โรคซึมเศร้า
06 Dec, 2022 / By
salacrm01
โรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder ; MDD) เป็นโรคทางจิตเวชที่พบบ่อยและเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข ซึ่งก่อให้เกิดภาวะทุพพลภาพได้โดยตลอดช่วงอายุขัย (Lifetime) สามารถพบโรคซึมเศร้าถึง ร้อยละ 16.2 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบได้ในทุกช่วงอายุโดยเฉพาะวัยรุ่น และวัยทำงาน
สาเหตุของโรคซึมเศร้า
เชื่อว่ามาจากหลายปัจจัยร่วมกัน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคซึมเศร้า ได้แก่
1.พันธุกรรม พบว่าผู้ที่มีญาติสายตรงเป็นโรคซึมเศร้าจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า
2.สารเคมีในสมอง พบว่าระบบสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน โดยมีสารที่สำคัญได้แก่ ซีโรโทนิน (Serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านี้ ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นความบกพร่องในการควบคุมประสานงานร่วมกันมากกว่าเป็นความผิดปกติที่ระบบใดระบบหนึ่ง ยาต้านซึมเศร้า ที่ใช้กันนั้นก็ออกฤทธิ์โดยการไปปรับสมดุลของระบบสารเคมีเหล่านี้
3.ลักษณะนิสัย บางคนมีแนวคิดที่ทำให้ตนเองซึมเศร้า เช่น มองตนเองในแง่ลบ มองอดีตเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง หรือมองโลกในแง่ร้าย เป็นต้น บุคคลเหล่านี้เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน เช่น ตกงาน หย่าร้าง ถูกทอดทิ้งก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมอาการอาจมากจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้
อาการแสดงและเกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า
เกณฑ์การวินิจฉัยตาม Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorder-Fifth Edition (DSM-5) มีดังนี้
A. มีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 5 ข้อ และต้องมีข้อ 1) หรือข้อ 2) หนึ่งข้อ และมีอาการนานอย่างน้อย 2 สัปดาห์
- อารมณ์ซึมเศร้า ท้อแท้ ไม่สบายใจ โดยมีอาการเกือบทั้งวัน
- ความสนใจในสิ่งต่าง ๆ ลดลงอย่างมาก เบื่อ ไม่สนใจอยากทำอะไร โดยมีอาการเกือบทั้งวัน
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือกินจุ น้ำหนักเพิ่มขึ้น มากกว่าร้อยละ 5 จากน้ำหนักเดิมใน 1 เดือน
- นอนไม่หลับหรือนอนมากกว่าปกติ
- การเคลื่อนไหวที่เพิ่มขึ้น ดูกระสับกระส่าย อยู่เฉยไม่ได้โดยเกิดจากความกดดันของจิตใจ หรือการเคลื่อนไหวตอบโต้ที่ช้าลงมาก ดูเฉย ๆ
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- รู้สึกตนเองไร้ค่า หรือรู้สึกผิดอย่างไม่สมเหตุสมผล
- สมาธิลดลง ลังเลใจ
- คิดฆ่าตัวตาย
B.อาการเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน หรือทำให้การประกอบอาชีพ การเข้าสังคม หรือหน้าที่ด้านอื่นที่สำคัญบกพร่องลงอย่างชัดเจน
C.อาการที่เกิดขึ้นไม่ใช่ผลโดยตรงที่เกิดจากสารต่าง ๆ รวมถึงยาที่นำไปใช้ในทางที่ผิด หรือจากสภาวะโรคต่าง ๆ เช่น Hypothyroidism
D.อาการของโรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับโรคจิตเภทหรือโรคทางจิตอื่น ต้องไม่เคยเกิดช่วงที่มีอารมณ์คึกคัก แสดงความรู้สึกโดยไม่รั้ง หรืออารมณ์หงุดหงิดที่ผิดปกติ มาก่อน
การรักษาโรคซึมเศร้า
การรักษาโรคซึมเศร้าประกอบด้วยการรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น จิตบำบัด การช็อตด้วยไฟฟ้า และการรักษาโดยใช้ยาซึ่งถือเป็นการรักษาหลักในโรคซึมเศร้า
การรักษาด้วยยา
ยาต้านซึมเศร้า (Antidepressant) โดยยาที่พิจารณาเป็นทางเลือกแรกในการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คือ Fluoxetine ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มยา Selective Serotonin Reuptake Inhibitors; SSRI อาการข้างเคียงสำคัญของยานี้ได้แก่ คลื่นไส้ (12-29 %) ง่วงซึม (5-17%) หรือ อาจจะนอนไม่หลับ (10-33 %) ลดแรงกำหนัดทางเพศ (1-11%) เป็นต้น
ยาต้านซึมเศร้ามีส่วนช่วยในการรักษาโรคนี้ แม้ผู้ที่ป่วยบางคนอาจรู้สึกว่าความทุกข์ใจหรือปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้นเป็นเรื่องของจิตใจ แต่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ถ้าเป็นโรคซึมเศร้าแล้วแสดงว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในร่างกายของคนเราจนทำให้เกิดมีอาการต่าง ๆ เช่น น้ำหนักลด อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ร่วมอีกหลาย ๆ อาการ ไม่ใช่มีแต่เพียงอารมณ์เศร้าอย่างเดียว ซึ่งยาจะมีส่วนช่วยในการบำบัดอาการต่าง ๆ เหล่านี้ อีกทั้งยังสามารถทำให้อารมณ์ซึมเศร้า ความวิตกกังวลใจทุเลาลงได้ด้วย
จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า 10 คนหากได้รับการรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้าอาการจะดีขึ้นจนหายถึง 8-9 คน ในขณะที่หากไม่รับการรักษานั้นอาการจะดีเองขึ้นเพียง 2-3 คนเท่านั้น (เฉพาะในรายที่อาการไม่รุนแรง หากอาการรุนแรงอาจจะกล่าวได้ว่ายากที่จะหายเอง)
เรียบเรียงโดย
ภก.ธีรภัทร โพธิ์เกษม
อ้างอิง
1.กรมสุขภาพจิต. Clinical Practice Guideline of Major Depressive Disorder for General Practitioner: CPG-MDD-GP. Bangkok: กระทรวงสาธารณสุข; 2553.
2.มาโนช หล่อตระกูล. โรคซึมเศร้า [Internet]. กรุงเทพฯ: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. [เข้าถึงเมื่อ 30 มิ.ย. 2565]. เข้าถึงได้จาก:https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1017
3.ถนอมพงษ์ เสถียรลัคนา. การบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสำหรับเภสัชกรชุมชน Pharmaceutical Care in Depression for Community Pharmacist (Mobile CPE 1-63). 2563 [cited 2022 Jun 30] Available from: https://ccpe.pharmacycouncil.org/index.php?option=article_detail&subpage=article_detail&id=766