อาการเจ็บตาจากการเชื่อมเหล็ก
อาการเจ็บตาจากการเชื่อมเหล็กเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในร้านขายยา โดยคนไข้ส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการตาแดง ปวดตา แสบตา น้ำตาไหล รู้สึกเหมือนมีเม็ดทรายในตา ทำให้เข้าใจเองว่าเป็นตาอักเสบและมักจะมาขอซื้อยาแก้อักเสบชนิดแคปซูล เช่น ยาแคปซูลดำ-แดง ยาแคปซูลเขียว-ฟ้า ซึ่งแท้จริงแล้วยาเหล่านั้นเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ไม่มีฤทธิ์บรรเทาปวด แต่คนไข้ก็มักจะแจ้งว่าใช้ยานี้แล้วอาการดีขึ้นและยืนยันขอยาแบบเดิม เภสัชกรจึงอยากอธิบายว่าอาการเจ็บตาจากการเชื่อมนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร แล้วจะมีวิธีการป้องกันหรือรักษาการดังกล่าวอย่างไรบ้าง
อาจารย์ไพศาล ทองสงค์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาตร์ มทร.ธัญบุรี ได้ให้สัมภาษณ์ในการรายการชัวว์ก่อนแชร์ทางช่องยูทูป ในหัวข้อเยื่อบุตาอักเสบจากการเชื่อมโลหะ1 ไว้ว่า “กระบวนการเชื่อมโลหะจะมีควันที่มองเห็นด้วยตาเปล่าและฟูม (fume) ซึ่งเป็นไอระเหยของธาตุโลหะหนัก มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ทั้งควันและฟูมจะทำให้แสบตาอยู่ประมาณ 5-10 นาทีก็จะหาย แต่หากปวดตาเหมือนมีทรายในดวงตา นอนกลางคืนน้ำตาไหล เจ็บตาหลายวัน ไม่ได้เกิดจากควัน แต่เกิดจากแสงจ้า รังสียูวีและรังสีอินฟราเรด” จากบทสัมภาษณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าอันตรายที่ส่งผลต่อดวงตาของช่างเชื่อมทั้งหลาย คือ ควัน ฟูม แสง และรังสี
กลุ่มควันที่เกิดขึ้นในการเชื่อมจะประกอบด้วย 2 องค์ประกอบหลัก คือ ก๊าส (gas) และฟูม (fume) ตัวอย่างก๊าสที่เกิดขึ้นได้ในกระบวนการเชื่อม เช่น ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ตา จมูกและลำคอ ก๊าซโอโซน เกิดขึ้นจากการตัดเหล็กโดยใช้ก๊าซอาร์กอน ก่อให้เกิดการระคายเคืองตาและทางเดินหาย ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ เกิดจากการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นก๊าซเชื่อมหรือเกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดอาการมึนงง เวียนศรีษะ ส่วนฟูม คือ ไอของโลหะหนักที่เกิดการควบแน่นเมื่อได้รับความร้อน ตัวอย่างโลหะหนักที่ใช้ในการเชื่อม เช่น อะลูมิเนียม แคดเมียม โครเมียม คอปเปอร์ ฟลูออไรด์ ไอรอน ตะกั่ว แมงกานีส นิกเกิล ซิงค์ โคบอลต์ และไทเทเนียม ฟูมจะมีลักษณะเป็นทรงกลมขนาดน้อยกว่า 20 นาโนเมตร2 ซึ่งอนุภาคเหล่านี้ถือเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์เนื่องจากมีขนาดเล็กมากสามารถเล็ดลอดจนลงไปถึงปอดได้จึงอาจเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยแบบเฉียบพลัน เช่น การติดเชื้อ แน่นหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน นอกจากนี้ยังอาจเป็นสาเหตุในการเจ็บป่วยระยะยาว เช่น เกิดความผิดปกติของปอด ระบบประสาท ก่อให้เกิดมะเร็ง ผลกระทบต่อดวงตาที่เกิดจากควันและฟูมทำให้ระคายเคือง ตาแดง น้ำตาไหล และตาไม่สู้แสง (photophobia)
แสงจ้าที่เกิดขึ้นขณะเชื่อมเป็นรังสีชนิดหนึ่งที่มีความยาวคลื่นอยู่ในช่วงที่ตามองเห็นได้ (visible light) โดยแสงที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นแสงที่มีความสว่างมากทำให้ม่านตา (iris) แคบลงอย่างรวดเร็วเพื่อจำกัดปริมาณแสงที่เข้ามาในดวงตาซึ่งอาจส่งผลให้ตามืดลงชั่วคราวและหากได้รับแสงจ้าติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการตาล้าได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหดรูม่านตานั้นอยู่ในลักษณะหดเกร็งเป็นเวลานาน นอกจากแสงที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าแล้วยังมีรังสีที่ดวงตาไม่สามารถมองเห็นได้ รังสีที่ถูกปลดปล่อยออกมาในกระบวนการเชื่อม ได้แก่ รังสีอัลตราไวโอเลต (ultraviolet) หรือ รังสียูวี (UV) และรังสีอินฟาเรด (infrared) รังสียูวีเมื่อเข้าสู่ดวงตาจะทำให้เยื่อบุตาชั้นนอกสุดที่เรียกว่า “conjunctiva” เกิดการอักเสบ (conjunctivitis) ทำให้เกิดอาการปวดตา น้ำตาลไหล ตาแดง หรืออาจรุนแรงจนทำให้เยื่อบุตาเกิดการเสื่อมแล้วเปลี่ยนสภาพกลายเป็นตุ่มสีเหลืองบริเวณเยื่อบุตาที่ชิดตาดำที่เรียกกันว่า “ต้อลม (pinguecula)” หากต้อลมไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะลุกลามกลายเป็นเนื้อยื่นเข้าไปในตาดำที่เรียกกันว่า “ต้อเนื้อ (pterygium)” ไม่เพียงเท่านั้นรังสียูวียังส่งผลต่อกระจกตา (cornea) ทำให้กระจกตาเกิดเป็นแผลเล็กๆ กระจายทั่วตาดำที่เรียกว่า “superficial punctate keratitis” ทำให้เกิดอาการปวดตามาก น้ำตาไหล รู้สึกเหมือนมีเม็ดทรายในตา ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะแสดงอาการหลังจากสัมผัสรังสียูวีไปแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นประมาน 6 – 10 ชั่วโมงหลังสัมผัสรังสี และสามารถหายไปได้เองใน 48 ชั่วโมง10 นอกจากนี้รังสียูวียังมีผลต่อเลนส์ตา (lens) ด้วย ซึ่งเกิดจากรังสียูวีทำปฏิกิริยากับเซลล์เลนส์ตาแล้วเกิดสารซุปเปอร์ออกไซด์ ทำลายชั้นเลนส์ตา ทั้งนี้ร่างกายจะมีการกระบวนการซ่อมแซมเกิดขึ้นที่เนื้อเยื่อเลนส์ (lens epithelium) แต่ถ้าปฏิกิริยาเกิดในชั้นลึกลงไปถึงส่วนกลางของเลนส์จะไม่สามารถซ่อมแซมได้ ทำให้เกิดการขุ่นของเลนส์ตากลายเป็น “ต้อกระจก (cataract)” ได้ในที่สุด ส่วนรังสีอินฟาเรดนั้นจะมีผลต่อเลนส์ตาเช่นเดียวกันกับรังสียูวี โดยรังสีอินฟาเรดจะเป็นรังสีที่มีความร้อนสูงเมื่อเลนส์ตาสัมผัสกับรังสีอินฟาเรดเป็นเวลานานก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นต้อกระจกได้เช่นเดียวกัน
รูปที่ 1 : ภายกายวิภาคของดวงตา
การป้องกันอันตรายที่ส่งผลต่อดวงตาของช่างเชื่อมทั้งหลายตามมาตรฐานของ American National Standards Institute (ANSI) กำหนดให้ช่างเชื่อมทุกคนสวมแว่นนิรภัยและกระบังหน้า อีกทั้งยังการแนะนำการเลือกแว่นตานิรภัยเพื่อใช้ในการป้องกันรังสี ดังตารางในรูปที่ 2 ดัดแปลงโดยกองความปลอดภัยแรง ทั้งนี้การเลือกเฉดสีของแว่นตานิรภัยให้เริ่มด้วยเฉดสีที่มืดจนมองไม่เห็นส่วนที่เชื่อม (weld zone) จากนั้นจึงเลือกเฉดสีที่สว่างขึ้นจนเห็นส่วนที่เชื่อมชัดเจน วิธีนี้จะทำให้ไม่ผิดพลาดที่จะไปเลือกเฉดสีที่ทำให้สว่างจ้าเกินไป ส่วนการป้องอันตรายทางระบบทางเดินหายใจ แนะนำให้มีการควบคุมระบบระบายอากาศให้ดี มีการติดตั้งเครื่องดูดอากาศและมีการควบคุมระดับสารเคมีในอากาศให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ส่วนผู้เชื่อมเองควรใส่เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด
รูปที่ 2 : ตารางแนะนำการเลือกแว่นตานิรภัยเพื่อใช้ในการป้องกันรังสี
คำแนะนำในการดูแลรักษาดวงตาจากควัน (ก๊าสไนโตรเจนออกไซด์ ก๊าสคาร์บอนมอนไซด์) และฟูม (ไอระเหยของโลหะหนัก) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นกรด-ด่าง เมื่อสัมผัสกับดวงตาจะทำให้ดวงตาเกิดการระคายเคือง น้ำตาไหล ตาแดง ซึ่งเป็นอาการที่ไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง ช่างเชื่อมสามารถจัดการอาการดังกล่าวได้ด้วยตนเองโดยการล้างตาด้วยน้ำสะอาดปริมาณมากและให้ล้างอยู่ประมาณ 20 - 30 นาที การใช้น้ำล้างมากๆตั้งแต่แรกเพื่อเจือจางความเข้มของสารเคมีที่เข้าไปในตา ขณะที่ล้างตาหากมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ให้ใช้ไม้พันสำลีเช็ดออก หากอาการไม่ดีขึ้นแนะนำให้รีบไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการล้างตาให้อีกครั้งและตรวจค่าความเป็นกรด-ด่าง โดยใช้แผ่นกระดาษทดสอบเป็นระยะๆจนกระทั่งเป็นกลาง จึงหยุดล้างและตรวจตาซ้ำอีก จากนั้นจะเริ่มให้การรักษาด้วยยาหยอดตาลดอาการอักเสบ ยาฆ่าเชื้อและให้ยาแก้ปวด ส่วนการดูแลรักษาดวงตาจากการมองแสงจ้าเป็นเวลานานนั้นจะทำให้ตามืดชั่วขณะและเมื่อยตาทั้งสองอาการสามารถหายได้เองเมื่อได้พักสายตาจากงานที่ทำอยู่หรือการหลับตาลงสักครู่ สุดท้ายรังสีซึ่งมีผลอันตรายต่อตาตั้งแต่อาการไม่รุนแรง เช่น อาการปวดตา ตาแดง น้ำตาไหล รู้สึกเหมือนมีเม็ดทราย ลืมตาไม่ขึ้นทั้งสองข้างและอาจมีเปลือกตาบวมได้ โดยอาการเหล่านี้มักจะแสดงอาการเมื่อเวลาผ่านไปแล้วประมาณ 6-10 ชั่วโมงหลังจาการเชื่อม โดยทั่วไปอาการจะหายไปได้เองใน 48 ชั่วโมง แต่ถ้ามีอาการมากอาจ
พิจารณาให้ยาขี้ผึ้งให้ความชุ่มชื้นแก่ตา (lubricating ointment) ยากลุ่ม decongestant เพื่อช่วยลดอาการตาแดง ผลิตภัณฑ์ยาตาที่มีส่วนประกอบของคอร์ติโคสเตียรอยด์ช่วยบรรเทาอาการได้ และให้ยาแก้ปวดกรณีที่ปวดตามาก นอกจากนี้การให้ยาชาเฉพาะที่อาจช่วยให้อาการดีขึ้นชั่วคราว แต่ถ้ายังปวดมากอาจพิจารณาให้ทำการปิดตาแบบกดแน่น (pressure patching) โดยใช้ผ้าปิดตาปลอดเชื้อ (eye pad) 1 ชิ้น ผ้าก๊อซปลอดเชื้อขนาด 3×3 นิ้ว 2 ชิ้น และพลาสเตอร์เหนียวขนาด 1 นิ้ว ตัดความยาว 5 นิ้ว 6 เส้น เริ่มต้นโดยล้างมือให้สะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ให้ผู้ป่วยหลับตาลงแล้วปิด eye pad ลงบนเปลือกตา แล้ววางตามด้วยผ้าก๊อซและกดแน่นเล็กน้อย จากนั้นใช้พลาสเตอร์ที่เตรียมไว้ปิดเรียงทีละเส้นให้คลุมทับทั้งหมด สอบถามผู้ป่วยว่าสามารถลืมตาได้หรือไม่ หากลืมไม่ได้แสดงว่าแน่นเพียงพอ
การใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียในการรักษาอาการเจ็บตาจากการเชื่อมเหล็กจะเหมาะสมในกรณีที่ตามีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย เชื้อที่พบว่าเป็นสาเหตุก่อโรค ได้แก่ Staphylococcus epidermidis, Staphylococcus aureus, Diplococcus pneumoniae, และ Hemophilus aegyptius โดยผู้ป่วยจะมีอาการตาขาวแดง (conjunctival hyperemia) เคืองตา น้ำตาไหล ขี้ตามาก มักเป็นทั้ง 2 ข้าง โดยเป็นข้างหนึ่งแล้วลามมาอีกข้างภายใน 2-3 วัน ขี้ตามีลักษณะเหนียวข้นเป็นสีเหลืองหรือสีเขียวเหมือนหนอง พบหนังตาบวม และเปลือกตาติดกันหลังตื่นนอน เรียกการติดเชื้อนี้ว่า “Acute bacterial conjunctivitis” ซึ่งเป็นโรคที่สามารถหายได้เองภายใน 10-14 วัน แม้ไม่ได้รับการรักษา แต่การเลือกใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียเฉพาะที่ (topical antibiotic) ที่เหมาะสมจะช่วยให้โรคหายได้เร็วขึ้นและลดการเกิดอาการแทรกซ้อน ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ควรเลือกใช้ คือ กลุ่มที่มีขอบเขตการออกฤทธิ์กว้าง (broad spectrum antibiotics) ยาที่แนะนำให้ใช้ โดยเลือกรูปแบบให้สะดวกกับการใช้ ได้แก่ ยาหยอดตาให้ใช้ในเวลากลางวันและขี้ผึ้งป้ายตาให้ใช้เวลาก่อนนอน เนื่องจากขี้ผึ้งป้ายตาคงอยู่ในตาได้นานกว่าแต่อาจทำให้ตามัว แนะนำผู้ป่วยทำความสะอาดตาและขี้ตาด้วยน้ำเกลือ (0.9% normal saline solution) หรือน้ำสุกอุ่น หากมีอาการปวดให้ใช้ยาบรรเทาปวด
กรณีที่หนังตาบวมมากแพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยใช้ยาฆ่าเชื้อชนิดรับประทานร่วมด้วย ซึ่งจะต้องทำการส่งตรวจเชื้อที่เป็นสาเหตุเพื่อให้ได้รับยาฆ่าเชื้อชนิดรับประทานที่เหมาะสม ดังนั้นผู้ป่วยไม่ควรที่จะหาซื้อยามาใช้เอง เยื่อบุตาขาวอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียโดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นเองภายใน 1 สัปดาห์ หากมีอาการรุนแรงขึ้น ปวดตาและสายตามัว ควรรีบไปพบแพทย์เพราะเชื้ออาจลุกลามไปที่กระจกตาและควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ยาตาที่มีส่วนประกอบของคอร์ติโคสเตียรอยด์เพราะจะทำให้การติดเชื้อลุกลามเป็นอันตรายได้ หากเยื่อบุตาขาวแดงร่วมกับอาการดังนี้ คือ ความสามารถในการมองเห็นลดลง การขยายตัวของหลอดเลือดแดงในตามีการขยายตัวของ anterior ciliary vessels เห็นเป็นตาแดงเป็นวงรอบตาดำ ลักษณะของกระจกตาผิดปกติเป็นฝ้า รูม่านตา (pupil) ขยายหรือตีบหรือไม่ตอบสนอง ความดันลูกตาผิดปกติ การตรวจแสงสะท้อนจากจอประสาท (red reflex) ลดลงหรือไม่มี ให้รีบส่งต่อผู้ป่วยไปพบแพทย์
จัดทำโดย
ภญ.ธัญมน ศรีจันทร์
อ้างอิง
1.ใกล้มือหมอ Doctor Near U. เยื่อบุตาอักเสบจากการเชื่อม [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ; 2562 [เข้าถึงเมื่อ 9 ต.ค. 2563]. เข้าถึงได้จาก:https://www.youtube.com/watch?v=ykGVAFfbc84&ab_channel=%E0%B9%83%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%ADDoctorNearU.%20%20. ]
2.จงกล สังข์อ่วม. การประเมินความเสี่ยงอันตรายของฟูมโลหะในกระบวนการเชื่อมที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงานของคนงาน [วิทยานิพนธ์ปริญญาวิศวรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมความปลอดภัย]. กรุงเทพฯ: สถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิ; 2562. ภัครดา แสนสุขสม.
3.Vijayalakshmi N Ayyagari, Adolph Januszkiewicz, Jayasree Nath. Pro-inflammatory responses of human bronchial epithelial cells to acute nitrogen dioxide exposure. Toxicology. 2004;197(2):148-63.
4.James M Antonini. Health effects of welding. Critical reviews in toxicology. 2003;33(1):61-103.
5.Olivera Popović, Radica Prokić-Cvetković, Meri Burzić, Uroš Lukić, Biljana Beljić. Fume and gas emission during arc welding: Hazards and recommendation. Renewable and Sustainable Energy Reviews. 2014;37:509-16.
6.Anuradha Chauhan, Tanu Anand, Jugal Kishore, Tor Erik Danielsen, Gopal Krishna Ingle. Occupational hazard exposure and general health profile of welders in rural Delhi. Indian journal of occupational and environmental medicine. 2014;18(1):21.
7.Canadian Center for Occupational Health and Safety (CCOHS). Welding - Fumes And Gases [internet]. Canada; 2016 [cited 2020 Oct 10]. Available from: https://www.ccohs.ca/oshanswers/safety_haz/welding/fumes.html.
8. Canadian Center for Occupational Health and Safety (CCOHS). Welding - Radiation and the Effects On Eyes and Skin [internet]. Canada; 2018 [cited 2020 Oct 10]. Available from: http://library.md.chula.ac.th/guide/vancouver2011.pdf.
9.ศ.พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต. โทษของแสงยูวีที่มีผลกระทบต่อดวงตา [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: โรงพยาบาลตา หู จมูก [เข้าถึงเมื่อ 9 ต.ค. 2563]. เข้าถึงได้จาก: https://eent.co.th/articles/099/.
10.กษุวิทยากับชีวอนามัย [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหิดล; [เข้าถึงเมื่อ 9 ต.ค. 2563]. เข้าถึงได้จาก: https://www.rama.mahidol.ac.th/eye/sites/default/files/public/doc/eye%20in%20occupational%20medicine.pdf.
11.พญ.อรทัย ชาญสันติ. การดูแลสุขภาพตาเบื้องต้น [อินเทอร์เน็ต]. ศูนย์แว่นตาไฮซอพติก [เข้าถึงเมื่อ 9 ต.ค. 63]. เข้าถึงได้จาก: https://www.srisangworn.go.th/home/service/ebook/healt_of_eye/files/healt_of_eye.pdf.
12.Cutting American National Standards Institute (ANSI). ANSI Z49.1.Safety in Welding, and Allied Processes. New York: ANSI; 2005. .
13.กองความปลอดภัยแรงงาน. งานเชื่อม [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน. [เข้าถึงเมื่อ 10 ต.ค. 2563]. เข้าถึงได้จาก: http://osh.labour.go.th/attachments/article/180/180.pdf.
14.ผศ.พญ.วิภาวี บูรณพงศ์. อันตรายจากสารเคมีเข้าตา [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล; 2553 [เข้าถึงเมื่อ 10 ต.ค. 2563]. เข้าถึงได้จาก: https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=712.
15.ผศ.ดร.ภญ.กุสาวดี เมลืองนนท์. เยื่อบุตาขาวอักเสบ แบคทีเรีย ไวรัส การแพ้. ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; 2560 [เข้าถึงเมื่อ 11 ต.ค. 2563]. เข้าถึงได้จาก: https://ccpe.pharmacycouncil.org/index.php?option=article_detail&subpage=article_detail&id=301
16.โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์(วัดไร่ขิง).คู่มือการดูแลรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุทางตาเบื้องต้น. กรุงเทพฯ: กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข; 2554. หน้า 43-5.