เลิกบุหรี่เรื่องง่าย ๆ ถ้าใจสู้
07 Nov, 2021 / By
salacrm01
เลิกบุหรี่เรื่องง่าย ๆ ถ้าใจสู้
การติดบุหรี่ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด พบว่า 90% ของโรคมะเร็งปอดในผู้ชาย และ 79% ของโรคมะเร็งปอดในผู้หญิงเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่ 1 สารประกอบในควันบุหรี่มีมากกว่า 4,000 ชนิด และพบว่ามากกว่า 50 ชนิดสามารถก่อโรคมะเร็งในมนุษย์ได้
โดยองค์ประกอบของสารเคมีในบุหรี่ ได้แก่
1. นิโคติน (Nicotine) เป็นสารสำคัญที่ทำให้เกิดสารเสพติดและทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
2. ทาร์ (Tar) เป็นสารที่ไปจับกับเนื้อเยื่อปอดก่อให้เกิดอาการไอเรื้อรังมีเสมหะ และมะเร็งปอดได้
3. คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) เป็นก๊าซที่ขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง หัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย
4. ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (HCN) เป็นก๊าซพิษที่ทำลายเยื่อบุหลอดลม ทำให้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ไอมีเสมหะได้
5. ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เป็นก๊าซพิษที่ทำลายเยื่อบุหลอดลมและถุงลม ทำให้เป็นโรคถุงลมโป่งพองได้ 2
การเลิกสูบบุหรี่เป็นอีกหนึ่งทางที่จะช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและอัตราการเสียชีวิตจากโรคเรื้อรัง อย่างไรก็ตามการเลิกสูบบุหรี่นั้นไม่ง่ายนัก หลายต่อหลายครั้งที่ผู้สูบบุหรี่กลับมาสูบซ้ำหรือเลิกสูบได้ไม่สำเร็จ ดังนั้นกระบวนการให้คำปรึกษาเพื่อการเลิกสูบบุหรี่จึงสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้คำแนะนำและสนับสนุนในการเลิกสูบบุหรี่จากเภสัชกร
อาการและอาการแสดงของการขาดนิโคตินสามารถเกิดขึ้นได้ภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากหยุดสูบบุหรี่ แต่โดยทั่วไปแล้วอาการขาดนิโคตินจะเริ่มเกิดขึ้นระหว่าง 24 – 48 ชั่วโมงหลังจากเลิกสูบบุหรี่และจะคงอยู่ต่อไป 2-3 วันจนถึง 4 สัปดาห์ ส่วนใหญ่อาการถอนนิโคตินที่พบได้แก่ นอนไม่หลับ ใจสั่น กระวนกระวาย เครียด ไม่มีสมาธิ โกรธง่าย เศร้าหดหู่ ท้องผูก อาการดังกล่าวจะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์ 3 ช่วงระหว่างเกิดอาการถอนนิโคตินผู้ติดบุหรี่จะต้องรู้วิธีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องและได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์หรือเภสัชกร
สำหรับการรักษาผู้ติดบุหรี่มี 2 แนวทางคือ
1.การรักษาโดยไม่ใช้ยา
ข้อปฏิบัติ ใช้หลักการ 5D / 5น เมื่อมีอาการอยากสูบบุหรี่ รู้สึกกระวนกระวาย อยู่ไม่สุข ไม่มีสมาธิ เครียด
Delay / หน่วง: หน่วงความรู้สึก โดยเลื่อนระยะเวลาการสูบบุหรี่ออกไป อย่าสูบบุหรี่ทันทีที่รู้สึกอยากสูบ
Drink water / น้ำ: ดื่มน้ำมาก ๆ และบ่อย ๆ
Do something else / โน้มน้าว: หากิจกรรมอื่น ๆ ทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น ออกกำลังกาย ฟังเพลง
Deep breath / นิ่ง: สูดลมหายใจเข้าออกลึก ๆ ช้า ๆ จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
Destination /แน่วแน่: แนะนำให้ผู้ติดบุหรี่ยึดถือเป้าหมายหลัก ตั้งใจเลิกบุหรี่อย่างแน่นอน
ตารางที่ 1 แสดงแนวทางการปฏิบัติที่พบได้บ่อยจากปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้ยังคงอยากสูบบุหรี่
ปัจจัยเสี่ยง
|
การปฏิบัติตัว
|
มีอาการถอนนิโคติน เช่น อยากบุหรี่ หงุดหงิด โกรธง่าย
เวียนศีรษะ ไม่มีสมาธิ ใจสั่น
|
- ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อรับยาช่วยเลิกบุหรี่หากไม่มีข้อห้ามใช้ และอาจจะรับประทานผลไม้รสเปรี้ยว เช่น มะม่วง มะนาว มะยม มะขามป้อม
- หายใจเข้าออกช้า ๆ ลึก ๆ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย
- ยืดระยะเวลาสูบบุหรี่ออกไป โดยหากิจกรรมอย่างอื่นทำ
|
ความเครียดจากชีวิตประจำวัน
|
รู้จักปล่อยวาง ฝึกจิต มองปัญหาต่าง ๆ ในแง่ดี ไม่จริงจังกับชีวิตมากเกินไป
|
ความเครียดจากการทำงาน
|
ทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด หากยังถูกตำหนิก็รับฟังแล้วนำมาปรับปรุงแก้ไข มองสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งคำตำหนิในมุมบวก
|
คนใกล้ชิดหรือกลุ่มเพื่อนสูบบุหรี่
|
แจ้งความตั้งใจในการเลิกบุหรี่ให้คนใกล้ชิดทราบ และในช่วง 2 - 3 สัปดาห์แรกอาจจะหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับคนใกล้ชิดที่สูบบุหรี่
|
พฤติกรรมความเคยชินและสถานที่ที่เคยเสพเป็นประจำ เช่น ที่โต๊ะอาหาร, หลังอาหารแต่ละมื้อ เป็นต้น
|
สร้างพฤติกรรมใหม่ที่ไม่สุ่มเสี่ยง เช่น ไม่ควรนั่งที่โต๊ะอาหารนาน ๆ, จัดห้องนอนหรือห้องทำงานให้ดูแปลกตาจากเดิม
|
อุปกรณ์การสูบ เช่น ที่เขี่ยบุหรี่ ไฟแช็ค
|
กำจัดอุปกรณ์ทั้งหมดในการสูบ ไม่พกติดตัวเด็ดขาด
|
มีอาการท้องผูก
|
- ดื่มน้ำ 1 แก้วหรือ 2 แก้วทันทีที่ตื่นนอน
- รับประทานอาหารที่มีกากใยเพิ่มเพิ่มขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ธัญพืชต่าง ๆ
|
หิวบ่อย รับประทานจุขึ้น
|
- รับประทานอาหารเป็นเวลา เคี้ยวอาหารช้า ๆ
- เลือกรับประทานอาหารแคลอรี่ต่ำ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช
|
2. การรักษาโดยการใช้ยา
การที่เภสัชกรได้ให้คำแนะนำที่เหมาะสมร่วมกับให้ยาในผู้ป่วยที่ไม่มีข้อห้ามใช้ยา ทำให้ผู้ติดบุหรี่มีโอกาสเลิกบุหรี่ได้สำเร็จมากขึ้น
ข้อห้ามใช้ของยา ได้แก่
- สูบบุหรี่จำนวนน้อยกว่า 10 ม้วน/วัน
- หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงให้นมบุตร
- เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
ยาที่เป็นทางเลือกแรกในการรักษาผู้ติดบุหรี่ ได้แก่ Varenicline, Bupropion, Nicotine replacement therapy
ยาที่เป็นทางเลือกรองในการรักษาผู้ติดบุหรี่ ได้แก่ Nortriptyline, Clonidine
การเลิกบุหรี่ให้สำเร็จได้นั้น ผู้ติดบุหรี่เองเป็นบุคคลสำคัญที่สุดโดยต้องเชื่อมั่นว่าตนเองทำได้ เชื่อมั่นว่าการเลิกบุหรี่จะส่งผลดีต่อสุขภาพ การที่จะเลิกบุหรี่ได้จริงต้องผ่านเวลาช่วงสองสัปดาห์แรกหลังเลิกบุหรี่ เพราะต้องเผชิญกับความอยากบุหรี่ และต้องต่อสู้กับอาการถอนนิโคติน ดังนั้นการเลิกบุหรี่โดยได้รับการให้คำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกรจะทำให้โอกาสในการเลิกบุหรี่สำเร็จมากขึ้น อีกทั้งการหากำลังใจจากคนใกล้ชิด เพื่อน คนในครอบครัวสามารถช่วยเหลือให้ผ่านพ้นทุกช่วงของการเลิกบุหรี่ได้
เรียบเรียงโดย
ภก.วิวัฒน์ ทาสิงห์
เอกสารอ้างอิง
1. US Department of Health and Human Services: The Health Consequences of Smoking: 25 Years of Progress. A Report of the Surgeon General. US Department of Health and Human Services, Public Health Service, Centers for Disease Control, Center for Chronic Disease Prevention and Health Promotion, Office on Smoking and Health. DHHS Publication No. (CDC) 89-8411,1989.
2. กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงานสำนักโรคไม่ติดต่อ. รายงานประจำปี 2559. สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวง สาธารณสุข; 2559.
3. Benowitz, N.L. 2010. Nicotine addiction. N. Engl. J. Med. 362: 2295–2303.
4. อารยา ทองผิว, สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา, สุรจิต สุนทรธรรม. คู่มือเวชปฏิบัติสําหรับการบําบัดโรคเสพยาสูบในผู้ป่วยโรคเรื้อรังในประเทศไทย พ.ศ. 2561.พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพ:สินทวีกิจ; 2561.
5. West R, Raw M, McNeill A, et al. Health-care interventions to promote and assist tobacco cessation: a review of efficacy, effectiveness and affordability for use in national guideline development. Addiction 2015; 110:1388.
6. Suls JM, Luger TM, Curry SJ, et al. Efficacy of smoking-cessation interventions for young adults: a metaanalysis. Am J Prev Med 2012; 42:655.