โรคหิดในคน (Scabies)
29 Jul, 2021 / By
salacrm01
โรคหิดในคน (Scabies)
หิดคืออะไร???
- หิด จัดอยู่ในกลุ่มตระกูลเดียวกับตัวไร มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Sarcoptes scabiei ตัวหิดมี 8 ขา
สีน้ำตาล มีขนาดเล็กมากมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น มีวงจรชีวิตอาศัยอยู่ในคน
- หิดตัวผู้เมื่อผสมพันธุ์เสร็จแล้วจะตาย ส่วนตัวเมียจะออกจากรูเดิม แล้วเดินหาบริเวณอื่นของผิวหนังที่เหมาะสม เจาะผิวหนังจนเป็นโพรงเตรียมพร้อมวางไข่ เป็นการเริ่มต้นวงจรชีวิตใหม่ต่อไป
- หิดที่อยู่ในร่างกายจะมีชีวิตอยู่ได้นาน 1-2 เดือน หากอยู่ภายนอกร่างกายคนจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 2-3 วัน และเชื้อหิดจะตายเมื่ออุณหภูมิมากกว่า 50 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมที่ต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ตัวหิดจะมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พบโรคหิดได้ใน
ฤดูหนาวมากกว่าฤดูร้อน
- หิดที่พบในสัตว์เป็นคนละชนิดกับหิดที่พบในคน
- ตัวหิดไม่สามารถกระโดดได้ ซึ่งต่างจากตัวหมัด
ปัจจัยการเกิดโรคหิด
- เด็ก คนยากจน ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านสกปรกหรือในพื้นที่แออัด
- ผู้ที่ทำงานในสถานพยาบาลดูแลผู้ป่วย บ้านพักคนชรา
ในเรือนจำ ค่ายกักกันในผู้อพยพ
- การสัมผัสตัวของผู้ป่วยโรคหิด การจับมือ การกอด หรือการสัมผัสร่างกายกัน รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์กัน
- การใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกันกับผู้ป่วยโรคหิด เช่นเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว หรือนอนร่วมเตียงกับผู้ป่วยโรคหิด
อาการของโรคหิด
อาการคันเป็นอาการสำคัญที่สุดของโรคหิด ซึ่งโดยทั่วไปมักเป็นแบบคันทั่วตัวและคันมาก เว้นบริเวณใบหน้าและศีรษะ จะมีรอยโรคที่เกิดจากการไชของหิดเป็นทางสั้นๆ ที่เรียกว่า burrows แต่รอยโรคที่พบส่วนใหญ่มักเป็นรอยเกา มีการอักเสบของผิวหนังตุ่มแดง (Scabietic nodules) หรือพบตุ่มหนองซึ่งเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
การตรวจหาเชื้อหิดทางห้องปฏิบัติการ
ตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ การตรวจรอยโรคโดยเฉพาะจากบริเวณ burrow จะทำให้มีโอกาสพบตัวเชื้อ, ไข่, เปลือกไข่ หรือแม้กระทั่งอุจจาระได้มากขึ้น
การรักษา โดยใช้ยาอย่างใดอย่างหนึ่งได้แก่
- Permethrin 5% cream ทาทั่วตัวทิ้งไว้ 8-14 ชั่วโมง แล้วล้างออก แล้วทาซ้ำอีก 1 สัปดาห์ (หญิงตั้งครรภ์/ให้นมบุตร และเด็ก ทาทั่วตัวทิ้งไว้ 2 ชั่วโมง แล้วล้างออก)
- Benzyl benzoate 25% emulsion หลังทายาครั้งแรกแล้ว ให้ทาซ้ำอีกครั้งในหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ยานี้ทำให้เกิดอาการระคายเคือง จึงไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี และหญิงตั้งครรภ์/ให้นมบุตร
- Ivermectin 200 μg/น้ำหนักตัว 1 kg ทานครั้งเดียว และทานซ้ำในขนาดเดียวกันภายใน 2 สัปดาห์ (ห้ามใช้ Ivermectin ในเด็กน้ำหนักน้อยกว่า 15 kg และหญิงตั้งครรภ์/ให้นมบุตร)
- การทายา ให้ผู้ป่วยทายาบาง ๆ ให้ทั่วทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่ระดับคอลงมาจนถึงปลายเท้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นซอกอับทั้งหลายรวมทั้งผิวหนังส่วนที่เป็นปกติด้วย ทิ้งไว้ทั้งคืน
(8 ชั่วโมง) แล้วจึงอาบน้ำล้างออกในตอนเช้า
- ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการคันมาก อาจให้กิน Antihistamine ร่วมด้วย ถ้ายังมีตุ่มคันเหลืออยู่ให้ใช้ Mild topical steroid เช่น Triamcinolone 0.1%, Betamethasone 0.1% เป็นต้น ทาวันละ 2 ครั้ง จนกว่าจะหาย
- ควรทำความสะอาดเครื่องนุ่งห่มและเครื่องนอนด้วยน้ำร้อน หากไม่สามารถทำได้ก็ควรเก็บในถุงพลาสติกปิดมิดชิด 72 ชั่วโมง เชื้อก็จะตาย
- ให้รักษาคู่เพศสัมพันธ์และผู้สัมผัสโรคทุกรายแม้ไม่มีอาการ โดยให้การรักษาพร้อมกัน
จัดทำโดย
ภญ.ณัฐสุดา เกณิกานนท์
อ้างอิง
1. ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. “โรคหิด (Scabies)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://parasitology.md.chula.ac.th/th/index.php/80-2013-03-29-04-37-53/93-scabies. [ 8 Feb 2021].
2. คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล. “โรคหิด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://www.tm.mahidol.ac.th/th/tropical-medicine-knowledge/new/Scabie.html [8 Feb 2021].
3. นายแพทย์นิสิต คงเกริกเกียรติ,แพทย์หญิงรสพร กิตติเยาวมาลย์,นายเอกชัย แดงสอาด; สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2558. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัด สำนักพิมพ์ อักษรกราฟฟิค แอนด์ ดีไซน์; 2558.
4. U.S. Department of Health and Human Services Centers for Disease Control and Prevention. Sexually Transmitted Diseases Treatment Guidelines 2015. Vol.64. Atlanta; 2015