การดูแลตนเองจากแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
05 Mar, 2023 / By
salacrm01
การดูแลตนเองจากแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
หลาย ๆ ท่านคงเคยประสบอุบัติเหตุจากไฟไหม้น้ำร้อนลวกกันบ่อยครั้ง การทราบวิธีประเมินความรุนแรงของบาดแผล วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการดูแลรักษาแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกท่านควรทราบ
แผลไฟไหม้
คือ แผลประเภทหนึ่งที่ผิวหนังถูกเผาไหม้หรือเนื้อเยื่อเปลี่ยนแปลงไป เพราะร่างกายสัมผัสกับความร้อนสารเคมี กระแสไฟฟ้า หรือรังสีมากเกินไป การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นอาจมีเพียงเล็กน้อยจนถึงรุนแรงที่ทำอันตรายต่อผิวหนัง บางครั้งทำลายเนื้อเยื่อชั้นลึกใต้ผิวหนังถึงกล้ามเนื้อ
การประเมินความรุนแรงตามความลึกของบาดแผล (Degree of burn wound)

ภาพที่ 1 ระดับความรุนแรงของแผลไฟไหม้
ที่มา: https://burnsurvivor.com/burn_types_third/
1. แผลไหม้ระดับแรก (First degree burn) มีการทำลายเฉพาะชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ผิวหนังบริเวณนั้นจะมีสีชมพูหรือสีแดง มีความนุ่ม ไม่มีตุ่มพอง (Blister) มีอาการปวดแสบ แผลสามารถหายได้เองภายใน 7 วัน มักไม่ทำให้เกิดรอยแผลเป็น เช่น แผลไหม้จากแสงแดด แผลไหม้จากการถูกไอน้ำ หรือถูกความร้อนเป็นระยะเวลาไม่นาน เป็นต้น
2. แผลไหม้ระดับที่สอง (Second degree burn)
2.1 แผลไหม้ระดับที่สองชนิดตื้น (Superficial partial thickness) มีการทำลายชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ทั้งหมดและบางส่วนของหนังแท้ (Dermis) ผิวบริเวณนั้นจะมีสีแดง มีตุ่มพอง ปวดแสบมาก เพราะมีเส้นประสาทรับความรู้สึกอยู่ในชั้นหนังแท้ แผลสามารถหายได้เองประมาณ 7-14 วัน อาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นได้ เช่น แผลน้ำร้อนลวก แผลสัมผัสเตารีด เป็นต้น
2.2 แผลไหม้ระดับที่สองชนิดลึก (Deep partial thickness) มีการทำลายชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ทั้งหมดและชั้นหนังแท้ส่วนลึก (Dermis) ผิวหนังบริเวณนั้นจะเป็นสีขาว เหลือง ซีด ไม่ค่อยพบตุ่มพองหรือพบรอยตุ่มพองที่แฟบ อาการปวดแสบเพียงเล็กน้อย ระยะเวลาการหายของแผลใช้เวลามากกว่า 14-28 วัน และทำให้เกิดรอยแผลเป็น
3. แผลไหม้ระดับที่สาม (Third degree burn) มีการทำลายหนังกำพร้า (Epidermis) และหนังแท้ (Dermis) แผลอาจลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือกระดูก แผลบริเวณนั้นจะมีสีขาว ซีด เหลือง ดำ หนาแข็ง ไม่มีอาการเจ็บปวด เนื่องจากเส้นประสาทที่ผิวหนังถูกทำลายไปทั้งหมด จัดเป็นแผลไหม้ชนิดรุนแรงต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล
แผลไหม้ชนิดรุนแรงน้อยที่สามารถดูแลตนเองที่บ้านได้ อาจพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ร่วมกัน ได้แก่
- แผลไหม้ระดับแรก
- แผลไหม้ระดับที่สองชนิดตื้นที่มีขนาดแผลไม่กว้างมาก
- แผลไม่ได้อยู่บริเวณอวัยวะสำคัญ ได้แก่ รอยต่อ/จุดเชื่อมต่อที่สำคัญ ใบหน้า หู มือ หรือเท้า
- ไม่ได้เป็นเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ หรือมีโรคประจำตัวที่อาจส่งผลให้อาการของผู้ป่วยรุนแรงมากกว่า คนทั่วไป เช่น โรคเบาหวาน โรคปอด เป็นต้น
- ไม่มีอาการบาดเจ็บอย่างอื่นร่วม เช่น กระดูกหัก ข้อเคลื่อน หรือมีการสูดควันเข้าไปจำนวนมาก
แนวทางการรักษาแผลไหม้ชนิดรุนแรงน้อย
1. การล้างทำความสะอาดแผล
หลังจากโดนความร้อนสิ่งแรกที่ควรทำคือ การล้างแผลด้วยน้ำไหลอุณหภูมิปกติ เพื่อให้อุณหภูมิผิวหนังบริเวณนั้นเย็นลง โดยห้ามล้างด้วยน้ำปลาหรือยาสีฟันเด็ดขาด เนื่องจากอาจทำให้เกิดการระคายเคืองแผลและเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรีย หลังจากประเมินแล้วว่าเป็นแผลชนิดรุนแรงน้อย ให้ทำการล้างแผล ดังนี้
1.1 ใช้น้ำเกลือ (Normal saline) ล้างทำความสะอาดแผลไหม้โดยตรง
1.2 ใช้แอลกอฮอล์เช็ดรอบ ๆ บริเวณแผล ไม่เช็ดโดนแผล เนื่องจากแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำลายเนื้อเยื่อ
1.3 ทายาสำหรับแผลไหม้ชนิดรุนแรงน้อย และเลือกวัสดุปิดแผลให้เหมาะสมกับแผล
1.4 ความถี่ในการล้างแผลขึ้นอยู่กับลักษณะแผล ปริมาณสารคัดหลั่ง และวัสดุที่เลือกใช้ปิดแผล
2. การเลือกยาทาหรือวัสดุปิดแผลไหม้
การเลือกผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดต้องเหมาะสมกับลักษณะของแผลไหม้สร้างสภาวะที่เหมาะกับ
การหายของแผล ทำให้แผลไหม้มีความชื้นพอเหมาะและป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
ว่านหางจระเข้: มีคุณสมบัติกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน มีผลช่วยการหายของแผล และลดการอักเสบแต่ไม่มีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรีย เหมาะกับแผลไหม้ระดับแรกหรือระดับที่สองชนิดตื้นที่ขนาดแผลไม่ใหญ่มากและมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อน้อย
Moist expose burn ointment (MEBO): ประกอบด้วย Beta- sitosterol และน้ำมัน Berberine จากธรรมชาติ ซึ่งมี ฤทธิ์ช่วยกระตุ้นกระบวนการหายของแผล เหมาะกับแผลไหม้ระดับแรก แผลไหม้ที่ใกล้หาย รวมถึงแผลไหม้บนใบหน้า
ยาทาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย: ใช้ในกรณีแผลมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น Silver sulfadiazine, Mupirocin, Fusidic acid, Chloramphenical เป็นต้น ซึ่งสามารถปรึกษาเภสัชกรเพื่อการคัดเลือกยาให้ครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียและเหมาะสมกับบริเวณที่ทายา
ตัวอย่างวัสดุปิดแผลชนิดพิเศษสำหรับแผลไหม้ชนิดรุนแรงน้อย
การเลือกใช้วัสดุปิดแผลชนิดพิเศษจะช่วยลดระยะเวลาการหายของแผล ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน แต่มีราคาค่อนข้างสูงและต้องใช้ความเชี่ยวชาญในการเลือกวัสดุปิดแผลให้เหมาะกับลักษณะของแผลไหม้ เช่น

|

|

|
Tulles
|
Hydrogel
|
Hydrocolloid
|
ที่มา: https://www.firstaidcanada.com/
product/bactigras-tulle-gras-dressing/
|
ที่มา: https://www.bcosmo.com/
shop/intrasite-gel-smithnephew-25g/
|
ที่มา: https://www.ruangwitmedical.com/product/32925-30904/duoderm-extra-thin-4x4-%E0%B8%99
%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%A7-10x10cm
|

|

|
|
Hydrofiber
|
Alginate
|
|
ที่มา: https://www.lazada.co.th/
products/aquacel-ag-extra-5x5cm-1-i2254729535.html
|
ที่มา: https://www.casasalud.cl/
product/urgosorb-silver-mecha-2-5-x-30-cm
|
|
3. การจัดการอาการปวด
หากมีอาการปวดสามารถปรึกษาเภสัชกรในการเลือกใช้ยากลุ่มบรรเทาอาการปวด ลดการอักเสบ (Non-steroidal antiinflammatory drugs; NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน (Naproxen) เซเลโคซิบ (Celecoxib) เป็นต้น หรือใช้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อบรรเทาปวดได้

เรียบเรียงโดย
ภญ.อนงค์วรรณ บุญถึง
เอกสารอ้างอิง
1. ฉลวย เหลือบรรจง และเนตรนภิศ จินดากร. แนวทางการดูแลผู้ป่วยที่มีแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก Guideline on Caring for Patients with Burns and Scalds. วารสารการพยาบาลและการศึกษา. 2560;10(3):14-22.
2. พิมพ์วรีย์ วรรณศิริ และสิรินุช พละภิญโญ. การรักษาผู้ป่วยแผลไหม้ชนิดรุนแรงน้อย (minor burns) ในร้านยา. วารสารสมาคมเภสัชกรรมชุมชน. 2562;18(106):53-60.
3. พรพรหม เมืองแมน. การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=832 [8 ตุลาคม 2565]
