย ตัวอย่างเช่น สามารถป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อม หรือที่เรียกว่า โรคอัลไซเมอร์ ป้องกันภาวะสมองขาดเลือด บำรุงสมอง ทำให้ความคิดและการอ่านดีขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตามยังเป็นการทดลองยังเป็นการทดลองในระดับสัตว์ทดลอง
ผลข้างเคียงของและข้อห้ามใช้บัวบก
การรับประทานบัวบกอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ลำไส้แปรปรวน มึนงง และง่วงนอน บางคนที่ใช้ทาผิวอาจมีอาการแพ้ คัน แสบร้อนได้ ควรล้างออกและหลีกเลี่ยงการใช้ การทาบัวบกอาจจะปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์ แต่ไม่ควรรับประทานเนื่องจากอาจมีผลยุติการตั้งครรภ์ได้ ส่วนหญิงให้นมบุตรยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงการส่งผ่านสารอาหารทางน้ำนม ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการรับประทานขณะตั้งครรภ์และระหว่างให้นมบุตรเพื่อความปลอดภัย
เรียบเรียงโดย
ภก.อัฑฒ์ ไสวารี
อ้างอิง
1.บัวบก. ข้อมูลพืชสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 6 ต.ค. 2565]. เข้าถึงได้จาก : https://pharmacy.su.ac.th/herbmed/herb/text/herb_detail.php?herbID=130
2.บัวบก. ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ[อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 13 ต.ค. 2565] เข้าถึงได้จาก : http://srdi.yru.ac.th/bcqy/page/327/%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B8%81.html
3.บัวบก สมุนไพรมากคุณประโยชน์. วารสารวิทยาศาสตรและเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีปที่ 15 [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 13 ต.ค. 2565] เข้าถึงได้จาก : https://www.ubu.ac.th/web/files_up/08f2014031915393365.pdf