โรคนิ้วล็อค มาลองปลดล็อกกันดีกว่า
25 Feb, 2023 / By
salacrm01
โรคนิ้วล็อค มาลองปลดล็อกกันดีกว่า
สาเหตุการเกิดนิ้วล็อค
เกิดจากการใช้งานของนิ้วมือ และมือเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดอาการอักเสบของเยื่อหุ้มเส้นเอ็นงอนิ้วที่บริเวณฝ่ามือตรงตำแหน่งโคนนิ้ว ทำให้นิ้วขยับได้ไม่ดี งอข้อนิ้วมือแล้วไม่สามารถเหยียดกลับคืนได้เหมือนเดิม หรือรู้สึกเหมือนนิ้วถูกล็อคไว้
คนที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคนิ้วล็อค
1. ผู้ที่ต้องทำงานโดยต้องเกร็งนิ้วมือเป็นประจำ เช่น พนักงานออฟฟิศ แม่บ้าน ช่างฝีมือต่าง ๆ ทันตแพทย์ คนสวน เป็นต้น
2. ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคเก๊าท์ หรือโรครูมาตอยด์ เป็นต้น โดยผู้ที่มีโรคประจำตัวเหล่านี้จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ้วล็อคมากขึ้น
อาการของโรคนิ้วล็อค แบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1: มีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ ถ้าเอานิ้วกดบริเวณฐานนิ้วมือจะมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่มีอาการสะดุด
ระยะที่ 2: มีอาการสะดุดเวลาขยับนิ้ว งอนิ้ว และเหยียดนิ้ว แต่ยังสามารถขยับนิ้วมือได้
ระยะที่ 3: มีอาการติดล็อคเมื่องอนิ้วลง ไม่สามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ จำเป็นต้องใช้มืออีกข้างหนึ่งช่วยแกะ หากมีอาการมากขึ้นจะไม่สามารถงอนิ้วลงเองได้
ระยะที่ 4: มีอาการอักเสบ และบวม จนไม่สามารถเหยียดนิ้วให้ตรงได้ หากใช้มืออีกข้างพยายามแกะจะมีอาการบวมมากขึ้น
แนวทางการรักษาโรคนิ้วล็อค การรักษาขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ
ระยะ 1-2
- การรับประทานยาแก้อักเสบในกลุ่ม ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs (NSAIDs)) เพื่อลดอาการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน รวมทั้งพักการใช้งานมือชั่วคราว โดยอาจเว้นกิจกรรมที่ต้องใช้งานมืออย่างน้อย 3-4 สัปดาห์
- ใส่อุปกรณ์สำหรับดามนิ้ว : การใส่อุปกรณ์สำหรับดามนิ้วจะช่วยดามให้นิ้วตรง ไม่งอหรือเหยียดเกินไป รวมทั้งช่วยพักนิ้วอีกด้วย
- การใช้ความร้อนประคบร้อนหรือเย็น การแช่น้ำอุ่นหรือประคบอุ่นในช่วงเช้าสามารถช่วยบรรเทาอาการได้ ในบางรายการประคบเย็นที่ฝ่ามือสามารถช่วยให้อาการนิ้วล็อคดีขึ้นได้
- ออกกำลังกายยืดเส้น
ท่ากายบริหาร
- ยกแขนระดับไหล่ ใช้มือข้างที่ไม่มีอาการดันข้อมืออีกข้างกระดกขึ้น ลง โดยปลายนิ้วเหยียดตรงค้างไว้ นับ 1-10 แล้วปล่อยทำ 5-10 ครั้ง/เซต
- บริหารมือโดยการกำ-แบ โดยทำ 6-10 ครั้ง/เซต เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อนิ้ว และกำลังกล้ามเนื้อในมือ
- หากมีอาการปวดตึงสามารถบรรเทาอาการ โดยการนำมือแช่น้ำอุ่นไว้ 15-20 นาที วันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น หากอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร และทำการรักษาทางกายภาพต่อไป
ระยะที่ 3-4
- หากมีอาการรุนแรงแพทย์อาจพิจารณาการฉีดยาในกลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) เข้าไปในตำแหน่งที่มีการอักเสบโดยตรง เพื่อลดอาการปวด บวม อักเสบของเส้นเอ็นที่บริเวณโคนนิ้ว แต่การฉีดยาอาจทำให้อาการดีขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ และสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ โดยข้อจำกัดของการฉีดยาสเตียรอยด์ (Steroid) คือ ไม่ควรฉีดเกิน 2-3 ครั้งต่อนิ้วที่เป็นโรค
- การผ่าตัด โดยการผ่าตัดตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาอยู่ให้เปิดกว้าง เพื่อให้เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านได้สะดวกขึ้น โดยหลังผาตัดผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ ไม่จำเป็นต้องนอนรพ. โดยแผลหลังผ่าตัดห้ามโดนน้ำประมาณ 1-2 อาทิตย์
การป้องกันการเกิดนิ้วล็อค
- การพักนิ้วมือ ข้อมือระหว่างทำงานไม่ทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานานเกินไป เพราะจะทำให้มือเมื่อยล้า ควรพักมือเป็นระยะสัก 10 นาที
- หลีกเลี่ยงการหิ้วของที่มีน้ำหนักมากเกินไป เช่น ถุงพลาสติก ตะกร้า ถังน้ำ หากจำเป็นต้องหิ้วควรใช้ผ้าขนหนูรอง และหิ้วโดยให้น้ำหนักตกที่ฝ่ามือ แทนที่จะตกที่ข้อนิ้วมือ หรือใช้เป็นการอุ้มประคองเพื่อลดการลงน้ำหนักบริเวณนิ้วมือได้
- หลีกเลี่ยงการหักนิ้ว หรือดีดนิ้ว เพราะจะทำให้เส้นเอ็นอักเสบมากยิ่งขึ้น
- หลีกเลี่ยงการบิดหรือซักผ้าปริมาณมาก ๆ ในครั้งเดียว
- หากจำเป็นต้องทำงานที่ต้องใช้มือกำ หยิบ บีบ เครื่องมือเป็นเวลานาน ๆ ควรใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น ใช้ผ้าห่อที่จับให้หนานุ่ม เช่น ใช้ผ้าห่อด้ามจับตะหลิวในอาชีพแม่ครัวพ่อครัว
- หากมีอาการข้อฝืด กำมือไม่ถนัดตอนเช้า ควรแช่น้ำอุ่น และบริหารโดยการขยับมือกำแบเบา ๆ ในน้ำ จะทำให้นิ้วมือเคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น
เรียบเรียงโดย
ภญ.สุภัทรี นามวิชัยศิริกุล
อ้างอิง
1.นพ. วีรวัฒน์ จันทรัตติยากานต์.“นิ้วล็อค” งอนิ้วไม่ได้ รักษาอย่างไรให้หายเร็ว คุณหมอมีคำตอบ[internet]เข้าถึงเมื่อ:15/11/65 เข้าถึงได้จาก: https://www.phyathai.com/article_detail/2655/th/
2.นพ. ไพบูลย์ กิตยาธิคุณ.10 แนวทางป้องกันโรคนิ้วล็อค[internet]เข้าถึงเมื่อ:15/11/65 เข้าถึงได้จาก: https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/10-
3.นพ. ไพฑูรย์ เบ็ญจพรเลิศ.นิ้วล็อค ปลดล็อกไม่ยาก[internet]เข้าถึงเมื่อ:15/11/65 เข้าถึงได้จาก: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article
4.ศูนย์ออร์โธปิดิกส์ รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์.ปลดล็อก อาการนิ้วล็อค[internet]เข้าถึงเมื่อ:15/11/65 เข้าถึงได้จาก: https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/723