หน้าหลัก > รายการ > Grape Seed กับการรักษาฝ้า
Grape Seed กับการรักษาฝ้า
Grape Seed กับการรักษาฝ้า
17 Feb, 2023 / By salacrm01
Images/Blog/PvEa7lo1-gg1.png

Grape Seed กับการรักษาฝ้า

          ฝ้าและกระ เป็นปัญหาผิวที่พบได้บ่อย แม้จะเป็นปัญหาที่ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่ส่งผลต่อความมั่นใจ รวมไปถึงการเข้าสังคม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลาย ๆ ท่านพยายามที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การใช้ยารับประทาน ยาทาเฉพาะที่ หรือการใช้อาหารเสริม โดยอาหารเสริมที่ได้รับความนิยมในการนำมารักษาฝ้าที่หลาย ๆ ท่านอาจเคยได้ยินมาก่อน คือ สารสกัดจากเมล็ดองุ่น (Grape seed) แต่ก่อนที่เราจะทราบกันว่าสารสกัดดังกล่าวรักษาฝ้าได้จริงหรือไม่ เราควรทำความเข้าใจกับสาเหตุและกลไกการเกิดฝ้าเสียก่อน

        ฝ้าเกิดจากกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานิน (Melanin) ถือเป็นกลไกอัตโนมัติของร่างกายที่เกิดขึ้นเพื่อปกป้องเซลล์ผิวหนังจากการถูกทำลายด้วยรังสียูวี (Ultraviolet light, UV) จากแสงแดดทำให้ผิวมีสีเข้มขึ้น และเนื่องจากผิวหนังบนร่างกายไม่ได้เรียบเสมอกันทั้งหมด ทำให้ผิวแต่ละส่วนสัมผัสกับแสงแดดแตกต่างกันออกไป บริเวณที่สัมผัสแสงแดดมากกว่าจะเกิดการกระตุ้นให้สร้างเม็ดสีมากกว่า ส่งผลให้เกิดจุดด่างดำ รอยหมองคล้ำ รวมไปถึงฝ้าและกระตามบริเวณต่าง ๆ บนใบหน้าได้

       ทั้งนี้นอกจากรังสียูวีที่เป็นปัจจัยหลักแล้ว ปัจจุบันยังพบว่าความบกพร่องของผิวที่เกิดขึ้นนี้ยังมีปัจจัยภายในและภายนอกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น

  • พันธุกรรม โดยทั่วไปแล้วจะขึ้นอยู่กับเชื้อชาติและสีผิว โดยคนยุโรปมักมีโอกาสเป็นฝ้าค่อนข้างน้อย ส่วนคนผิวคล้ำอย่างชนชาติอินเดีย และนิโกร ไม่ค่อยพบปัญหาฝ้าและกระเนื่องจากมีผิวคล้ำโดยธรรมชาติ กลไกการปกป้องของผิวจึงมีมากกว่า
  • ฮอร์โมน ส่วนใหญ่มักเป็นในช่วงวัยกลางคน เมื่ออายุมากขึ้นจะมีโอกาสเป็นฝ้าและกระมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนเพศหญิง ฮอร์โมนไทรอยด์ เป็นต้น
  • การใช้เครื่องสำอางบางประเภท ซึ่งมีสารบางชนิดที่ส่งผลให้ผิวดำคล้ำขึ้นเมื่อถูกแสง

          อย่างไรก็ตามรังสียูวีจากแสงแดด ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เกิดฝ้า โดยกลไกการสร้างเม็ดสี เริ่มจากอนุมูลอิสระที่เกิดจากรังสียูวี กระตุ้นให้เซลล์เคราติโนไซท์ (Keratinocyte) ซึ่งเป็นเซลล์ในชั้นผิวหนังกำพร้า ส่งสัญญาณไปที่เซลล์เมลาโนไซท์ (Melanocyte) ซึ่งเป็นเซลล์ที่ผลิตเม็ดสีเมลานิน ให้ผลิตเม็ดสีมายังชั้นผิวหนัง ทำให้ผิวหนังบริเวณที่ถูกกระตุ้นด้วยรังสียูวี มีสีเข้มขึ้นจนเกิดเป็นฝ้า โดยกระบวนการสร้างเม็ดสีดังกล่าวมีเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) เป็นเอนไซม์เร่งปฏิกิริยาสำคัญ ดังนั้นการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส จึงสามารถช่วยยับยั้งการเกิดฝ้าได้ 

    
 

รูปที่ 1 แสดงกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานิน 

 

          สารสกัดจากเมล็ดองุ่น มีสารสำคัญที่จัดอยู่ในกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์ คือ สารประกอบเชิงซ้อนโอลิโกเมอริก โปรแอนโธไซยานิดินส์ (Oligomeric Proanthocyanidin Complexes; OPCs) เป็นสารที่พบในเมล็ด ดอกและเปลือกของผักผลไม้เปลือกแข็ง ถูกค้นพบโดย ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ แจ๊ค มาสเควอริเย (Dr. Jack Masquelier) ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้ค้นคว้าและคิดค้นการสกัดสาร OPCs โดยสารดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูงในการต้านอนุมูลอิสระ และสามารถออกฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญในการผลิตเม็ดสีเมลานินได้อีกด้วย ด้วยคุณสมบัตินี้เองที่ทำให้สารสกัดเมล็ดองุ่นถูกนำมาใช้ในการรักษาฝ้า ซึ่งปริมาณเริ่มต้นของ OPCs ที่ใช้ในการรักษาฝ้าอย่างมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 75 มิลลิกรัมต่อวัน โดยรับประทานต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ 

   

รูปที่ 2 แสดงโครงสร้างเคมีของ OPCs 

          จากการศึกษาของ Yamakoshi ได้ติดตามหญิงที่มีปัญหาเรื่องฝ้าจากแสงแดดในประเทศญี่ปุ่น จำนวน 12 คน ที่ได้รับ OPCs สกัดจากเมล็ดองุ่น ปริมาณ 54 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน พบว่า OPCs ทำให้ภาวะของฝ้าดีขึ้น ทั้งความเข้ม และขนาดของฝ้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 

          จากการศึกษาของ Sonia ได้ศึกษาประสิทธิภาพในการรักษาฝ้าของสารสกัดเปลือกสน ร่วมกับสารสกัดเมล็ดองุ่น โดยเป็นการศึกษาในหญิงที่มีปัญหาฝ้าจากแสงแดดระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง จำนวน 30 คน ในประเทศสเปน เป็นเวลา 84 สัปดาห์ พบว่าการให้สารสกัดจากเมล็ดเปลือกสน ร่วมกับสารสกัดเมล็ดองุ่น ทำให้ภาวะของฝ้าดีขึ้นทั้งขนาดความกว้างของฝ้าและความเข้มของเม็ดสี 

          โดยอาการไม่พึงประสงค์จากการรับประทานสารสกัดเมล็ดองุ่นเป็นระยะเวลานาน ยังไม่มีรายงานถึงอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้จะเป็นอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย 

          อย่างไรก็ตาม แม้สารสกัดจากเมล็ดองุ่นจะมีงานวิจัยรองรับว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาฝ้าที่เกิดจากแสงแดด แต่การป้องกันไม่ให้ฝ้าเกิดขึ้นใหม่หรือป้องกันไม่ให้อาการของฝ้ารุนแรงขึ้นด้วยการทาครีมกันแดดรวมถึงการหลบเลี่ยงแสงแดดยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาฝ้า

 

เรียบเรียงโดย

ภก.สรวิชญ์ เฟื่องสวัสดิ์

อ้างอิง

1.Interpharma group. หลบฝ้า - กระ อย่างเข้าใจ ต้องรู้จักกลไกการเกิด [internet]. [Cited 2022 Sep 10]. Available from: https://www.interpharma.co.th/articles/synbiotics-prebiotics-probiotics.

2.Piyavatin P, et al. Synbiotics supplement is effective for Melasma improvement. Journal of Cosmetic Dermatology. 2021

3.Lee A. Recent progress in melasma pathogenesis. Pigment cell and melanoma research. Volume 28; 2015; pages 648-660.

4.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ. บทที่ 65 รายละเอียดข้อมูลยาทางชีวภาพ สารสกัดจากเมล็ดองุ่น (Grape seed). โครงการเพิ่มศักยภาพฐานข้อมูลอุตสาหกรรมยาทางชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ.

5.Yamakoshi J, Sano A, Tokutake S, Saito M, et al. Oral intake of proanthocyanidin – rich extract from grape seeds improves chloasma. Phytotherapy Research. Volume 11; 2004; pages 895-899.

6.Aledren S, Garre A, Valderas P, et al. Efficacy and Safety of an Oral Nutritional (Dietary) Supplement Containing Pinus pinasterBark Extract and Grape Seed Extract in Combination with a High SPF Sunscreen in the Treatment of Mild-to-Moderate Melasma: A Prospective Clinical Study. Cosmetics. 2019.

7.Berry A, Nakshabendi R, Abidali H, et al. Adverse effects of grape seed extract supplement: A clinical case and long-term follow-up. Juournal of dietary supplements. Volume 13; 2016.

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.