หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > สารอันตรายในเครื่องสำอาง
สารอันตรายในเครื่องสำอาง
สารอันตรายในเครื่องสำอาง
30 Jan, 2023 / By salacrm01
Images/Blog/YxZlUope-7-เครื่องสำอางค์.jpg

สารอันตรายในเครื่องสำอาง

         นิยามเครื่องสำอาง ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ในมาตรา 4 กำหนดไว้ว่า “เครื่องสำอาง” หมายความว่า

        วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถูนวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใด กับส่วนภายนอกของร่ายกายมนุษย์และให้หมายความรวมถึงการใช้กับฟัน และเยื่อบุในช่องปาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือเปลี่ยนแปลงลักษณะที่ปรากฏ หรือระงับกลิ่นกาย หรือปกป้องดูแลส่วนต่างๆ นั้น ให้อยู่ในสภาพดีและรวมตลอดทั้งเครื่องประทินต่าง ๆ สำหรับผิวด้วย แต่ไม่รวมถึงเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัวซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีจุดประสงค์อื่น ๆ เช่น เพื่อบำบัด บรรเทา รักษา หรือมีส่วนประกอบทางเคมีที่เป็น ตัวยา หรือใช้รับประทาน จะไม่จัดเป็นเครื่องสำอาง

สารอันตรายในเครื่องสำอาง

         ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหลายชนิดที่ไม่ได้มาตรฐาน มีการแอบลักลอบใส่สารอันตรายและสาร

         ต้องห้ามในผลิภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อประโยชน์ทางการค้า ดังนั้นนอกเหนือจากการควบคุมของกระทรวง

         สาธารณสุขแล้วผู้บริโภคเองจำเป็นต้องได้รับความรู้และการตระหนักรู้ในการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางใน

        ชีวิตประจำวันให้มีความปลอดภัยสูงสุดด้วย

         ข้อมูลของสารที่เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางที่ก่ออันตรายแก่ผู้บริโภคได้มีมากมายหลายชนิด ระดับความรุนแรง และความอันตรายแตกต่างกันไป ในที่นี้จะยกตัวอย่างเฉพาะสารที่พบว่ามักก่อให้เกิดอันตรายบ่อยครั้งต่อผู้บริโภค 8 ชนิด ดังนี้

1. สารสเตียรอยด์ (Steroids)

         นับเป็นสารอันตรายที่พบบ่อยในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า สารสเตียรอยด์จะช่วยทำให้ผิวหน้าใสขึ้นอย่างรวดเร็ว และช่วยให้สิวหายไว แต่เมื่อหยุดใช้สิวจะเห่อขึ้นมามากกว่าเดิม หากใช้ในปริมาณที่มาก และต่อเนื่องนาน อาจทำให้ผดผื่นขึ้นง่าย ผิวแห้งแตก ผิวหน้าบางไวต่อแสง นอกจากนี้ยังอาจทำให้ผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ รวมทั้งไปกดภูมิคุ้มกันโรคจนทำให้ร่างกายอ่อนแอได้

2. สารปรอท (Mercury)

         พบมากในเครื่องสำอางและครีมบำรุงผิว สารปรอทจะช่วยให้สีผิวกระจ่างใส และขาวขึ้นไว ลดฝ้า กระ และลดสิว ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อหยุดใช้สารปรอทสีผิวจะคล้ำลงกว่าเดิมจนเป็นสีปรอทหรือสีดำอมเทา เกิดฝ้าถาวร ผิวบางลง และเมื่อใช้ติดต่อกัน เป็นเวลานานจะทำให้เกิดพิษสะสมของสารปรอทในผิวหนัง และดูดซึมเข้าสู่กระแส โลหิต ทำให้ตับและไตอักเสบ เกิดโรคโลหิตจาง ทางเดินปัสสาวะอักเสบ อีกทั้งในสตรีมีครรภ์ปรอทจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และไปสู่ทารกทำให้เด็กมีภาวะผิดปกติ

3. สารไฮโดรควิโนน (Hydroquinone)

       เป็นสารที่มีคุณสมบัติช่วยฟอกสีผิว ออกฤทธิ์ยับยั้งหรือกดการสร้างเซลล์สร้างเม็ดสี จึงทำให้ฝ้าจางลงได้อย่างรวดเร็ว ไฮโดรควิโนนจัดเป็นยาทาภายนอกใช้เพื่อการรักษา และได้ถูกสั่งห้ามใส่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่วางจำหน่ายทั่วไป เนื่องจากไฮโดรควิโนนในปริมาณสูง ก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำหนดให้ผสมสารไฮโดรควิโนนในการรักษาฝ้าได้ไม่เกิน 2%) ไฮโดรควิโนนมักถูกผสมในเครื่องสำอางสูตรรักษาฝ้า หากใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจเกิดอาการระคายเคืองต่อผิว สีผิวไม่สม่ำเสมอเป็นกระดำกระด่าง และหน้าบางไวต่อแสงแดด  หากต้องการใช้ควรเป็นยาที่อยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของแพทย์ และเภสัชกรเพื่อความปลอดภัย

4. สารตะกั่ว (Lead)

         พบมากในเครื่องสำอางโดยเฉพาะลิปสติก สารตะกั่วถูกจัดให้เป็นวัตถุที่ห้ามใช้เพราะถ้าหากถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้วจะก่อให้เกิดอาการปวดบิดในท้องอย่างรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุร่วมกับอาการท้องผูก หรือถ่ายเป็นเลือด นอกจากนี้สารตะกั่วยังส่งผลทำให้เกิดอาการซีดอ่อนแรง เนื่องจากเม็ดเลือดแดงถูกทำลายเร็วขึ้นและลดอัตราการสร้างเม็ดเลือดแดง

5. โซเดียมลอริลซัลเฟต (Sodium Lauryl Sulphate)

         เป็นสารลดแรงตึงผิวพบในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย อย่างเช่น สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม สารโซเดียมลอริลซัลเฟตสามารถแทรกซึมลงไปในชั้นผิวหนังได้ถึง 5-6 มิลลิเมตร หากสัมผัสเป็นประจำในปริมาณมากจะส่งผลทำให้ผิวหนังบางลง และทำให้สารพิษอื่น ๆ สามารถแทรกซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ง่ายจนก่อให้เกิดอาการแพ้

6. สาร Polyvinyl Pyrrolidone (PVP)

         สาร PVP เป็นสารที่ทำให้เส้นผมแข็งตัว ถูกใช้ผสมในน้ำยาจัดแต่งทรงผม มูส หรือเจลใส่ผม สาร PVP สามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งการสูดดมและการซึมเข้าทางผิวหนัง เป็นผลทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน ผมร่วง เกิดการแพ้หรืออักเสบบริเวณหน้าผาก ข้างหู และลำคอ

7. กรดเรติโนอิก (Retinoic acid)

         กรดเรติโนอิก กรดเรตินอล หรือกรดวิตามินเอ เป็นสารที่ต้องขึ้นทะเบียนเป็นยาเท่านั้น พบได้ในยารักษาสิวมีกลไกช่วยผลัดเซลล์ผิว กรดเรติโนอิกในเครื่องสำอางนับว่าเป็นสารอันตราย ซึ่งหากนำมาใช้เองอาจเกิดอาการผิวหนังลอก ผิวหนังบาง เป็นผื่นแดง และไวต่อแสง

8. ทัลคัม (Talcum)

         พบในแป้งฝุ่น อายแชโดว์ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น หากสูดดมเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดโรคปอด มะเร็งปอด มะเร็งต่อมหมวกไต และเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งรังไข่

การสืบค้นข้อมูลเครื่องสำอางที่อันตราย

        ปัจจุบันจำนวนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมีมากมายหลากหลายชนิด ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้เท่าทันข้อมูลโดยการสืบค้นข้อมูลรายการเครื่องสำอางที่อันตรายสามารถดำเนินการผ่านทาง กลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ทางเว็บไซต์ https://www.fda.moph.go.th/sites/Cosmetic/SitePages/Contact.aspx

หรือ QR code ดังนี้

เรียบเรียงโดย

ภญ.จุฬาลักษณ์ วุฒิวรจินดา

อ้างอิง

1. กลุ่มกำกับดูแลเครื่องสำอางก่อนออกสู่ตลาด สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข.หลักเกณฑ์การพิจารณาการจดแจ้ง เครื่องสำอาง.[internet].2018[cited 2023 Jan 10].Available from: https://www.fda.moph.go.th/sites/Cosmetic/PublishingImages/SitePages/Permission/NEW-2562-%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B9%8C.pdf

2. สมาคมส่งเสริมนวัตกรรมด้านสุขภาพ (สสนส.).สารอันตรายในเครื่องสำอางและครีม[internet].2017[cited 2023 Jan 12].Available from: https://xn--q3c7aab.com/page/4/?s=%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2

3. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลฝ่ายเภสัชกรรม.อันตรายจากสารต้องห้ามในเครื่องสำอาง[internet].2016[cited 2023 Jan 10].Available from: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramapharmacy/th/knowledge/general/04072016-2055-th

 

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.