เภสัชกรชุมชน กับ “ยาชุดล้างไต”
04 Feb, 2021 / By
salacrm01
เภสัชกรชุมชน กับ “ยาชุดล้างไต”
ในการปฏิบัติหน้าที่เภสัชกรชุมชน เชื่อว่าเภสัชกรเกือบทุกคนต้องเคยประสบปัญหาที่ผู้รับบริการเรียกหา “ยาล้างไต/ยาชุดล้างไต” ซึ่งมักไม่ทราบข้อบ่งใช้ทางการแพทย์แน่ชัด
ในทางการแพทย์ การล้างไตหมายถึง วิธีการบำบัดทดแทนไต (renal replacement therapy) ซึ่งมีวิธีการบำบัดได้แก่ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis) และ การล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal dialysis) ซึ่งพิจารณาทำในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย (ระยะที่ 5; kidney failure) ที่มีอัตราการกรองของไต < 15 มล./นาที/1.73 ตร.ม. ซึ่งไม่ตรงกับการตีความหมายของผู้ป่วย/ผู้เข้ารับบริการ ที่มักขอซื้อยาล้างไตด้วยข้อบ่งชี้ อื่นๆ ได้แก่
- ปวดหลัง ปวดบั้นเอว
- ปัสสาวะแสบขัด
- ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะเล็ด
- มีการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์
- เสพสารเสพติด สารมึนเมา หรือ ได้รับสารพิษติดต่อกันเป็นเวลานาน
รูปที่ 1 ตัวอย่างของยาที่อวดอ้างสรรพคุณบำรุง/ล้างไต
ที่มาของภาพ: https://mgronline.com/qol/detail/9600000024383
ส่วนประกอบที่มักพบในยาชุดอวดอ้างสรรพคุณบำรุงไต ได้แก่ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs), ยาต้านการอักเสบสเตียรอยด์, ยาขับปัสสาวะ และยาบางชนิดที่สามารถเปลี่ยนสีปัสสาวะโดยไม่มีฤทธิ์ในการรักษาโรคไต ดังแสดงในรูปภาพที่ 2
รูปภาพที่ 2 ยาที่สามารถเปลี่ยนสีปัสสาวะได้
ที่มาของภาพ : https://globalrph.com/drugs/urine-discoloration/
ในประเทศไทย พบการนำ Methylene blue มาใช้เพื่อเปลี่ยนสีปัสสาวะ และอวดอ้างสรรพคุณในการรักษาโรคที่เกี่ยวเนื่องกับทางเดินปัสสาวะ จึงขอยกนำหัวข้อข้างต้นมาอภิปรายในบทความนี้
ปัจจุบัน Methylene blue มีข้อบ่งใช้หลักในการเป็นยาต้านพิษ (antidote) ตามประเภทการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ข้อบ่งใช้ในการรักษา ได้แก่ Methemoglobinemia, Chromoendoscopy, Isofosfamide-induce encephalopathy(off-label use), Onychomycosis, Sentinial node mapping in breast cancer (off label use), Vasoplegia syndrome associated with cardiac surgery (off-label use), Pediatric methemoglobinemia
จากการศึกษาของ Huang และคณะในปี 20183 ประสิทธิภาพของยา Methylene blue ในการเป็นยารักษาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ นั้นอาศัยหลักการ Photodynamic Therapy (PDT) โดยการใช้สารสี ที่ไม่มีพิษ (non-toxic dye) ทำหน้าที่เป็นสารไวต่อแสง (Photosensitizer) ร่วมกับการให้แสงในสภาวะที่มีออกซิเจน กระบวนการดังกล่าวนำมาซึ่งสารอนุมูลอิสระ ทำหน้าที่ในการทำลายชีวโมเลกุลของเชื้อแบคทีเรียโดยส่งผลกระทบต่อโฮสเซลล์น้อย หลักการดังกล่าวนั้นยังสามารถเติมสารเสริมฤทธิ์ ในปฏิกิริยา อันได้แก่ โพแทสเซียมไอโอไดน์ ซึ่งแตกตัวให้สารอนุมูลอิสระ (I-, OH-)
จากการทดลองในสัตว์ทดลอง (หนู) พบว่า การให้ Methylene blue นั้น เมื่อให้ควบคู่กับ โพแทสเซียมไอโอไดน์และแสงจะให้ประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อในกระเพาะปัสสาวะของหนูได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตามฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียของสารอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้น คงอยู่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียซ้ำอีกครั้งหลังจากหยุดให้แสง นับเป็นข้อเสียของการใช้ Methylene blue และโพแทสเซียมไอโอไดน์
รูปภาพที่ 3 Kaplan-Meier plot แสดงจำนวนสัตว์ทดลองที่ยังมีการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะโดยตรวจวัดจากกระบวนการ bioluminescence กลุ่มควบคุม (n = 8); กลุ่มที่ได้รับ MB + KI dark (n = 8); กลุ่มที่ได้รับ MB aPDT (n = 8); กลุ่มที่ได้รับ MB + KI aPDT (n = 12). โดยกลุ่มที่ได้รับ MB + KI + แสง แสดงการติดเชื้อที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากกลุ่มอื่น (p < 0.05; log rank test).
อย่างไรก็ดี แม้จะมีข้อมูลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพพของ methylene blue แต่วิธีการนำไปใช้เพื่อการรักษานั้นไม่ใช่วิธีการรับประทานเข้าสู่ร่างกายดังที่ผู้ป่วย/ผู้รับบริการเข้าใจ และนอกจากการรับประทานยา methylene blue จะไม่มีประสิทธิภาพแล้ว การได้รับยาดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการข้างเคียง ได้แก่ การกดระบบประสาทส่วนกลางซึ่งมีผลทำให้การทำงานของร่างกายและสภาวะจิตผิดปกติ หากได้รับในปริมาณที่สูงมากเกินไป หรือในผู้ป่วยโรค G-6-PD อาจทำให้เกิดภาวะ Methemoglobinemia และเม็ดเลือดแดงแตกได้ ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
ปัจจุบันในประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีการนำ Methylene blue เดี่ยวๆ หรือ Methylene blue ผสมกับ โพแทสเซียมไนเตรทในการรักษาโรคทางเดินในปัสสาวะเนื่องจากขาดหลักฐานทางวิชาการยืนยันถึงประสิทธิภาพในการรักษาของมนุษย์ ดังแสดงในราชกิจจานุเบกษา ที่ ๒๙/๒๕๖๑
ภายใต้ขอบเขตและข้อจำกัดในการให้การบริบาลผู้ป่วยในร้านยา นอกจากการปฏิเสธการจ่ายยาชุดล้างไตและให้ข้อมูลอย่างเหมาะสม เภสัชกรชุมชนควรจะมีความสามารถในการประเมินภาวะที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานของไต ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากยาที่เป็นส่วนประกอบของยาชุด อันได้แก่
- ภาวะบวม กลไกที่เกี่ยวข้องได้แก่ การคั่งของเกลือโซเดียมและน้ำ โดยยาที่อาจพบว่าเป็นสาเหตุได้แก่ NSAIDs, corticosteroids
- ภาวะปัสสาวะออกผิดปกติ กลไกที่เกี่ยวข้องกับแรงดันที่ท่อหน่วยไต (glomerular pressure) เช่น หดหลอดเลือดที่เข้าสู่ท่อหน่วยไต ได้แก่ NSAIDs เป็นต้น หรือขยายหลอดเลือดที่ออกจากหน่วยไต ได้แก่ ยาในกลุ่ม ACEIs, ARBs
- ภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะ หากมีปริมาณน้อย ผู้ป่วยอาจจะไม่แสดงอาการ หรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณโปรตีนที่รั่วออกมา อาการที่จะสามารถมองเห็นได้ ได้แก่ เปลือกตาบวม และ ขาทั้งสองข้างบวม หากสอบถามเพิ่มเติมอาจจะพบว่ามีปัสสาวะเป็นฟองอยู่นานกว่าปกติ ยาที่อาจทำให้โปรตีนรั่วในปัสสาวะได้แก่ NSAIDs 4-5
หากประเมินแล้วพบอาการผิดปกติที่ไม่สามารถให้การบริบาลทางเภสัชกรรมในร้านขายยาได้ อาจพิจารณาส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่เหมาะสมต่อไป
เรียบเรียงโดย...
ภญ.สิริอร กางมัน
เอกสารประกอบการเรียบเรียง
- National Kidney Foundation. K/DOQI clinical practice guidelines for chronic kidney disease: evaluation, classification, and stratification. Am J Kidney Dis. 2002; 39:S1-266
- Corbett AH, Dana WJ, Golembiewski JA, editors. Drug Information Handbook. 25th. Lexicomp. 2016
- Huang, Y. Y., Wintner, A., Seed, P. C., Brauns, T., Gelfand, J. A., & Hamblin, M. R. (2018). Antimicrobial photodynamic therapy mediated by methylene blue and potassium iodide to treat urinary tract infection in a female rat model. Scientific reports, 8(1), 7257. https://doi.org/10.1038/s41598-018-25365-0
- สุนทรี วัชรดำรงกุล, บรรณาธิการ. แนวปฏิบัติสู่ความเป็นวิชาชีพ เภสัชกรรมชุมชน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: โรจนพริ้นท์ติ้ง; 2017.
- ธิดา นิงสานนท์, ฐิติมา ด้วงเงิน, วีรชัย ไชยจามร, ปรีชา มนทการติกุล, บรรณาธิการ. แนวทางสำคัญสำหรับการบริบาลทางเภสัชกรรม. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชนจำกัด; 2015. หน้า 116-118.