มีนมอะไรทานได้บ้าง ถ้าแพ้นมวัว
05 Nov, 2021 / By
salacrm01
มีนมอะไรทานได้บ้าง ถ้าแพ้นมวัว
หลาย ๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินมาก่อนว่ามีคนที่กินนมวัวแล้วแพ้ วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับโรคแพ้โปรตีนนมวัวกันค่ะ ว่าแท้จริงแล้วโรคแพ้โปรตีนนมวัวมีอาการอย่างไรบ้าง และสามารถรับประทานนมชนิดไหนได้บ้าง
โรคแพ้โปรตีนนมวัว (Cow milk protein allergy) เป็นอาการผิดปกติหลังรับประทานนมวัว เกิดจากปฏิกิริยาทางระบบภูมิคุ้มกัน พบในทารกมากกว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันและระบบทางเดินอาหารของทารกยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ กระเพาะอาหารของทารกมีความเป็นกรดน้อยกว่าประกอบกับน้ำย่อยในลำไส้เล็กและตับอ่อนน้อยกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ย่อยโปรตีนได้ไม่ดี นอกจากนี้เยื่อบุลำไส้ของทารกยังยอมให้โมเลกุลของโปรตีนผ่านเข้าไปในกระแสเลือด ซึ่งโปรตีนเหล่านี้จะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดอาการแพ้ โดยผ่านกลไกทางภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจเป็น IgE-mediated type, non Ig-E mediates type หรือ mixed type ก็ได้
1.Ig-E mediated type อาการเกิดหลังจากรับประทานและ/หรือสัมผัสกับนมวัวภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง ได้แก่
- อาการแพ้แบบรุนแรงเฉียบพลันทั้งตัว
- อาการแสดงทางระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว
- อาการแสดงทางผิวหนัง เช่น ผื่นลมพิษ
- อาการแสดงทางระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูกไหล ไอแห้ง คัดจมูก หายใจมีเสียงวี้ด หอบ หายใจลำบาก
2. Non-Ig-E-mediated type อาการเกิดขึ้นหลังจากรับประทาน และ/หรือสัมผัสกับนมวัวภายใน
เวลาหลายชั่วโมงหรืออาจเป็นวัน ได้แก่
- อาการแสดงทางระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียนรุนแรง ถ่ายเหลวปริมาณมาก, ถ่ายอุจจาระปนมูกเลือด อาการดีขึ้นชัดเจนภายใน 72 ชั่วโมงหลังงดนมวัว
3. Mixed type เป็นกลุ่มที่ลักษณะอาการแพ้จะเป็นทั้งแบบ IgE-mediated type และ Non-Ig-E mediated type
โดยการรักษาโรคแพ้โปรตีนนมวัวนั้น จะเป็นการรักษาตามอาการต่าง ๆ ร่วมกับการรักษาด้านโภชนาการ และหนึ่งในหลักการรักษาด้านโภชนาการ คือ การเลือกนมหรืออาหารทางการแพทย์ที่ไม่มีโปรตีนจากนมวัว โดยอาหารทางการแพทย์ที่ใช้ในการรักษาภาวะแพ้โปรตีนนมวัว มีดังนี้
1.อาหารทางการแพทย์สูตรโปรตีนจากถั่วเหลือง (Soy protein-based formula) เป็นสูตรแนะนำสำหรับผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง ได้แก่ กลุ่มที่มีอาการแสดงของภาวะแพ้อาหารแบบเฉียบพลันผิวหนังอักเสบเหตุภูมิแพ้ที่มีอาการไม่รุนแรง ถึงแม้ว่าอาหารทางการแพทย์สูตรโปรตีนจากถั่วเหลืองจะสามารถใช้ในผู้ป่วยที่แพ้โปรตีนนมวัวได้ แต่ในถั่วเหลืองนั้นยังมีโปรตีนโมเลกุลใหญ่ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน ซี่งนมสูตรนี้มีข้อดีคือ รสชาติดี รับประทานง่าย และราคาถูกกว่านมสูตรสำหรับเด็กแพ้นมวัวสูตรอื่น
2.อาหารทางการแพทย์สูตรเปปไทด์ขนาดเล็ก (Extensively hydrolyzed formula) เป็นสูตรอาหารที่โปรตีนผ่านกระบวนการย่อยเพื่อให้แตกตัวเป็นเปปไทด์สายสั้น ๆ ทำให้ลดสภาพของสารก่อภูมิแพ้ แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะแพ้โปรตีนนมวัวที่มีอาการแสดงต่าง ๆ หลายระบบ ข้อดีของนมสูตรนี้คือ เหมาะกับผู้ที่แพ้นมวัวที่มีอาการค่อนข้างมาก แต่ข้อเสียคือ รสชาติไม่ค่อยดี ราคาสูง
3.อาหารทางการแพทย์สูตรกรดอะมิโน (Amino acid-based formula) เป็นสูตรนมที่ทำให้ได้เปปไทด์ที่มีน้ำหนักมวลโมเลกุลน้อยกว่า 500 ดาลตัน ประกอบด้วยกรดอะมิโนจำเป็นและกรดอะมิโนไม่จำเป็น คาร์โบไฮเดรตจาก corn glucose polymer ปราศจากแลคโตส ไขมันได้จากน้ำมันพืชต่าง ๆ แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการแพ้โปรตีนนมวัวอย่างรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยนมสูตรเปปไทด์ขนาดเล็ก แต่อาหารทางการแพทย์สูตรนี้ ก็มีข้อจำกัด คือ ราคาสูงมาก รสชาติไม่ดี ทำให้ทารกเกิดปัญหาด้านการบริโภคนมได้
4.อาหารทางการแพทย์สูตรที่เตรียมสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย (Modular formula) เป็นนมสูตรทางการแพทย์ที่เตรียมสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย เพื่อให้เหมาะสมกับโรคแต่ละโรค
โดยอาการแพ้นมวัวนี้ เมื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม เด็กที่แพ้นมวัวมักจะหายได้เองภายในอายุ 1 ปี ประมาณ 35 - 50 % เมื่ออายุ 3 ปีเด็กหายจากการแพ้นมวัวเพิ่มเป็น 70 - 87 % และเมื่อผ่านไป 5 ปี เด็กส่วนใหญ่ก็จะกลับมากินนมได้ปกติถึง 81 - 95 % ดังนั้นในช่วง 1 ปีแรก ควรงดนมวัวและอาหารที่มีส่วนประกอบของนมวัวไปก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ กลับมารับประทานนมวัวใหม่
ทั้งนี้ทั้งนั้น หากสงสัยว่าบุตรหรือคนในครอบครัวของท่านอาจแพ้นมวัว แนะนำให้ปรึกษาแพทย์และเภสัชกร เพื่อประเมินอาการ แนะนำสูตรนม และวิธีการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม เพราะบางครั้งอาการแพ้นมวัวก็คล้ายกับอาการท้องเสียชนิดติดเชื้อแบคทีเรีย หรือ ภาวะพร่องเอนไซม์แลคเตสได้เช่นเดียวกัน เพื่อที่จะได้รับการรักษาที่ตรงจุดและเหมาะสมมากที่สุดค่ะ
เรียบเรียงโดย
ภญ.ปุณยิกา ตุรงควัธน์
อ้างอิง
1.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม. โรคแพ้นมวัว. [internet]. 2554 [เข้าถึงเมื่อ 11 กันยายน 2564]. เข้าถึงได้จาก : http://allergy.or.th/2016/resources_expert_detail.php?id=100.
2.ธนิศา ขวัญบุญบำเพ็ญ. ทางเลือกของคนแพ้นมวัว [internet]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 12 กันยายน 2564]. เข้าถึงได้จาก : https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A7.
3.พนิดา แสวงศักดิ์. โรคแพ้โปรตีนนมวัวและการย่อยแลกโทสบกพร่อง [internet]. [เข้าถึงเมื่อ 12 กันยายน 2564]. เข้าถึงได้จาก : http://www.pthaigastro.org/ Document/rgoaxecfqikbhuxajxnmhk23โรคแพ้โปรตีนนมวัวและการย่อยแลกโทสบกพร่อง.pdf.
4.ศวิตา จิวจินดา. อาหารทางการแพทย์สาหรับผู้ป่วยโรคแพ้โปรตีนนมวัว [Internet]. เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์; 2021 [เข้าถึงเมื่อ 7 กันยายน 2564]. เข้าถึงได้จาก : https://www.pat.or.th/attachment/academic-article/article_004.pdf.
5.ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติและการดูแลรักษาโณคแพ้โปรตีนนมวัว (Cow Milk Protein Allergy). 2555 [เข้าถึงเมื่อ 12 กันยายน 2564]. เข้าถึงได้จาก : http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20161208102750.pdf.