หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > เชื้อราในช่องคลอด (Vulvovaginal Candidiasis)
เชื้อราในช่องคลอด (Vulvovaginal Candidiasis)
เชื้อราในช่องคลอด (Vulvovaginal Candidiasis)
27 Feb, 2021 / By salacrm01
Images/Blog/95G6yFft-เชื้อรา.png

เชื้อราในช่องคลอด (Vulvovaginal Candidiasis)

ตกขาวคืออะไร ?

     ตกขาวคือ สารคัดหลั่งที่ขับออกมาจากช่องคลอด แต่ไม่ใช่เลือดประจำเดือน มีหน้าที่ช่วยหล่อลื่น ลดการระคายเคือง สร้างความชุ่มชื้นให้บริเวณช่องคลอดและช่วยป้องกันการติดเชื้อภายในช่องคลอด โดยตกขาวปกติจะมีลักษณะเป็นเมือกใสหรือสีขาว ไม่มีกลิ่น

เชื้อราในช่องคลอดคืออะไร ?

     เชื้อราในช่องคลอด (Vulvovaginal Candidiasis) คือตกขาวสีขาว มีลักษณะเหมือนแป้งเปียก โยเกิร์ตหรือเนยแข็ง ไม่มีกลิ่น มักมีอาการคันบริเวณช่องคลอดและลามไปถึงปากช่องคลอด หรือมีอาการแสบร้อนในช่องคลอด ปัสสาวะแสบขัด เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ เมื่อตรวจภายในอาจพบการอักเสบบริเวณอวัยวะเพศภายนอก (External gland inflammation) และจะพบตกขาวติดแน่นเป็นแผ่นบริเวณผนังช่องคลอด

สาเหตุของการเกิดเชื้อราในช่องคลอด

     สาเหตุที่สำคัญเกิดจากการติดเชื้อรา Monillia หรือ Candida albican (80-90 %) ระยะฟักตัว 1-4 วัน ซึ่งโดยปกติแล้วเชื้อรา Candida albican จะอาศัยอยู่ในช่องคลอดของผู้หญิงโดยไม่แสดงอาการอักเสบ หรือตกขาวที่ผิดปกติ เนื่องจากมีการควบคุมจากฮอร์โมน Estrogen และ Normal flora ในช่องคลอดทำงานร่วมกัน ซึ่ง Estrogen จะกระตุ้นให้ผนังช่องคลอดเจริญเติบโต ทำให้เกิดการสะสม Glycogen ในเซลล์ผนังช่องคลอด แล้ว Normal flora (Doderlein’s bacilli หรือ Lactobacilli) ทำหน้าที่เปลี่ยน Glycogen ไปเป็น Lactic acid เป็นผลทำให้ช่องคลอดมีฤทธิ์เป็นกรด (pH 4) ซึ่งสภาวะกรดจะควบคุมไม่ให้เชื้อรา Candida albican เจริญเติบโตมากเกินไปจนเกิดความผิดปกติกับช่องคลอด แต่ถ้ามีปัจจัยไปทำลายความเป็นกรดในช่องคลอดจนทำให้ความเป็นกรดลงลด (pH สูงขึ้น) จะมีโอกาสติดเชื้อรา Candida albican ภายในช่องคลอดได้ง่ายขึ้น

ปัจจัยที่ทำให้เกิดเชื้อราในช่องคลอด

  1. อาจเกิดจากการปนเปื้อนเชื้อ Canidada จากอาหารผ่านเดินอาหารผ่านทางทวารหนักไปยังช่องคลอดได้
  2. ได้สัมผัสกับสิ่งที่ขับออกจากปาก,ผิว,ช่องคลอด,ท่อปัสสาวะ,อุจจาระของผู้ติดเชื้อ
  3.  ตั้งครรภ์
  4. การใช้ยาคุมกำเนิดที่มี Estrogen เด่น
  5. การใส่ห่วงอนามัย
  6. โรคเบาหวาน
  7. ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  8. การได้รับยาปฏิชีวนะประเภท broad spectrum นานๆ หรือการใช้ยา Steroid
  9. Menopause ฮอร์โมน Estrogen ลดลง ผนังช่องคลอดบางลง ทำให้ความเป็นกรดลดลง

เกณฑ์การวินิฉัยเพื่อการรักษา

     ตรวจตกขาวจากช่องคลอดจะพบค่าความเป็นกรดด่าง (pH) < 4.5 เมื่อนำมาเจือจางด้วยน้ำเกลือหรือ 10% KOH ตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบ mycelium หรือ pseudohyphae และ/หรือ budding yeast

การรักษา

     1. เชื้อราในช่องคลอดชนิดไม่มีภาวะแทรกซ้อน (Uncomplicated) ให้ใช้ยาอย่างใดอย่างหนึ่ง

  • Fluconazole 150 mg กินครั้งเดียว หลังอาหาร
  • Itraconazole 200 mg กินวันละ 2 ครั้ง นาน 1 วัน
  • Clotrimazole 500 mg สอดช่องคลอดครั้งเดียว หรือ Clotrimazole 100 mg 2 เม็ด สอดช่องคลอด วัน 1 ครั้ง นาน 3 วัน

     2. เชื้อราในช่องคลอดชนิดมีภาวะแทรกซ้อน (complicated)   ได้แก่

  • ผู้ป่วยที่เป็นเชื้อราในช่องคลอดซ้ำ โดยมากกว่า 4 ครั้งใน 1 ปี
  • Fluconazole 100-200 mg กินครั้งเดียว หลังอาหารและกินซ้ำ วันที่ 4 และ 7 และเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำให้กิน Fluconazole 100-200 mg กินครั้งเดียว/สัปดาห์ต่อเนื่องกัน 6 เดือน
  • ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น แคมมีอาการบวมแดงอย่างมาก มีรอยแตกของแคม
  • Fluconazole 150 mg กินครั้งเดียว และกินซ้ำวันที่ 4

     3. หญิงตั้งครรภ์/หญิงในระยะให้นมบุตร ให้ใช้ยาอย่างใดอย่างหนึ่ง

  • หญิงตั้งครรภ์/หญิงในระยะให้นมบุตร ห้ามใช้ยากิน ให้ใช้ยาสอด  Clotrimazole 500 mg สอดช่องคลอดครั้งเดียว หรือ Clotrimazole 100 mg 2 เม็ด สอดช่องคลอด วันละครั้ง
    นาน 3 วัน หากอาการยังไม่ดีขึ้นหลังรักษาระยะสั้น ให้เพิ่มระยะเวลาการรักษาให้นานขึ้น เป็น 7-14 วัน
  • ยาทา Miconazole 2% cream 5 gm ทาช่องคลอด วัน 1 ครั้ง นาน 7 วัน
  • ยาทา Clotrimazole 1% cream 5 gm ทาช่องคลอด วัน 1 ครั้ง นาน 7-14 วัน

     4. ผู้ติดเชื้อ HIV

  • ให้รักษาเหมือนผู้ไม่ติดเชื้อเอชไอวีหากอาการยังไม่ดีขึ้นหลังจากการรักษาระยะสั้น ให้เพิ่มระยะเวลาการรักษาให้นานขึ้น เป็น 7-14 วัน

ข้อควรระวังจาการใช้ยา

  • ยากินกลุ่ม azoles อาจมีอาการคลื่นไส้, ปวดท้อง, ปวดศีรษะ พบน้อยมากที่จะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ตับ
  • ควรระวังกรณีให้ยากลุ่ม azoles ร่วมกับยาชนิดอื่น เช่น simvastatin, antiretroviral drug, warfarin เป็นต้น
  • ยาทาเฉพาะที่ไม่พบผลข้างเคียงต่อร่างกาย อาจมีแสบร้อนเฉพาะที่

วิธีการใช้ยาสอดช่องคลอด

  1. ล้างมือให้สะอาด
  2. แกะกระดาษที่ห่อยาออก แล้วจุ่มเม็ดยาในน้ำสะอาด พอให้ยาชื้น (ประมาณ 1-2 วินาที) เพื่อช่วยลดการระคายเคือง
  3. นอนหงายโดยชันหัวเข่าขึ้นและแยกขาออก
  4. สอดยาเข้าช่องคลอดให้ลึกที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยใช้นิ้วช่วยดันยาเข้าไป
  5. นอนในท่าเดิมสักครู่ ไม่ต่ำกว่า 15 นาที

วิธีการใช้ยาสอดช่องคลอดโดยใช้เครื่องมือช่วยสอด

1. ล้างมือให้สะอาด

2. แกะกระดาษที่ห่อยาออก

3. ใส่เม็ดยาในเครื่องมือช่วยสอด โดยมีขั้นตอนดังนี้

  • ดึงก้านสูบของเครื่องออกมาจนสุด
  • ใส่ยาในช่องใส่ยาที่ปลายเครื่องมือ เม็ดยาจะติดที่ช่องใส่ยา

4. นอนหงาย โดยชันหัวเข่าขึ้นและแยกขาออก

5. สอดยาเข้าในช่องคลอด โดยมีขั้นตอนดังนี้

  • จับตัวเครื่องมือสอดยาที่ใส่ยาแล้วนิ้วหัวแม่มือและนิ้วกลาง ส่วนนิ้วชี้ให้แตะอยู่ที่ปลายก้านสูบ
  • หันปลายที่มียาเข้าไปช่องคลอด ค่อยๆสอดเครื่องมือเข้าไปเบาๆ เมื่อสอดเข้าไปลึกพอควรให่ใช้นอ้วชี้ดันก้านลูกสูบเพื่อไล่ตัวยาออกขากเครื่องมือ โดยยาจะตกอยู่มนช่องคลอด
  • เอาเครื่องมือออกจากช่องคลอด

6. นอนในท่าเดิมสักครู่ ไม่ต่ำกว่า 15 นาที

 

 

จัดทำโดย

ภญ.ณัฐสุดา เกณิกานนท์ 

 

บรรณานุกรม

1. สมเฮง นรเศรษฐีกุล. คู่มือประกอบการฝึกปฏิบัติงานเภสัชกรรมชุมชน. ครั้งที่พิมพ์ 7. สมุทรสาคร: บริษัทเมดอินโฟ จี.ดี. จำกัด; 2559.

2. นายแพทย์นิสิต คงเกริกเกียรติ,แพทย์หญิงรสพร กิตติเยาวมาลย์,นายเอกชัย แดงสอาด; สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2558. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัด สำนักพิมพ์ อักษรกราฟฟิค แอนด์ ดีไซน์; 2558.

3. คณะอนุกรรมการสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สภาเภสัชกรรม. คู่มือทักษะตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (สมรรถนะร่วม) พ.ศ. 2562. พิมพ์ครั้งที่ 1. นนทบุรี: บริษัท เอช อาร์ พริ้นซ์ แอนด์ เทรนนิ่ง จำกัด; 2562.

 

เพิ่มเพื่อน

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.