แอลกอฮอล์...ติดได้ก็เลิกได้
แอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบในเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนจำนวนมาก ทั้งการดื่ม เพื่อการสังสรรค์ การเข้าสังคม การผ่อนคลายความเครียด ไปจนถึงการเสพติด ซึ่งแอลกอฮอล์เป็นสารที่มีผลต่อการทำงานของระบบร่างกายหลายอวัยวะ การดื่มในปริมาณมากหรือต่อเนื่องเป็นเวลานานจะนำไปสู่โรคและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้
ผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อสุขภาพ
1. โรคทางประสาท เช่น ประสาทหลอน ขาดสติ จิตหลอน โรคซึมเศร้า โรคลมชัก โรคระแวงเพราะสุรา โรคพิษสุราเรื้อรัง กล้ามเนื้อส่วนปลายอ่อนแรง เป็นต้น
2. โรคหลอดเลือดและหัวใจ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม โรคหัวใจเต้นผิดปกติ โรคหัวใจล้มเหลว
โรคความดันโลหิตสูง โรคเสื่อมสรรถภาพทางเพศ โรคสมองส่วนนอกลีบฝ่อ เป็นต้น
3. โรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคต่อมหมวกไต โรคตับแข็ง โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคเกาต์ โรคตับอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร โรคตับอ่อนอักเสบแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง เป็นต้น
4. โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็ง
ในกระเพาะอาหาร มะเร็งในช่องปาก
การประเมินภาวะติดแอลกอฮอล์
เครื่องมือในการคัดกรองปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ที่นิยมใช้ในร้านยา คือ Alcohol Use Disorders Identification Test (AUDIT) ซึ่งประกอบด้วยข้อคำถาม 10 ข้อ ดังนี้
รูปที่ 1 แบบประเมิน AUDIT
การแปลผลการประเมิน คะแนน 0-7 : ผู้ดื่มแบบเสี่ยงต่ำ (Low risk drinker)
คะแนน 8-15 : ผู้ดื่มแบบเสี่ยง (Hazardous drinker)
คะแนน 16-19 : ผู้ดื่มแบบอันตราย (Harmful drinker)
คะแนน 20-40 : ผู้ดื่มแบบติด (Alcohol dependence)
หลักการและแนวทางในการเลิกดื่มแอลกอฮอล์
การเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยทั่วไปมี 2 แบบ ได้แก่ การรักษาแบบไม่ใช้ยา (Non-pharmacology) และการรักษาแบบใช้ยา (Pharmacology) โดยขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความรุนแรงของการติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในผู้ป่วยแต่ละราย
1. การรักษาโดยไม่ใช้ยา (Non pharmacotherapy) แบ่งเป็น 3 วิธี ดังนี้
1.1 การให้คำแนะนำแบบสั้น (Brief Advice) คือ การให้ข้อมูล เน้นสร้างแรงจูงใจ สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ จะใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที เหมาะสำหรับผู้ที่ยังขาดแรงจูงใจในการ
เข้ารับการบำบัด
1.2 การให้ความช่วยเหลือแบบสั้น (Brief Intervention) คือ การสนทนาร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย สำหรับผู้ที่มี
แรงจูงใจอยู่บ้าง ร่วมกันวางแผนเพื่อลดการดื่มหรือเลิกดื่มอย่างเป็นรูปธรรม จะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที
1.3 การให้คำปรึกษา (Counseling) คือ การสนทนาทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้เกิดความตระหนักและมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ของตนเอง จะใช้เวลาประมาณ 45 นาที และนัดติดตามเป็นจำนวน 4-8 ครั้ง เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาการดื่มชัดเจน (Alcoholic abuse) ไม่ให้กลายเป็นผู้ดื่มแบบติด (Alcoholic dependence)
2. การรักษาแบบใช้ยา (Pharmacotherapy) เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะติดแอลกอฮอล์ หรือได้รับการประเมินจากแพทย์หรือเภสัชกรแล้วว่าควรรักษาโดยการใช้ยา แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
2.1 กลุ่มยาที่ทำให้เลิกสุรา (Medication for alcohol cessation) ได้แก่
- Disulfiram ยารับประทานเพื่อป้องกันการดื่มแอลกอฮอล์ โดยหยุดความรู้สึกดีที่เกิดขึ้นเมื่อดื่ม เนื่องจากเมื่อใช้ยาร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดอาการข้างเคียงเช่น ผิวหนังแดง คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นผิดปกติ หายใจลำบาก และปวดศีรษะ และลดความอยากดื่มลงเมื่อใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลา 3-6 เดือน แต่อย่างไรก็ตามยาดังกล่าวควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากยามีผลต่อตับ (Hepatotoxicity) และผู้เลิกดื่มต้องสมัครใจให้ความร่วมมือในการรักษา เพราะการใช้ผิดวัตถุประสงค์อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้
- Acamprosate ยารับประทานเพื่อช่วยลดความต้องการในการดื่มแอลกอฮอล์ โดยอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ ท้องเสีย ปวดท้อง มีผื่น คันตามผิวหนัง เบื่ออาหาร มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย เป็นต้น และมีข้อห้ามใช้ในผู้ที่มีภาวะไตบกพร่องรุนแรง
- Naltrexone มีทั้งรูปแบบรับประทานและรูปแบบฉีด ส่งผลลดความอยากและลด ความพึงพอใจจากการดื่มแอลกอฮอล์ โดยอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และวิตกกังวล เป็นต้น และห้ามใช้ในผู้ที่กำลังใช้ มอร์ฟีน หรืออยู่ในภาวะถอนพิษของ opioid
หรือผู้มีภาวะตับผิดปกติ
- Topiramate เป็นยากันชักรูปแบบรับประทาน โดยกลไกการออกฤทธิ์เกี่ยวกับการเลิกดื่มสุรายังไม่แน่ชัด
2.2 กลุ่มยาที่ช่วยบรรเทาภาวะถอนพิษสุรา (Medication for treatment alcohol withdrawal syndrome)
- Benzodiazepines (Alprazolam, Oxazepam, Lorazepam, Chlordiazepoxide, Diazepam, Clonazepam) เป็นยาตัวเลือกแรกสำหรับผู้ที่มีอาการชัก และป้องกันการเกิดภาวะเพ้อ (Delirium) มีประสิทธิภาพดีออกฤทธิ์เร็ว ปลอดภัยในการใช้สำหรับผู้ป่วยที่ติดแอลกอฮอล์ อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ง่วงซึม ความดันโลหิตต่ำ ปวดศีรษะ เป็นต้น
- Beta blockers (Propranolol, Atenolol) พิจารณาใช้ในผู้ที่มีอาการสั่น แต่ไม่สามารถป้องกันการชักหรือภาวะเพ้อ จึงควรพิจารณาให้ร่วมกับยากลุ่ม Benzodiazepine โดยควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคหืดหรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับหลอดลม เนื่องจากอาจทำให้หลอดลมตีบได้
- Alpha-2 adrenergic receptor agonist (Clonidine) พิจารณาใช้ในผู้ที่มีอาการกังวลหรือกระสับกระส่าย ชีพจรเต้นเร็ว และความดันโลหิตสูง โดยอาการข้างเคียงที่สำคัญคือ ทำให้เกิดภาวะ
ความดันโลหิตต่ำ
- Haloperidol พิจารณาใช้ในผู้ที่มีอาการประสาทหลอน โดยผลข้างเคียงที่สำคัญคือ อาการบิดเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย กระสับกระส่าย ไม่สามารถอยู่นิ่งได้ เคลื่อนไหวช้า แข็งเกร็งคล้ายโรคพาร์กินสัน (ภาวะ Extrapyramidal symptoms; EPS)
- Baclofen เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการลดอาการถอนพิษรุนแรงได้อย่างรวดเร็วสำหรับผู้ป่วยที่ติดแอลกอฮอล์ ลดอาการอยากแอลกอฮอล์ได้และมีความปลอดภัย
2.3 กลุ่มยาที่ป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากพิษสุราเรื้อรัง
เนื่องจากผู้ป่วยที่ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เรื้อรังมักพบการขาดสารอาหารร่วมด้วย ดังนั้นจึงควรได้รับสารอาหารเพิ่มเติม โดยจะพิจารณาให้เป็นการผสม Thiamine, Folic acid และวิตามินอื่น ๆ ในสารน้ำ (The cocktail) ให้ผู้ป่วยเพื่อป้องกันภาวะ Wernicke-Korsakoff syndrome ซึ่งจะมีอาการสับสน การเคลื่อนไหวของตาผิดปกติและเดินเซ เป็นต้น
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าแอลกอฮอล์ส่งผลเสียโดยตรงกับสุขภาพผู้ดื่ม นอกจากนี้ยังส่งผลต่อกระทบต่อความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัวและสังคม ผู้ที่มีปัญหาในการดื่มแอลกอฮอล์และมีความคิดในการลดปริมาณ การดื่มหรืออยากเลิกดื่มแอลกอฮอล์ สามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรใกล้บ้านท่าน เพื่อให้การเลิกดื่มแอลกอฮอล์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
เรียบเรียงโดย
ภญ.อนงค์วรรณ บุญถึง
เอกสารอ้างอิง
1. สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย, สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค.
โทษ พิษ ภัยของสุรา. [อินเทอร์เน็ต]. ศูนย์สื่อสารสาธารณะ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. 2562 [เข้าถึงเมื่อ 5 สิงหาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://multimedia.anamai.moph.go.th/ebooks/hp-ebook_13_mini-2/
2. แผนงานการพัฒนาระบบ รูปแบบ และวิธีการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาการบริโภคสุราแบบบูรณาการ (ผรส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, AUDIT แบบประเมินปัญหาการดื่มสุรา แนวปฏิบัติสำหรับสถานพยาบาลปฐมภูมิ. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. 2552;2:16-20.
3. สุณี เลิศสินอุดม, ชินวัตร บัวมี. การเลิกสุรา (Alcohol Cessation). [อินเทอร์เน็ต]. ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 5 สิงหาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://ccpe.pharmacycouncil.org/
index.php?option=article_detail&subpage=article_detail&id=1033