หน้าหลัก > ศาลา มีสาระ > PM 2.5 อันตรายมากมายกว่าที่คิด
PM 2.5 อันตรายมากมายกว่าที่คิด
PM 2.5 อันตรายมากมายกว่าที่คิด
29 Jul, 2021 / By salacrm01
Images/Blog/2h9AQqzK-Untitled-1.jpg

PM 2.5 อันตรายมากกว่าที่คิด

ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร

       คำว่า PM ย่อมาจาก Particulate Matters เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ส่วนตัวเลข 2.5 นั้นมาจากหน่วย 2.5 ไมโครเมตรหรือไมครอน PM 2.5 จึงหมายถึง ฝุ่นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ทั้งจากยานพาหนะ การเผาวัสดุการเกษตร ไฟป่า และกระบวนการอุตสาหกรรม

      มีการเฝ้าระวังติดตามมลพิษทางอากาศโดยวัดเป็นค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) เพื่อได้รับทราบถึงสถานการณ์มลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่ว่าอยู่ในระดับใด มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยหรือไม่ ดัชนีคุณภาพอากาศ 1 ค่า ใช้เป็นตัวแทนค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ก๊าซโอโซน (O3) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป ซึ่งแต่ละระดับจะใช้สีเป็นสัญญลักษณ์เปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย (ตารางที่ 1) โดยดัชนีคุณภาพอากาศ 100 จะมีค่าเทียบเท่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป หากดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงเกินกว่า 100 แสดงว่าค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศมีค่าเกินมาตรฐานและคุณภาพอากาศในวันนั้นจะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน

 

   

     PM 2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กมาก สามารถฟุ้งกระจายเป็นบริเวณกว้างและล่องลอยอยู่ในอากาศได้นาน แต่ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างรวดเร็วหรือมีกลิ่นชัดเจน ดังนั้นจึงต้องระวังเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อฝุ่น PM 2.5 ถูกหายใจเข้าสู่ร่างกาย จะสามารถตกค้างอยู่ได้ในปอดและถุงลม รวมถึงสามารถผ่านเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตได้จึงมีผลทำให้เกิดโรคและความผิดปกติของร่างกายได้หลายระบบ

  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ : เมื่อ PM 2.5 เข้าสู่ปอดไปจนถึงถุงลมเล็กๆภายในปอด PM 2.5 จะทำให้เซลล์ถุงลมเกิดการระคายเคืองและเกิดการอักเสบ เมื่อปอดได้รับ PM 2.5 เข้ามาทุกวัน กระบวนการอักเสบจะยิ่งรุนแรงขึ้นจนทำให้ระบบทางเดินหายใจเกิดการอักเสบเรื้อรังและเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อในปอด นอกจากนี้ยังเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ป่วยโรคหืดและโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) เกิดอาการกำเริบของโรคได้
  • ผลต่อระบบไหลเวียนเลือด : PM 2.5 เข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตผ่านถุงลม มีการศึกษาพบว่า เมื่อ PM 2.5 เข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต สามารถกระตุ้นให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเกิดการอักเสบทำให้การส่งสัญญาณไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ นอกจากนี้ยังทำให้หลอดเลือดมีการคลายตัวผิดปกติมีผลให้แรงดันในหลอดเลือดเพิ่มขึ้นหรือมีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติไป  ซึ่งนำไปสู่โรคความดันโลหิดสูงและโรคหลอดเลือดแข็ง (atherosclerosis) ได้ในที่สุด
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ (ฮอร์โมน) : มีการศึกษาพบว่าการสัมผัสกับ PM 2.5 เป็นเวลานานมีความสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานหรือทำให้การควบคุมน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานแย่ลง คาดว่าเกิดจาก PM 2.5 ทำให้ร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินซุลิน (insulin resistance) เกิดการอักเสบเนื้อเยื่อไขมัน (visceral adipose inflammation) ไมโตคอนเดรียของเซลล์ไขมันทำงานผิดปกติ และเพิ่มความเครียดต่อเซลล์ตับและตับอ่อน
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน : ระบบภูมิคุ้มกันพยายามต่อสู้กับ PM 2.5 ซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมโดยการสร้างสารต่างๆมาเพื่อทำลาย แต่สารที่ร่างกายสร้างมาไม่เพียงแต่ทำลาย PM 2.5 เท่านั้น ยังส่งผลต่อเซลล์ปกติของร่างกายได้ด้วย ทำให้เกิดการอักเสบเกิดขึ้นได้ในหลายอวัยวะ เช่น ตับ ตับอ่อน หัวใจ ไต สมอง เป็นต้น นอกจากนี้ในผู้ป่วยจมูกอักเสบภูมิแพ้และโรคหืดจะมีอาการของโรคกำเริบรุนแรงได้แม้สัมผัสกับ PM 2.5 ในระดับต่ำแต่สัมผัสต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  • ผลต่อพันธุกรรม การกลายพันธุ์และการเป็นพิษต่อยีนต์ : หลายการศึกษาพบว่าฝุ่น PM 2.5 มีฤทธิ์กระตุ้นการกลายพันธุ์ (mutagenicity) ได้ทั้งทั้งยีนต์ของมนุษย์และสัตว์หลายชนิด The International Agency for Research on Cancer (IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ฝุ่น PM 2.5 เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1 (group I carcinogen) เนื่องจากพบความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างการสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 และอุบัติการณ์ของมะเร็งปอด
  • ผลต่อทารกในครรภ์ : PM 2.5 สามารถผ่านรกไปยังทารกในครรภ์ได้ มีผลให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการผิดปกติ มีความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ และมีความเสี่ยงเสียชีวิตเมื่อแรกคลอด

 

      แนวทางป้องกันฝุ่น PM 2.5

   ในสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าฝุ่น PM 2.5 มีที่มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงยานพาหนะ การประกอบอาหาร ไฟป่า การเผาหน้าดินและวัสดุการเกษตร และ การเผาไหม้หรือใช้ความร้อนในอุตสาหกรรมต่างๆ จึงจัดเป็นฝุ่น PM 2.5 ที่มาจากภายนอกอาคาร (outdoor PM 2.5) สามารถลดการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ได้ดังนี้

  1. จำกัดหรือลดกิจกรรมกลางแจ้งโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น พื้นที่ใกล้กับสถานที่ประกอบอาหารและ พื้นที่ใกล้อุตสาหกรรมต่างๆ
  2. ในกรณีที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ควรใช้อุปกรณ์ป้องกันเช่นหน้ากากชนิดที่สามารถป้องกันอนุภาคขนาดตั้งแต่ 0.3 ไมโครเมตรขึ้นไปได้อย่างน้อยร้อยละ 95 (หน้ากากชนิด N95) ใส่ป้องกันตลอดช่วงที่อยู่ในพื้นที่ที่คาดได้ว่ามี PM 2.5 และมลพิษอื่นๆหนาแน่น

 

      สำหรับหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าที่มีจำหน่ายทั่วไปถูกออกแบบให้ป้องกันการส่งผ่านสารคัดหลั่งหรืออนุภาคขนาดใหญ่ เช่น ละอองน้ำมูก น้ำลายขณะไอจาม หรือ เลือดและสารคัดหลั่ง ดังนั้นหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้า จึงไม่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กระดับฝุ่น PM 2.5 ได้

  1. ปิดประตู หน้าต่าง และ ช่องลมต่างๆให้สนิทอยู่เสมอ เปิดประตู หน้าต่าง เฉพาะที่จำเป็นต้องใช้งานเท่านั้น
  2. สำรวจผนังอาคารและช่องเปิดต่างๆหากพบว่ามีความชำรุดไม่สามารถปิดให้สนิทได้ควรเร่งซ่อมแซมโดยด่วนเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นจากภายนอกอาคารเข้าสู่ภายในอาคารได้
  3. ติดตั้งระบบเครื่องปรับอากาศหรือระบบกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพเช่น HEPA filter หมั่นตรวจสอบและทำความสะอาดส่วนกรองอย่างสม่ำเสมอ
  4. สำหรับฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นภายในอาคาร (indoor PM 2.5) สามารถป้องกันได้ โดยหลีกเลี่ยงการประกอบอาหารและงดสูบบุหรี่ภายในอาคาร นอกจากนั้นอุปกรณ์เครื่องใช้บางชนิดในอาคารอาจเป็นแหล่งของฝุ่น PM 2.5 ได้เช่นกัน เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องรับส่งแฟกซ์ เครื่องเคลือบด้วยความร้อน สเปรย์กระป๋องบรรจุสารเคมีต่าง ๆ ดังนั้นจึงควรติดตั้งอุปกรณ์เครื่องใช้เหล่านี้ไว้ในที่ซึ่งสามารถระบายอากาศได้สะดวก ติดตั้งพัดลมดูดอากาศหรือระบบกรองอากาศ และ ใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่นสวมหน้ากาก N95 ทุกครั้งที่มีการเปิดใช้อุปกรณ์

 

จัดทำโดย

ภญ.ธัญมน ศรีจันทร์

อ้างอิง

1.การจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ. ข้อมูลดัชนีสภาพอากาศ. 2564 [cited 12 Feb 2021]. Available from: http://air4thai.pcd.go.th/webV2/aqi_info.php

2.สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. รู้จักฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่มากับมลภาวะ และวิธีการเลือกหน้ากากป้องกัน. 2562 [cited 12 Feb 2021]. Available from: http://www.mnre.go.th/om/th/news/detail/31459

3.กิตติยศ ยศสมบัติ. บทบาทของเภสัชกรชุมชนต่อสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 (บทความทบทวนวิชาการ). 2562 [cited 12 Feb 2021]. Available from: https://www.researchgate.net/publication/330221703_bthbathkhxngphesachkrchumchntxsthankarnfun_PM_25_bthkhwamthbthwnwichakar

 

เพิ่มเพื่อน

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.