หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > ใบแปะก๊วย...มีดีอย่างไร
ใบแปะก๊วย...มีดีอย่างไร
ใบแปะก๊วย...มีดีอย่างไร
13 Mar, 2023 / By salacrm01
Images/Blog/FAonptwl-ใบแปะก๋วย.jpg

ใบแปะก๊วย...มีดีอย่างไร

          แปะก๊วย (Ginkgo) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ginkgo biloba เป็นพืชที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน ถือเป็นหนึ่งในต้นไม้ที่เก่าแก่ที่สุดอาจมีมานานกว่า 200 ล้านปี ใบแปะก๊วยมีการนำมาใช้บำบัดโรคต่าง ๆ เนื่องจากมีสาระสำคัญ 2 กลุ่ม คือ ฟลาโวน ไกลโคไซด์ (Flavone Glycoside)  ร้อยละ 22-27 และสารกลุ่มเทอร์ปีน แลคโตน (Terpene Lactone) ร้อยละ 5-7 ซึ่งสารกลุ่มนี้ประกอบด้วย จิงโกไลด์ (Ginkgolide) และบิโลบาไลด์ (Bilobalide) สารทั้งสองกลุ่มนี้มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระประสิทธิภาพสูงช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย  ซึ่งมีการศึกษาประโยชน์จากสารสกัดใบแปะก๊วย ดังนี้

  • คุณประโยชน์จากใบแปะก๊วย และขนาดรับประทานที่แนะนำ

1. ภาวะสมองเสื่อม (Dementia)
          ขนาดรับประทาน: สารสกัดจากใบแปะก๊วย 120-240 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งรับประทานวันละ 2-3 ครั้ง ภาวะสมองเสื่อมเป็นความผิดปกติของการทํางานของระบบประสาท ทําให้มีปัญหาด้านความจำบกพร่องร่วมกับมีอาการอื่นซึ่งกระทบต่อการดําเนินชีวิตประจำวันภาวะสมองเสื่อมเป็นความผิดปกติของการทํางานของระบบประสาท ทําให้มีปัญหาด้านความจำบกพร่องร่วมกับมีอาการอื่นซึ่งกระทบต่อการดําเนินชีวิตประจำวัน สารสกัดจากใบแปะก๊วยสามารถช่วยในกระบวนการของสมองเกี่ยวกับการรับข้อมูลและตัดสินใจ (Cognitive Function) ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อม (Dementia)

        โดยขนาดรับประทานสำหรับช่วยในกระบวนการของสมองเกี่ยวกับการรับข้อมูลและตัดสินใจ (Cognitive Function) สารสกัดจากใบแปะก๊วย 120-600 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง 

          จากการศึกษาพบว่าการรับประทานสารสกัดจากแปะก๊วยร่วมกับยาสำหรับรักษาในผู้ที่มีภาวะรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย (Mild Cognitive Impairment) และมีภาวะสมองเสื่อม สามารถช่วยให้ผู้ป่วยรับข้อมูลและตัดสินใจได้ดีขึ้น รวมถึงการทำกิจวัตรประจำวันดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ประสิทธิภาพขึ้นกับขนาดที่รับประทานซึ่งขนาด 240 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นขนาดที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

2. กลุ่มอาการที่มีความผิดปกติทางร่างกายและทางจิตใจในช่วงระยะเวลาก่อนจะมีประจำเดือน(Premenstrual Syndrome)

          ขนาดรับประทาน: สารสกัดจากใบแปะก๊วย 80 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 2 ครั้ง เริ่มรับประทานทานวันที่ 16 ของรอบเดือน จนถึงวันที่ 5 ของรอบเดือนถัดไป

          กลุ่มอาการที่มีความผิดปกติในช่วงระยะเวลาก่อนจะมีประจำเดือน อาการทางร่างกาย เช่น เหนื่อย อ่อนเพลีย มีความอยากอาหารมากกว่าปกติ ท้องเสียหรือท้องผูก

          การนอนผิดปกติ คัดตึงเต้านม ส่วนอาการทางจิตใจ เช่น เครียด หงุดหงิด วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน จากการ

          ศึกษาการใช้สารสกัดจากใบแปะก๊วยเพื่อลด Premenstrual Syndrome (PMS) พบว่าผู้เข้าร่วมการศึกษา 85 คนที่มีลักษณะทางประชากรและความรุนแรงของ PMS เหมือนกัน หลังจากได้รับสารสกัดจากใบแปะก๊วยความรุนแรงของอาการทางร่างกายและจิตใจลดลงร้อยละ 23.68 ส่วนกลุ่มที่ได้ยาหลอกลดลงร้อยละ 8.74 ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

3. อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน (Vertigo)

          ขนาดรับประทาน: สารสกัดจากใบแปะก๊วย 120-160 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งทานวันละ 2-3 ครั้ง

          จากการศึกษาอาสาสมัครที่มีอาการเวียนหัว บ้านหมุน วูบบ่อย จำนวน 160 คน โดย 80 คนได้รับสารสกัดจากใบแปะก๊วย (Ginkgo biloba extract (EGb 761)) ขนาด 240 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งรับประทาน 120 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง และกลุ่มที่ 2 ได้รับยาแก้เวียนหัว คือ ยาเบตาฮีสทีน (Betahistine) ขนาด 32 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งรับประทาน 16 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง พบว่าหลังจากการทดลอง 12 สัปดาห์ กลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วย EGb 761 มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนดีขึ้นร้อยละ 79 ในขณะที่ผู้ที่ได้รับยาเบต้าฮีสทีนอาการดีขึ้นร้อยละ 70 ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ และกลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วย EGb 761 เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาเบต้าฮีสทีน

4. ความบกพร่องด้านเพศสัมพันธ์จากการใช้ยากลุ่ม Selective Serotonin Reuptake Inhibitors (SSRI-induced Sexual Dysfunction (SSRI))

          ขนาดรับประทาน: สารสกัดจากใบแปะก๊วย 60-240 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 2 ครั้ง ความบกพร่องด้านเพศสัมพันธ์ หมายถึง ปัญหาการตอบสนองทางเพศที่ส่งผลให้บุคคลไม่ได้รับความพึงพอใจและความเพลิดเพลินในกิจกรรมทางเพศ เช่น ความรู้สึกต้องการทางเพศสัมพันธ์ลดลง หย่อนสมรรถภาพทางเพศ ไม่สามารถบรรลุจุดสุดยอด

           สารสกัดจากใบแปะก๊วยมีฤทธิ์เพิ่มระดับไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) ในเลือด ทำให้หลอดเลือดขยายจึงทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น รวมถึงการไหลเวียนโลหิตไปที่บริเวณองคชาตมากขึ้น นอกจากนี้มีการศึกษาการใช้สารสกัดจากใบแปะก๊วยในการลดความบกพร่องด้านเพศสัมพันธ์จากการใช้ยากลุ่ม SSRI ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มยาต้านเศร้า พบว่าผู้หญิงมีอาการดีขึ้นร้อยละ 91 และผู้ชายร้อยละ 76 หลังจากรับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วย

5. ต้อหินแบบความดันตาปกติ (Normal Tension Glaucoma)

          ขนาดรับประทาน: สารสกัดจากใบแปะก๊วย 40 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์

          จากการศึกษาพบว่าสารสกัดจากใบแปะก๊วยมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สามารถป้องกันความเสื่อมของเซลล์ประสาท (Neuroprotective effects) เพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปที่ดวงตาจากการขยายหลอดเลือดและลดความหนืดของเลือด ซึ่งฤทธิ์เหล่านี้มีประสิทธิภาพในการรักษาสาเหตุของการเกิดโรคต้อหินได้

  • ผลข้างเคียงจากการใช้สมุนไพร (ไม่มีระบุความถี่ในการเกิดผลข้างเคียง)

1. ระบบผิวหนัง: อาการแพ้ทางผิวหนัง  ผื่นระคายเคืองเมื่อใช้รูปแบบทาภายนอก

2. ระบบทางเดินอาหาร: ท้องผูก ท้องเสีย คลื่นไส้และอาเจียน

3. ระบบประสาท: เวียนศีรษะ ปวดหัว อ่อนเพลีย ชัก และกระสับกระส่าย

4. ระบบอื่น ๆ: ใจสั่นและเลือดออกผิดปกติ

  • การเกิดอันตรกิริยาระหว่างยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากใบแปะก๊วย

1. ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) และยาต้านเกล็ดเลือด (Anti-platelet Drugs) เนื่องจากการทานร่วมกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากใบแปะก๊วยจะเสริมฤทธิ์ของยาในการต้านการแข็งตัวของเลือด จึงทำให้เกิดเลือดออกผิดปกติได้

2. ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น เซเลโคซิบ (Celecoxib), ไดโคลฟีแนค (Diclofenac), ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), มีลอกซิแคม (Meloxicam) เนื่องจากยากลุ่ม NSAIDs และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากใบแปะก๊วยมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด จึงส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกผิดปกติได้

3. ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด (Antidiabetes Drugs) เนื่องจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากใบแปะก๊วยลดประสิทธิภาพของยารักษาโรคเบาหวาน จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ ดังนั้นจึงควรติดตามค่าน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด

4. ยากันชัก (Anticonvulsants)  เนื่องจากการได้รับสารพิษจากแปะก๊วย (Ginkgotoxin) ปริมาณมากจากเมล็ดแป๊ะกวย แต่พบน้อยในใบแปะก๊วย สารดังกล่าวเป็นสาเหตุให้เกิดการชักได้ และสารสกัดจากใบแปะก๊วยลดประสิทธิภาพของยากันชักได้

5. ยาต้านเศร้า (Antidepressants) เช่น ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine), เซอร์ทราลีน (Sertraline), ริสเพอริโดน (Risperidone) เนื่องจากยาต้านเศร้าบางชนิดและสารสกัดจากใบแปะก๊วย มีผลข้างเคียง คือ ทำให้เกิดอาการชัก การทานร่วมกันจึงทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการชักได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ดื่มแอลกอฮอล์ มีประวัติชัก หรือมีภาวะที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เนื้องอกในสมอง การได้รับบาดเจ็บทางสมอง

6. อันตรกิริยากับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิด เช่น ถั่งเช่า, กระเทียม, ขิง, อบเชย และผลิตภัณฑ์ที่มีสาร Phytoestrogen จากพืชเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากมีฤทธิ์ในการต้านการแข็งตัวของเลือด จึงส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกผิดปกติได้

  • ข้อควรระวัง

1. หญิงตั้งครรภ์ ไม่ควรรับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วย เพราะอาจเป็นสาเหตุให้คลอดก่อนกำหนดหรือมีเลือดออกมากขณะคลอด

2. หญิงให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าปลอดภัยเมื่อให้นมบุตร ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วย

3. เด็ก การรับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วยอาจปลอดภัย หากใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ

4. ผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD) ไม่ควรรับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วย เนื่องจากทำให้เม็ดเลือดแดงแตกและโลหิตจางอย่างรุนแรง (Hemolytic anemia)

5. ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากการรับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วยอาจส่งผลให้เลือดแข็งตัวช้า และทำให้เกิดเลือดออกขณะผ่าตัดหรือหลังผ่าตัด ดังนั้นในผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดควรหยุดรับประทาน อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนเข้ารับการผ่าตัด

 

เรียบเรียงโดย

ภญ.ชุติภรณ์ คำบัว

เอกสารอ้างอิง
1. Ansley H. 12 Benefits of Ginkgo Biloba (Plus Side Effects & Dosage) [Internet]. 2018 [updated 2018; cited 2022 Oct 8]. Available from: https://www.healthline.com/nutrition/ginkgo-biloba-benefits

2. Ginkgo Biloba Drug Interactions [Internet]. 2022 [cited 2022 Oct 8]. Available from: https://www.drugs.com/drug-interactions/ginkgo,ginkgo-biloba-index.html

 3. Ginkgo Biloba (Herb/Suppl) [Internet]. 2022 [cited 2022 Oct 8]. Available from: https://reference.medscape.com/drug/eun-haeng-fossil-tree-ginkgo-biloba-344537#0

4. Ginkgo - Uses, Side Effects, And More [Internet]. 2022 [cited 2022 Oct 8]. Available from: https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-333/ginkgo

5. Kang JM, Lin S. Ginkgo biloba and its potential role in glaucoma. Current opinion in ophthalmology, 2018; 29.2: 116-120.

6. Mayo Clinic Staff. Ginkgo [Internet]. 2020 [updated 2020; cited 2022 Oct 8]. Available from: https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements-ginkgo/art-20362032

7. Ozgoli G, Selselei EA, Mojab F, Majd HA. A randomized, placebo-controlled trial of Ginkgo biloba L. in treatment of premenstrual syndrome. J Altern Complement Med. 2009 Aug;15(8):845-51.

8. Sharma S, Kumar S. Sexual dysfunctions and sexual disorders issues and management. International Journal of Multidisciplinary and Current Research. 2016;4(4):641-5.

9. Sokolova L, Hoerr R, Mishchenko T. Treatment of Vertigo: A Randomized, Double-Blind Trial Comparing Efficacy and Safety of Ginkgo biloba Extract EGb 761 and Betahistine. Int J Otolaryngol. 2014;2014:682439.

10. Zhang HF, Huang LB, Zhong YB, et al. An Overview of Systematic Reviews of Ginkgo biloba Extracts for Mild Cognitive Impairment and Dementia. Front Aging Neurosci. 2016 Dec 6;8:276.

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.